นายแพทย์ดนัย กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน แต่ละปีพบผู้ป่วยหลายแสนราย คณะรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้ วันที่ 15 มิถุนายนทุกปี เป็นวันไข้เลือดออกอาเซียน เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศตระหนักในการป้องกันโรคและร่วมกันแก้ปัญหา ลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งสคร.10 อุบลฯ ได้เร่งควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด เน้นมาตรการทำลายยุงไม่ให้เป็นพาหะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยกำจัดลูกน้ำยุงตัวอ่อนและยุงตัวเต็มวัย
สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในขณะนี้ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา และ สสจ. เขตสุขภาพที่ 10 ณ 12 มิ.ย. 2561 ระดับประเทศ พบ อัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก 17,302 ราย เสียชีวิต 21 ราย เขตสุขภาพที่ 10 พบจำนวนผู้ป่วย 987 ราย โดย จ.อุบลราชธานี 562 ราย เสียชีวิต 3 ราย จังหวัดศรีสะเกษ 303 ราย จังหวัดยโสธร 60 ราย จังหวัดมุกดาหาร 37 ราย และอำนาจเจริญ 25 ราย จากการประเมินสถานการณ์คาดว่าโรคไข้เลือดออกจะระบาดรุนแรงในปีนี้
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่ออีกว่า การป้องกันโรคไข้ ขอให้ประชาชนดูแลบ้านเรือนตนเองไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" คือ 1. เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค ในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย รวมถึงสังเกตอาการของตนเอง หากมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ และหากมีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว
ในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสถานที่ที่เป็นแหล่งชุมนุมชน เช่น วัด โรงเรียน สถานที่ท่องเที่ยว สถานประกอบการ สถานที่ราชการต่างๆ รณรงค์จัดกิจกรรมให้ทุกคนร่วมกันสำรวจลูกน้ำยุงลายตามแจกัน จานรองกระถางต้นไม้ หรือแหล่งน้ำขัง หากพบลูกน้ำให้คว่ำหรือทำลายแหล่งน้ำขังนั้นทันที และหมั่นเปลี่ยนน้ำเป็นประจำ หรือใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลากัด เป็นต้น เพื่อเป็นการทำลายต้นตอของโรคไข้เลือดออก