กรณีสถานการณ์และมาตรการการนำเข้า ส่งออก ขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติก
นายชัยยุทธ กล่าวว่า จากข้อมูลสถิติตามใบขนที่มีการขออนุญาตจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าสถิติการนำเข้าเศษพลาสติก พิกัด 3915 ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 145,764.98 ตัน และในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม พบว่า มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 212,051.72 ตัน ในส่วนของสถิติการนำเข้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ พิกัด 84 และ 85 พบว่า ในปี 2560 มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 64,436.71 ตัน และในปี 2561 ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนพฤษภาคม พบว่า มีปริมาณการนำเข้า จำนวน 52,221.46 ตัน
ทั้งนี้ จากสถิติการนำเข้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 -2560 พบว่าเริ่มมีการนำเข้าของเสียอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้อนุสัญญาบาเซลเพิ่มปริมาณมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2560 ประเทศจีนประกาศห้ามนำเข้าขยะซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2561 โดยมีสัดส่วนการนำเข้าและมีการจับกุมการกระทำความผิดปริมาณมากที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง (สทบ.) สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (สทก.) สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ (สกท.) และสำนักงานตรวจสินค้าลาดกระบัง (สสล.) ตามลำดับ ซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกรรม ต้องมีใบอนุญาตนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ด้านนายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา กรมศุลกากร กระทรวงการคลัง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร และนายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมคณะได้ประชุมหารือการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการนำเข้า-ส่งออก เศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
จัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Big Data)
เพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำมาวิเคราะห์บริหารความเสี่ยง (Risk Management)
(2) กรมศุลกากรจะนำระบบควบคุมทางศุลกากร โดยใช้ระบบเอกซ์เรย์ เข้ามาตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะทำงานร่วมกันโดยจะทำการเปิดตรวจตู้สินค้าดังกล่าว ซึ่งหากท่าหรือที่ที่มีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ในปริมาณมาก กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ ณ ท่าหรือที่ดังกล่าว (Contact Person/Contact Point) อาทิ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง เป็นต้น
(3) เมื่อพบการกระทำความผิดจะทำการผลักดันสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ออกไปและให้ผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด
(4) ทำการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สำหรับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว กรมศุลกากรจะทำการแจ้งไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปทำการตรวจสอบ ณ โรงงานต่อไป
(5) ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการอุดช่องโหว่ ในการนำเข้า นำส่ง นำผ่านไปยังปลายทาง และกำหนดมาตรการเพิ่มโทษในกรณีที่มีการกระทำความผิด
(6) กรณีบริษัททำกระทำความผิด ทางกรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกใบอนุญาตต่อไป
2. สถานการณ์และมาตรการการดำเนินการปราบปรามสินค้าเกษตรประเภทกระเทียม ตามที่ได้มีการกำหนดสินค้ากระเทียมเป็นสินค้าควบคุมในปี 2561 โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศควบคุมการขนย้ายกระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ปี 2561 ตั้งแต่ 400 กก. ขึ้นไปโดยทางบกหรือทางทะเลเข้าหรืออกจากจังหวัดที่กำหนด 52 จังหวัดต้องขออนุญาตขนย้าย และให้มีการแจ้งปริมาณ สถานที่เก็บและจัดทำบัญชีคุมสินค้ากระเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศในปี 2561 โดยคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาด กระเทียม หอมแดงหอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง มอบหมายให้กรมศุลกากรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันและให้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ และปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้ากระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ซึ่งกรมศุลกากรได้ดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้ากระเทียมอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลการจับกุมในปี 2561 (ถึงเดือนพฤษภาคม 2561) จำนวน 56 ราย น้ำหนัก 118,315 กิโลกรัม มูลค่า 4,151,218 บาท
3. กรณีมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อกรมศุลกากรขายสินค้า
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า ตามที่ในโลกออนไลน์ มีการโฆษณาขายสินค้าแบรนด์เนม และแอบอ้างด้วยการนำภาพของผู้บริหารกรมศุลกากร หรือภาพเหตุการณ์การจับกุม นำมาใช้เพื่อการโฆษณาสินค้าเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือนั้น กรมศุลกากรขอชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าว ไม่เป็นความจริง เป็นการแอบอ้างหลอกลวงโดยมิจฉาชีพทำให้เกิดความเสียต่อประชาชนและกรมศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป ทั้งนี้กรมศุลกากรขอยืนยันว่าการจำหน่ายสินค้าของกลางกรมศุลกากรโดยวิธีที่ถูกต้องจะเป็นการลงประกาศขายทอดตลาดอย่างเป็นทางการเพียงวิธีเดียวและจะรับชำระเงิน ณ ที่ทำการศุลกากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเท่านั้น หากมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจเกี่ยวกับการดำเนินการใดๆ ทางกรมศุลกากร สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Customs Call Center 1164 หรือทาง e-mail : [email protected]
นอกจากนี้ นายกรีชา กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมศุลกากรได้จัดทำโครงการ "พันธมิตรศุลกากร (Customs Alliances)".โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารระหว่างภาคเอกชนกับกรมศุลกากร ในการให้คำแนะนำติดต่อประสานงาน แก้ไขปัญหาและสร้างความชัดเจน ลดข้อโต้แย้งที่จะเกิดขึ้นในด้านต่างๆทั้งปัญหาเชิงนโยบายและปัญหาหน้างานปกติ อาทิ พิธีการศุลกากร พิกัดอัตราศุลกากร ราคา ถิ่นกำเนิด กฎหมายศุลกากร สิทธิประโยชน์ และปัญหาอื่นๆ โดยมอบหมายเจ้าหน้าที่ศุลกากรจากส่วนกลาง (Account Officer Center : AOC) ทำหน้าที่ติดต่อประสานกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านของแต่ละพื้นที่ (Account Officer Expert) เพื่อแก้ปัญหาและ ให้คำปรึกษาอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินพิธีการทางศุลกากร ซึ่งกรมศุลกากรได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี สำหรับปีงบประมาณ 2561 นี้ กรมศุลกากรจะยังคงดำเนินการโครงการพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้ได้เปิดรับสมาชิกใหม่ในระยะที่ 2 แล้ว ซึ่งจะปิดรับสมัคร ในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 และจะประกาศรายชื่อผู้ประกอบการที่ได้เป็นสมาชิกพันธมิตรศุลกากร ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 นี้ สำหรับผู้ที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกโครงการพันธมิตรศุลกากร สามารถสมัครด้วยตนเองที่ www.customs.go.th >> โครงการพันธมิตรศุลกากร >>สมัครสมาชิก