วิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นหนี่งในประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันในส่วนของประเทศไทยเองได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยได้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่พักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทยเมียนมาและผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยในเมือง โดยผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยในเมือง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติได้ระบุตัวเลขผู้ลี้ภัยในเมืองว่ามีประมาณ 8,000 คน ซึ่งเป็นเด็กถึง 2,809 คน จากกว่า 50 ชาติพันธุ์ โดยผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้มีความน่าเป็นห่วงมากที่สุด
เพราะจากการลงพื้นที่ขององค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children ) ในการทำงานวิจัยเรื่อง "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย" ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ระบุถึงข้อมูลและสถานการณ์ของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพ พบว่าเด็ก ๆ ต้องพบเจอปัญหาและอุปสรรคในการต้องใช้ชีวิตในสถานะผู้แสวงหาที่ลี้ภัยในหลากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการต้องถูกจับกุมคุมขังรวมกับผู้ใหญ่และถูกคุกคามทางเพศในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เด็กในวัยเล็ก ๆ ต้องถูกแยกจากครอบครัว ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย นอกจากนี้แล้วเด็ก ๆ เหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานและการศึกษา
และในส่วนของผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่หลบหนีภัยการสู้รบจากประเทศเมียนมาอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทยเมียนมาประมาณ 100,000 คน ซึ่งเป็นเด็กประมาณ 45,000 คน[i] ที่ถูกจัดให้พักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทยเมียนมาเป็นระยะเวลามากกว่า 30 ปี ซึ่งองค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children ) ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) จัดทำโครงการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ Basic Education Support towards Transition (BEST) ซึ่งเป็นการส่งเสริมมาตรการจัดการการศึกษาของประชากรผู้พลัดถิ่นในประเทศไทยผ่านการให้การศึกษาขึ้นพื้นฐานที่มีคุณภาพแก่เด็กในค่ายพักพิงชั่วคราวทั้งเก้าแห่งบริเวณชายแดนติดต่อกับเมียนมา และช่วยปูทางไปสู่ทางออกทางการศึกษาที่ยั่งยืนอีกด้วย
ทั้งนี้ในงานวิจัยเรื่อง "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย" ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเด็กผู้ลี้ภัยที่น่าสนใจอีกหลายเรื่องและยังมีชะตากรรมของเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยอีกหลากหลายกรณีที่ได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาต้องพบเจอเมื่อต้องลี้ภัยในงานวิจัยเล่มนี้ ดังนั้นในวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ที่จะถึงนี้ องค์การช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the Children ) จึงใคร่ขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานเปิดตัวงานวิจัย "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย" พร้อมทั้งร่วมรับฟังเวทีเสวนา "เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" เนื่องในสัปดาห์วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปีพ.ศ.2561 ที่มุมสามเหลี่ยมหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เวลา 13.00 น. – 16.00 น. เพื่อช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสมในการดูแลเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยร่วมกัน โดยการจัดงานในครั้งนี้สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปจะได้พบกับกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากอาทิ
ร่วมรับชม "โรงเรียนผู้ลี้ภัยจำลอง" โดยผู้เข้าร่วมงานจะได้สัมผัสบรรยากาศห้องเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยและการสาธิตการเรียนการสอนของโครงการส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน - Basic Education Support towards Transition (BEST) Project ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยที่องค์การช่วยเหลือเด็กได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป
ร่วมอุดหนุนและส่งเสริมวัฒนธรรมของผู้ลี้ภัยที่หลากหลายผ่านอาหาร, เสื้อผ้าประจำชาติพันธุ์และงานฝีมือต่าง ๆ ของชุมชนผู้ลี้ภัยต่าง ๆ ในประเทศไทยที่จะนำมาจำหน่ายในงานครั้งนี้
ร่วมรับชมนิทรรศการภาพถ่ายและภาพวาดของเด็กผู้ลี้ภัยที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตจริงในอดีต, ปัจจุบัน และความหวังของพวกเขา
ร่วมรับชมภาพยนตร์สั้น (ปลดล็อค ห้องกัก ตม.ไม่ใช่ที่อยู่ของเด็ก) ที่จะบอกเล่าถึงเส้นทางความยากลำบากและชะตากรรมที่เด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยต้องพบเจอขณะเดินทางเพื่อลี้ภัย เราได้แนบตัวอย่างภาพยนต์สั้นมาให้สือมวลชนได้รับชมก่อนสามารถคลิกรับชมตัวอย่างภาพยนต์สั้นได้ที่ลิงค์นี้ https://www.youtube.com/watch?v=jq3BqQ3euGY&feature=youtu.be
พบกับการเปิดตัวงานวิจัย "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย" และการเสวนาในหัวข้อ "เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" วิทยากรโดย
คุณรติรส ศุภาพร ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่น องค์การช่วยเหลือเด็ก ที่จะร่วมเปิดตัวงานงานวิจัย"อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย และบอกเล่าถึงสถานการณ์สภาพปัญหา รวมถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐไทยในการจัดการและดูแลเด็กผู้ลี้ภัย
คุณอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่จะร่วมบอกเล่าการลงพื้นที่เพื่อให้การช่วยเหลือเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัย และการนำเสนอทางออกให้กับรัฐในการดูแลเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนสากล
คุณปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ที่จะมาร่วมบอกเล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันรวมถึงตัวเลขสถิติล่าสุดของเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยและครอบครัวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
คุณกรแก้ว พิเมย ผู้อำนวยการโครงการ Urban Education Project (UEP) องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย หนึ่งในองค์กรที่ทำงานให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศไทยที่จะมาร่วมถอดบทเรียนของการดูแลและช่วยเหลือเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยภายในพื้นที่ พร้อมทั้งบอกเล่าถึงสภาพปัญหาที่เด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยในพื้นที่ต้องพบเจอกับความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและการเข้าถึงการศึกษา