ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาวิจัยด้านพลังงานมาโดยตลอด เนื่องจากเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานความรู้และนวัตกรรม โดยที่ผ่านมา กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรเอกชนในการทำวิจัยด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ตลอดจนสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา หลายโครงการที่สามารถนำมาต่อยอดจนเป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการและประชาชน
สำหรับโครงการศึกษาวิจัยที่มีความโดดเด่น อาทิ 1.โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าในอาคารสำนักงานและบ้านที่อาศัยด้วยระบบตรวจวัดการใช้ไฟฟ้าแบบออนไลน์และการควบคุมโหลดไฟฟ้า ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัย พัฒนา และทดสอบระบบตรวจวัดการใช้พลังงานไฟฟ้าและกำลังไฟฟ้าของเครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้าในอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย โดยได้มีการพัฒนาระบบศูนย์จัดการพลังงาน เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้า อาทิ การวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้า การเก็บบันทึกข้อมูลแบบต่อเนื่องโดยใช้การสื่อสารแบบไร้สายในการรับ/ส่งข้อมูล การวิเคราะห์การใช้ไฟฟ้าและประสิทธิภาพพลังงาน และการแจ้งเตือน/รายงานผลแบบออนไลน์ เป็นต้น 2.โครงการศึกษาแนวทางการผสานพลังงานหมุนเวียนกับระบบไฟฟ้าและพัฒนานโยบายการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ เป็นการศึกษาผลกระทบของพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มเข้ามาในระบบจำนวนมาก และแนวทางการแห้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วย การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน การขยายสายส่ง เป็นต้น 3. โครงการการศึกษาต้นแบบการบริหารจัดการเชื้อเพลิงขยะพลาสติกสำหรับใช้ในการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกครบวงจร เป็นการศึกษาการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย โดยนำมาผลิตเป็นขยะเชื้อเพลิงและปุ๋ยอินทรีย์ และนำมาผลิตเป็นน้ำมันโดยเทคโนโลยีการแยกสบายด้วยความร้อน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดขยะมูลฝอยที่เป็นปัญหาในท้องถิ่นแล้ว ยังมีผลพลอยได้เป็นขยะเชื้อเพลิง RDF และปุ๋ยอินทรีย์ สร้างรายได้และความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยต้นทุนการผลิตขยะพลาสติกเป็นน้ำมันจะอยู่ที่ 11.20-17.76 บาทต่อลิตร
สำหรับการสนับสนุนทุนวิจัยของกองทุนฯ ในระยะต่อไป จะมุ่งเน้นให้การสนับสนุนเรื่องที่สอดคล้องกับแนวนโยบาย Energy 4.0 ได้แก่ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย การสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) การสนับสนุนการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems) และการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ของประเทศไทย เพื่อช่วยผลักดันให้เกิดงานวิจัยใหม่ๆ ตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย สนพ. จึงได้จัดงานสัมมนา "วิจัยพลังงานไทย เพื่อก้าวที่ยั่งยืน" ขึ้น ในวันที่ 14-15 มีนาคม 2561 โดยภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ การบรรยายพิเศษเรื่อง Energy 4.0 กับงานวิจัย การเสวนาเรื่อง ภาพอนาคตงานวิจัยพลังงาน การนำเสนอผลงานวิจัยและนิทรรศการผลงานการวิจัยด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนกว่า 30 ผลงาน เป็นต้น
"การจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเผยแพร่งานวิจัยด้านพลังงานให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย ยังเป็นการเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักวิจัยด้วยกัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมวงการวิจัยของประเทศให้มีการพัฒนา เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ และจะทำให้ทราบถึงนโยบายและทิศทางงานวิจัยด้านพลังงานของไทยในอนาคต" ผอ.สนพ. กล่าว