สำหรับโครงการ "การประชุมวิชาการด้านการบินระดับชาติ ครั้งที่ 1" (The 1stAviation National Symposium) ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงคมนาคม และเป็นความร่วมมือระหว่าง สบพ. กับมหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ นักศึกษา และนักวิชาการ ที่มีผลงานวิชาการด้านนวัตกรรมการบิน ได้นำเสนอเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรม การบินให้มีคุณภาพ และเป็นเวทีทางการศึกษาเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องทางด้านการบินเพื่อก้าวสู่การพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมการบินระหว่างประเทศ อีกทั้งยังสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินให้ได้ตามมาตรฐานสากล และเป็นศูนย์กลางผลิตบุคลากรด้านการบินในภูมิภาคอาเซียน และนโยบายที่เร่งผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาประเทศที่เรียกว่า "ประเทศไทย 4.0" โดยการจัดโครงการในครั้งนี้ ยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ ระหว่างสถาบันการศึกษา สายการบิน และหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมบริการและการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างเครือข่ายวิชาการ และสามารถนำองค์ความรู้ของนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม การบินมาบูรณาการ เพื่อพัฒนาให้อุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยมีความเจริญก้าวหน้า สามารถขับเคลื่อนให้ประเทศไทยสู่การเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมการบินที่ดีที่สุดในภูมิภาค ภายในงานประกอบไปด้วยกิจกรรม การบรรยายพิเศษในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน อาทิ "ประเทศไทยทำไมต้องมีศูนย์ Safety ด้านการบิน" "Innovation for Humanity" "ทิศทางน้ำมันกับเทคโนโลยีอากาศยานในอนาคต" "Smart Cities with Amadeus" "การทดสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทางการบินและการสอบเทียบ" และ "The next generation simulator of flight and ATC"
อีกทั้งยังมี การนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิจัย นักวิชาการ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ผลงานวิจัย ด้านเทคโนโลยีการบิน ผลงานวิจัยด้าน Safety and Security และผลงานวิจัยด้านการบริหารจัดการ สำหรับผู้วิจัยที่นำเสนอผลงานวิจัยที่โดดเด่นและสามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในงานอุตสาหกรรมการบิน ได้อย่างแท้จริง โดยมีการมอบรางวัล "The Best Research" ให้กับผลงานวิจัยจำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องรูปแบบและกฎหมายการปฏิบัติการสำหรับภารกิจบริการการแพทย์ฉุกเฉินด้วยเฮลิคอปเตอร์สาธารณะ ขั้นปฐมภูมิในประเทศไทย ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ คุณยุทธชาติ ชัยก้องเกียรติ, ดร.คงศักดิ์ ชมชุม และ ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร และ เรื่องการเปรียบเทียบการรับรู้ระหว่างผู้ทำงานในธุรกิจการบินและผู้สอน ในภาคการศึกษาเกี่ยวกับทักษะและความสามารถทางสังคมที่จำเป็นต่อความก้าวหน้าในอาชีพของพนักงานบริการผู้โดยสารภาคพื้น ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของ คุณสุภนาถ วัฒนากมลชัย และ ผศ.ดร.ปรารถนา ปุณณกิติเกษม นอกจากนี้ ในงานยังมีกิจกรรมการตอบคำถามเพื่อชิงรางวัลจากสายการบินและคณะผู้จัดงานอีกด้วย