แพทย์ไทยแนะวิธีเลือกใช้เลเซอร์รักษาโรคผิวหนัง

จันทร์ ๑๘ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๖:๔๙
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เผยแพทย์เฉพาะทางด้านเลเซอร์ผิวหนังของไทยได้รับการยอมรับความสามารถจากทั่วโลกทั้งในระดับสากล เผยมีงานวิจัยทางวิชาการหลายชิ้นได้รับการพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่องพร้อมกับได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย

ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ ประธานวิชาการ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในปัจจุบันวิธีการนำเลเซอร์มารักษาโรคผิวหนังและเสริมความงาม ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยประเทศที่โดดเด่นด้านการรักษาด้วยเลเซอร์ผิวหนังในปัจจุบัน ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิตาลี อิสราเอล เกาหลีและญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยนั้น แพทย์ผิวหนังของไทยได้นำวิธีการรักษาด้านเลเซอร์เข้ามาใช้ในการรักษาผู้ป่วยเมื่อประมาณกว่า 20 ปีที่แล้ว และในปัจจุบันแพทย์เฉพาะทางด้านเลเซอร์ผิวหนังของไทยได้รับการยอมรับความสามารถจากทั่วโลก โดยเห็นได้จากงานวิจัยด้านเลเซอร์ผิวหนังของแพทย์ผิวหนังไทยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง และมีมาตรฐานพร้อมกับได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิ เช่น งานวิจัยเรื่อง Comparison of fractional erbium-doped yttrium aluminum garnet and carbon dioxide lasers in resurfacing of atrophic acne scars in Asians. เป็นผลงานวิจัยซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ (1st prize for the best abstract in the category: laser) ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 2nd 5-Continent-congress for lasers and aesthetic medicine ณ เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการเปรียบเทียบชนิดของเลเซอร์ที่ได้ผลดีกับการรักษาแผลหลุมสิวในคนเอเชีย ซึ่งวิทยาการเครื่องมือโดยส่วนใหญ่ ถูกคิดค้นมาจากฝั่งตะวันตก แต่เมื่อนำมาใช้กับคนเอเชียก็ไม่สามารถนำวิธีการหรือหลักการรักษามาใช้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเครื่องมือบางอย่างไม่เหมาะสมกับผิวของคนไทยหรือผิวของคนเอเชีย ซึ่งบางครั้งเมื่อนำมาใช้แล้ว อาจจะทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่น รอยคล้ำซึ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ศ.นพ.วรพงษ์ กล่าวว่า งานวิจัยอีกเรื่อง "A split scar comparison study of hypertrophic scar treatment with fractional laser vs. fractional laser-assisted topical corticosteroids delivery" ผลงานวิจัยเรื่องนี้ได้รับรางวัล Best Abstract Award ในงานประชุมวิชาการนานาชาติ 7th 5-Continent-Congress for Lasers and Aesthetic Medicine ณ เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เป็นงานวิจัยเรื่องของการใช้เลเซอร์รักษารอยนูน ซึ่งโดยปกติชาวตะวันตกเวลาเป็นแผล จะไม่ค่อยเป็นรอยนูนหรือเป็นคีลอยด์ แต่ในคนไทยหรือคนเอเชียหรือคนผิวคล้ำ เวลาเป็นแผลมักจะนูนตามมา ซึ่งในอดีตการรักษาแผลนูนที่ได้ผลดีที่สุด คือการฉีดยาสเตียรอยด์โดยการใช้เข็มฉีดยาเข้าไป เพื่อให้ยาสเตียรอยด์ ไปทำปฎิกริยาให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงแผลเป็นนั้นฝ่อ หรือลดการอักเสบของแผลเป็น แต่ข้อเสียของการฉีดยาสเตียรอยด์ นั้นมีหลายอย่าง คือ 1.จะเจ็บบริเวณแผลเป็น เพราะต้องปักเข็มทุก ๆ 1-2 เซ็นติเมตร แล้วเดินยาไปเรื่อย ๆ และต้องฉีดเดือนละครั้งติดต่อกันหลายเดือน แผลเป็นพวกนี้ส่วนใหญ่มันจะแข็ง เพราะฉะนั้นเวลาเราเดินยามันต้องออกแรงดันกดเข้าไป มันยิ่งจะเจ็บจากคมเข็มแล้วยังเจ็บจากการถูกดันยาเข้าไปอีก ดังนั้นในงานวิจัยนี้พบว่าเราสามารถใช้เลเซอร์ชนิดหนึ่ง เรียกว่าแฟรคเชเนลเลเซอร์ (Fractional laser) ซึ่งแฟรคเชเนลเลเซอร์ นี้ จะใช้เลนส์พิเศษในการบีบอัดลำแสงของเลเซอร์ ในเป็นจุดเล็ก ๆ เปรียบว่านำแสงเลเซอร์เจาะรูเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง และก่อนที่จะทำการรักษาด้วยเลเซอร์ จะต้องทายาชา แล้วยิงเลเซอร์ไปที่บริเวณแผลเป็น รูเล็กๆพวกนี้มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 150-200 ไมครอน ซึ่งเป็น 1 ในพันของ 0.1 มิลลิเมตร มันเล็กมาก ข้อดีของการใช้เลเซอร์ชนิดนี้ คือเจ็บน้อยและไม่มีผลข้างเคียงของสเตียรอยด์เกิดขึ้น

ศ.นพ.วรพงษ์ กล่าวต่อว่า การรักษาด้วยวิธีการทำเลเซอร์ผิวหนังในปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศไทย แต่ที่น่าเป็นห่วงสุด คือมีแพทย์ผู้รักษาถึง 95 เปอร์เซ็นต์ไม่ใช่แพทย์ผิวหนังเฉพาะทางที่รักษาเลเซอร์ผิวหนังโดยเฉพาะ ดังนั้นผู้ที่จะรักษาด้วยวิธีการทำเลเซอร์ผิวหนังจะต้องใช้วิจารณญาณ ตรวจสอบพิจารณาสถานพยาบาล และคลินิก ก่อนที่จะเข้ารับการรักษาให้ดีเสียก่อน สำหรับการทำเลเซอร์ผิวหนังสามารถแบ่งตามจากลักษณะแผล โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ทำแล้วมีแผล และ 2.ทำแล้วไม่มีแผล คำว่า ทำแล้วมีแผล หมายถึงพวกที่มีสะเก็ด ต้องรอสัก 7 – 10 วันแผลถึงจะหลุด กับอีกประเภท ทำแล้วไม่มีแผล แค่รู้สึกอุ่น ๆ รู้สึกแปล๊บ ๆระหว่างทำ เสร็จแล้วก็ทำแล้วไม่มีสะเก็ด ไม่มีบาดแผล อาจเห็นเพียงรอยแดงเรื่อย ๆ และไม่ต้องทาครีมสมานแผล

นอกจากนี้เลเซอร์ผิวหนังยังแบ่งตามชนิดของกลุ่มโรค ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 5 กลุ่ม กลุ่มแรก คือกลุ่มที่ใช้เลเซอร์ที่ใช้พลังงานความร้อนไปทำลายเนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง ยกตัวอย่าง เช่น กระเนื้อ ไฝธรรมดา หรือขี้แมลงวัน กลุ่มที่สอง เลเซอร์ที่ไปทำลายเม็ดสี หรือสีผิวที่ผิดปกติ เช่น คนที่เป็นกระแดด กระลึก หรือเป็นปานสีเทาสีน้ำเงิน ที่เรียกว่า ปานโอตะ เลเซอร์กลุ่มนี้ยังสามารถเอาไปลบรอยสัก ยิงรอยสัก กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มที่รักษาเส้นเลือดที่ผิดปกติ การที่คนเรามีเส้นเลือดที่ผิวที่ผิดปกติ มันทำให้เราเห็นผิวตรงนั้นนูนหรือแดงขึ้น หรือที่เราเห็นเป็นปานแดงหรือบางคนที่เป็นปานสตรอเบอร์รี่ ที่เป็นก้อนแดง ๆ นูนขึ้นมา พวกนี้เราจะใช้เลเซอร์รักษาการผิดปกติของหลอดเลือดขึ้นมารักษา เลเซอร์กลุ่มนี้ ก็สามารถรักษาเส้นเลือดฝอยที่หน้า หรือบางคนใช้เลเซอร์กลุ่มนี้รักษาแผลเป็นนูน ไปทำลายท่อน้ำเลี้ยงของแผลเป็นนูน ให้แผลเป็นนูนฝ่อกลุ่มที่สี่ กลุ่มเลเซอร์กำจัดขน ด้วยวิทยาการของเลเซอร์ สามารถรักษาไปทั่วทั้งบริเวณผิว แล้วแสงจะลงไปที่รากขนของมันเอง ไม่ต้องจี้ทีละเส้น เลเซอร์กลุ่มนี้สามารถทำให้จำนวนเส้นขนลดลงไปในช่วงระยะเวลาที่ค่อนข้างยาวหลังการยิงติดต่อกันหลายๆครั้ง และกลุ่มที่ห้า เป็นเลเซอร์กลุ่มปรับสภาพผิวชนิดไม่มีแผล หรือเรียกว่าเลเซอร์กระตุ้นคอลลาเจน กลุ่มนี้นำไปใช้ในการรักษาริ้วรอย หรือกระชับรูขุมขนเป็นแบบที่ไม่มีแผล หลักการคือให้แสงลงไปที่หนังแท้ส่วนต้น เพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนใหม่ เหมาะกับการลบริ้วรอยและรักษาแผลหลุมตื้นๆ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ