วันนี้ (11 มิ.ย.61) นางเพชรรัตน์ สินอวย รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีข้อสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งดำเนินการแก้ไขและป้องกันปัญหาการว่างงานในกลุ่มผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งจากผลการสำรวจข้อมูลตัวเลขของผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 – ปริญญาตรี ในปี พ.ศ. 2561 พบว่า มีผู้สำเร็จการศึกษาต้องการฝึกอาชีพ จำนวน 137,263 คน ต้องการประกอบอาชีพอิสระ จำนวน 115,781 คน ต้องการไปทำงานต่างประเทศ จำนวน 89,659 คน และผู้สำเร็จการศึกษามีความประสงค์จะรับงานไปทำที่บ้าน จำนวน 70,694 คน ปัจจุบันมีตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศที่นายจ้างต้องการตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 180,180 อัตรา ในจำนวนนี้ เป็นระดับปริญญาตรี จำนวน 22,345 อัตรา
นางเพชรรัตน์ฯ กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน ได้มีบริการแนะแนวอาชีพ แก่นักเรียนที่จะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้ทราบถึงลักษณะอาชีพที่อยู่ในความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเลือกสาขาที่เรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มีตลาดแรงงานรองรับ การส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ โดยให้บริการแนะแนวทางในการประกอบอาชีพแก่นักศึกษาจบใหม่ เพื่อให้ความรู้ด้านอาชีพ การจัดให้มีการฝึกและทดลองปฏิบัติงานจริง รวมถึงการส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน ตัวอย่างเช่น 1) ผู้รับงานไปทำที่บ้านในจังหวัดบุรีรัมย์ ทำการตัดเย็บโบว์ ติดหูกระเป๋า ให้แก่บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด 2) ผู้รับการไปทำที่บ้านในจังหวัดนนทบุรี ตัดเย็บชุดนักเรียน ให้แก่บริษัท น้อมจิต จำกัด 3) ผู้รับงานไปทำที่บ้านในจังหวัดกาญจนบุรี ผลิตกล้วยแปรรูป ให้แก่บริษัท สยาม บานานา จำกัด 4) ผู้รับงานไปทำที่บ้านในจังหวัดนครนายก เย็บผ้าทำความสะอาดเครื่องจักร ให้แก่บริษัท ยูเมค เทรดดิ้ง จำกัด 5) ผู้รับงานไปทำที่บ้านในจังหวัดมุกดาหาร ทำผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย ส่งร้านภูฟ้า เป็นต้น ซึ่งถือเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ชุมชน กระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางานยังมีกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ให้ผู้ที่สนใจสามารถกู้ไปซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์ในการผลิตได้ ทั้งแบบรายบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยตั้งแต่ปี 2558 - พฤษภาคม 2561 ได้ปล่อยกู้รายบุคคล 5 ราย 367 กลุ่ม นอกจากนี้ ยังมีการแนะแนวธุรกิจแฟรนไชส์ หรือผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ด้านการบริหารจัดการ การคิดต้นทุน การหาทำเลทำธุรกิจ เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพ หรือหากสนใจไปทำงานต่างประเทศ กรมการจัดหางานยังมีบริการจัดส่งไปทำงานต่างประเทศ ลักษณะรัฐต่อรัฐ (G to G) ได้แก่ ไต้หวัน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอิสราเอล ซึ่งในปี 2561 มีผู้ไปทำงานต่างประเทศ ผ่านกรมการจัดหางาน จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 61,899 คน
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ยังมีความพร้อมในด้านการบริการต่างๆ เพื่อรองรับการหางานในหลากหลายช่องทาง โดยผู้ที่มีความประสงค์จะหางานสามารถขอเข้ารับบริการผ่านศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center), สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 -10, สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ, รถบริการจัดหางานเคลื่อนที่ (Mobile Unit), เว็บไซต์ www.doe.go.th/Smartjob, แอพพลิเคชั่น Smart Job Center บน Smartphone และล่าสุดกับบริการหางานผ่าน Line Application (LINE JOBS) ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด และกระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางาน ที่กำลังจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้ ทุกบริการมีความสะดวกรวดเร็ว สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ตามข้อกำชับของ รมว.แรงงาน โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง