วสท.ตรวจวิเคราะห์อาคารเพลิงไหม้ราชเทวี อพาร์ทเม้นท์ เตรียมจัดสัมมนาลดความเสี่ยงอัคคีภัยแก่เจ้าของอาคาร ในวันที่ 10 เม.ย.2561 ที่ วสท.

พฤหัส ๐๕ เมษายน ๒๐๑๘ ๑๕:๑๗
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. พร้อมด้วย คุณพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการ และคุณบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัยด้านอัคคีภัย วสท.และผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ตรวจสอบวิเคราะห์อาคารเพลิงไหม้ราชเทวี อพาร์ทเม้นท์ ซอยเพชรบุรี 18 เขตราชเทวี กรุงเทพฯ จากเหตุไฟไหม้เกิดเวลาประมาณ 02.00 น.ของคืนวันที่ 3 เม.ย.2561 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ใช้เวลานานกว่า 4ชั่วโมงในการควบคุมเพลิง และช่วยชีวิตผู้พักอาศัยลงมาจากอาคาร จนกระทั่ง 07.00 น.จึงควบคุมเพลิงไว้ได้ มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย โดยเสียชีวิตในอาคาร 1 ราย และที่โรงพยาบาล 2 ราย

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) กล่าวว่า อาคารอพาร์ทเม้นท์ดังกล่าวเป็นอาคารสูง 14 ชั้น แต่ละชั้นมี 12 ห้อง และมีผู้พักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นอาคารที่ก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2530 ก่อนมี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2535 จึงยังไม่มีการติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง(Sprinkler) จากการตรวจสอบโครงสร้างเบื้องต้นยังแข็งแรง ความเสียหายเกิดขึ้นช่วงพื้นผิวอาคาร อาคารมีบันไดหนีไฟแต่เป็นลักษณะบันไดลิง มีอุปกรณ์ดับเพลิง การก่อสร้างมีระยะห่างและระยะร่นถูกต้อง แต่ซอยค่อนข้างแคบทำให้การเข้าไปช่วยเหลือค่อนข้างลำบาก ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ทีมผู้เชี่ยวชาญจะตรวจสอบโดยละเอียดอีกครั้ง หลังจากนี้จะประสานกับผู้เกี่ยวข้องถึงมาตรการการติดตั้งจุดจ่ายน้ำดับเพลิงฉุกเฉิน

จากการเข้าตรวจสอบภายในอาคาร คาดว่าต้นเพลิงมาจากช่องชาฟต์ (ช่องรวมระบบท่อและสายไฟแนวดิ่ง) ต่ำกว่าชั้น 5 สาเหตุอาจมาจากสายไฟเก่าเกิดช็อตและเป็นประกายไฟลุกลามไปทั่วอาคาร มีควันจำนวนมากปรากฎที่ชั้น 6 และไฟไหม้อย่างรุนแรงที่ช่องชาฟต์ ประจำชั้น 8-11 ผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุอยู่ในห้องชั้น 12 ซึ่งควันออกมาจากช่องชาฟต์พอดี และพบที่นอนใยมะพร้าวซึ่งถูกไฟไหม้ในช่องชาฟต์ชั้น12 และถูกดึงออกมา ส่วนชั้น 14 สายไฟละลายเป็นจำนวนมาก แต่โครงสร้างหลักของอาคารยังไม่เสียหายมากนัก สามารถซ่อมแซมและเปิดใช้งานต่อได้ แต่ต้องตรวจสอบโครงสร้างรองอีกที เพราะเหล็กบางส่วนโดนความร้อน ทำให้พื้นโก่งตัว ซึ่งก็ต้องใช้วุฒิวิศวกร มาตรวจอย่างละเอียด ใช้เวลา 1-2 เดือน แล้วอาคารต้องปรับปรุงให้แล้วเสร็จ ทำเรื่องไปยังเจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาต จึงจะสามารถเปิดใช้งานได้

ด้าน นายพิชญะ จันทรานุวัฒน์ เลขาธิการ วสท.กล่าวว่า สำหรับช่องชาฟต์ (ช่องรวมระบบท่อและสายไฟแนวดิ่ง) ที่ปลอดภัยนั้นควรจะต้องมีการปิดช่องว่างให้หมดด้วยวัสดุที่กันไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ให้มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับคุณสมบัติของพื้นอาคาร การมีรูหรือช่องว่าง ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็วเป็นลักษณะตัววี ตรงนี้เองทำให้มีผู้เสียชีวิต เพราะพอควันไฟโผล่มาช่องชาฟต์ของแต่ละชั้น ทำให้ควันลามไปทั่ว คนที่จะหนีเจอควันจำนวนมากก็สู้ไม่ไหว ต้องหนีกลับไปที่ห้องตัวเอง อีกทั้งสายไฟที่ร้อนและเสื่อมทำให้เกิดประกายไฟในช่องชาฟต์ หากมีช่องว่างในชั้น ทำให้ควบคุมเพลิงได้ยาก จึงขอให้ทุกอาคารตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยด้วย

นางสาวบุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมความปลอดภัยด้านอัคคีภัย วสท.ได้เสนอแนะอาคารเก่าที่เป็นอาคารสูง และสร้างก่อน พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 33 ปี พ.ศ.2535 ควรปรับปรุงโดย 1.ลดความเสี่ยงอัคคีภัย ได้แก่ ต้องสำรวจสภาพระบบไฟฟ้าอาคารและปรับปรุงให้อยู่ในสภาพปกติ รวมทั้งไม่เก็บวัสดุสิ่งของที่ติดไฟได้ในห้องระบบไฟฟ้า หรือในช่องท่องานระบบ ไม่สะสมวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในอาคารจำนวนมาก 2. อาคารต้องมีระบบความปลอดภัยอัคคีภัย ได้แก่ มีระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่สามารถทำงานได้อัตโนมัติแจ้งเตือนเมื่อเกิดเพลิงไหม้เพื่อให้ผู้ใช้อาคารสามารถอพยพได้อย่างรวดเร็ว,ต้องปิดช่องเปิดในแนวดิ่งซึ่งเป็นช่องท่องานระบบต่างๆจะต้องมีการปิดป้องกันไฟลาม ป้องกันควันไหลในแนวดิ่งและแพร่กระจายไปในชั้นอื่นของอาคาร,อาคารต้องมีบันไดหนีไฟที่สามารถป้องกันไฟและควันได้ให้ผู้ใช้อาคารอพยพออกทางบันไดนี้ได้ โดยบันไดต้องเชื่อมต่อตั้งแต่ดาดฟ้าจนถึงจุดปล่อยออกนอกอาคาร เป็นบันไดที่ออกได้สะดวกไม่ใช่บันไดแนวดิ่งหรือบันไดลิง, มีไฟแสงสว่างฉุกเฉินและป้ายทางออกหนีไฟ ที่แสดงทางออกได้ชัดเจนเมื่อเกิดเพลิงไหม้, มีแผนผังทางหนีไฟที่ติดแสดง ในอาคาร ให้ทราบถึงตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยแล้วทางหนีไฟในแต่ละชั้น,มีการซ้อมแผนฉุกเฉินอัคคีภัยอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง, มีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายและมีแผนในการปรับปรุงแก้ไขให้เกิดความปลอดภัย

สำหรับอาคารที่สร้างหลัง พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร ฉบับที่ 33 ปี พ.ศ.2535 วสท. มีข้อแนะนำแก่เจ้าของ "อาคารทั่วไป และอาคารชุมนุมคน" โดยเจ้าของอาคารควรให้ความสำคัญและตรวจสอบระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัย ในอาคารทั่วไป รวมทั้งอาคารที่ใช้เพื่อการชุมนุมคน เช่น หอประชุม โรงแรม โรงพยาบาล สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ห้องแถว ตึกแถว บ้านแฝด อาคารที่อยู่อาศัยรวม หรืออพาร์ตเมนต์ที่มากกว่า 4 ยูนิตขึ้นไป ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยจากอัคคีภัย โดยมีสิ่งจำเป็นต้องรู้และเข้าใจเกี่ยวกับระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัยใน "อาคารทั่วไป" คือ 1.) ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ควรติดตั้งในห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต แต่ถ้าสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป ต้องติดตั้งทุกชั้นในแต่ละยูนิต และอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร ต้องติดตั้งในทุกชั้นของอาคาร 2.) ส่วนประกอบของระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ 2 ชุด อุปกรณ์แจ้งเหตุมีทั้งแบบแจ้งเหตุอัตโนมัติ (Detector) และอุปกรณ์แจ้งเหตุด้วยมือ (Manual Alarm) เพื่อให้อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ทำงาน ส่วนอุปกรณ์อีกตัวชุดหนึ่งคือ อุปกรณ์ส่งสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ที่สามารถส่งเสียงหรือสัญญาณให้คนที่อยู่ในอาคารได้ยินหรือทราบอย่างทั่วถึงเมื่อเกิดไฟไหม้

3.) การติดตั้งถังดับเพลิงแบบมือถือ ห้องแถวหรือตึกแถวที่สูงไม่เกิน 2 ชั้น ต้องติดตั้ง 1 เครื่องต่อ 1 ยูนิต ส่วนอาคารอยู่อาศัยรวม อาคารสาธารณะอื่นๆ ต้องติดตั้งในแต่ละชั้นอย่างน้อย 1 เครื่องต่อพื้นที่ไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร ซึ่งแต่ละเครื่องต้องติดตั้งห่างกันไม่เกิน 45 เมตร และต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นง่ายสะดวกต่อการดูแลรักษา 4.) ป้ายบอกชั้นและทางหนีไฟ ป้ายบอกตำแหน่งชั้นและทางหนีไฟพร้อมไฟฉุกเฉิน ต้องติดตั้งทุกชั้นของอาคารโดยเฉพาะอาคารสาธารณะที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไป อาคารอยู่อาศัยรวมที่มีความสูงตั้งแต่ 2 ชั้นขึ้นไปและอาคารอื่นๆที่มีพื้นที่มากกว่า 2,000 ตารางเมตร 5.) ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรอง อาคารสาธารณะที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีระบบไฟฟ้าสำรอง เช่น แบตเตอรี่ หรือเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้สำหรับกรณีฉุกเฉินที่ระบบไฟฟ้าปกติขัดข้องและต้องสามารถจ่ายไฟในกรณีฉุกเฉินได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะจุดที่มีเครื่องหมายทางออกฉุกเฉิน บันไดหนีไฟ ทางเดินและระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ 6.) บันไดหนีไฟ อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปและสูงไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารที่สูง 3 ชั้นและมีพื้นที่ดาดฟ้าเกิน 16 ตารางเมตร ต้องมีบันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 1 บันไดนอกเหนือจากบันไดหลัก ถ้าเป็นอาคารที่สูงตั้งแต่ 23 เมตรต้องมีบันไดหนีไฟที่ปิดล้อมด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 2 บันไดที่ต่อเนื่องจากชั้นดาดฟ้าถึงจุดปล่อยออกนอกอาคาร

สำหรับ "อาคารสูง" จะต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัย เพื่อความปลอดภัย ดังนี้ 1) ระบบการแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติและสามารถแจ้งเตือนภัยให้ได้ทราบอย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาคารประเภทที่อยู่อาศัย ลักษณะการใช้อาคารจะเป็นที่พักผ่อนหลับนอน จะต้องมีอุปกรณ์ที่ทำงานได้รวดเร็ว สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยปลุกคนได้ในขณะหลับ 2) ทางเลือกในการอพยพหนีไฟ หมายถึงต้องมีบันไดหนีไฟอย่างน้อยสองบันได 3) มีป้ายทางหนีไฟที่บอกทางออกหนีไฟให้เห็นชัดเจน 4) มีไฟแสงสว่างฉุกเฉินที่ส่องสว่างในเส้นทางหนีไฟไปตลอดทางกระทั่งออกนอกอาคารโดยสมรรถนะต้องส่องสว่างได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง 5) อาคารสูงต้องมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ เช่น ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิง(Sprinkler) ติดตั้งครอบคลุมทุกพื้นที่ของอาคาร มีระบบเครื่องสูบน้ำดับเพลิง(Fire Pump)ที่ได้มาตรฐาน มีวาล์วและสายฉีดน้ำดับเพลิงที่สามารถลากไปได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของอาคาร 6) มีอุปกรณ์ดับเพลิงขั้นต้นหรือถังดับเพลิงติดตั้งในทุกชั้นของอาคาร ระยะจากจุดใดๆไปถึงอุปกรณ์ไม่เกินมาตรฐาน 7) บันไดหนีไฟต้องมีระบบป้องกันควันไฟที่ได้มาตรฐาน 8) ต้องมีลิฟต์ดับเพลิง 9) ต้องมีระบบไฟฟ้าสำรองเพื่อจ่ายไฟให้กับระบบความปลอดภัยของอาคารอย่างน้อยสองชั่วโมง 10) ต้องมีแผนผังทางหนีไฟและตำแหน่งอุปกรณ์ป้องกันอัคคีภัยติดแสดงให้เห็นชัดเจนในทุกชั้นของอาคาร 11) อาคารจะต้องมีการบำรุงรักษาอุปกรณ์ระบบความปลอดภัยอัคคีภัย มีการตรวจสอบ ทดสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และสิ่งสำคัญอีกเรื่องที่ต้องดำเนินการคือ 12) อาคารต้องมีแผนฉุกเฉินอัคคีภัย มีการอบรมดับเพลิงขั้นต้น มีการซ้อมอพยพหนีไฟเป็นประจำทุกปี มีการประเมินเส้นทางเข้าถึงของรถดับเพลิง ซึ่งการอบรมดับเพลิงขั้นต้นและการซ้อมอพยพหนีไฟนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรต้องเรียนรู้ เพื่อจะได้มีความมั่นใจในการระงับเหตุขั้นต้นได้ สามารถอพยพออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัยเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้น 13)การควบคุมวัสดุในอาคาร ทั้งวัสดุตกแต่งภายในและภายนอกอาคาร ควรพิจารณาในเรื่องชนิดและปริมาณเชื้อเพลิงที่จะเพิ่มเติมเข้าในอาคาร ต้องควบคุมวัสดุประเภทโฟมและพลาสติก ซึ่งติดไฟง่าย

ทั้งนี้ วสท.เตรียมจัดสัมมนาให้ความรู้แก่เจ้าของอาคารเก่า –ใหม่ โรงแรม นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นักบริหารอาคาร และผู้สนใจ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายต่อย่างใด ในวันที่ 10 เมษายน 2561 เวลา 9.00 -16.00 น ณ ห้องประชุมชั้น 6 อาคาร วสท. ซอยรามคำแหง 39 ทั้งนี้เพื่อร่วมสร้างสรรค์ความปลอดภัยแก่ประชาชน นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ ฉลองเทศกาลตรุษจีนปีงูเล็ก ที่โรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท
๑๗:๐๐ IMPACT เผยปี 68 ข่าวดี! โครงการ Sky Entrance รถไฟฟ้าสายสีชมพูมาตามนัด หนุนทราฟฟิคแน่น - จับมือพาร์ทเนอร์
๑๗:๕๒ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคม สนับสนุนโครงการ กู้วิกฤตและอนุรักษ์พะยูน ครั้งที่ 2
๑๗:๕๘ แสนสิริ เจ้าตลาดคอนโดแคมปัส อวดโฉม ดีคอนโด วิวิด รังสิต คอนโดใหม่ตรงข้าม ม.กรุงเทพ
๑๖:๔๓ เอ็นไอเอ - สสส. ดึงนิวเจน สรรค์สร้างนวัตกรรมส่งเสริมสุขภาพ ในแคมเปญ The Health Promotion INNOVATION PLAYGROUND
๑๗:๕๘ กรมวิทย์ฯ บริการ เร่งพัฒนาระบบ e-Learning ยกระดับการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ
๑๖:๕๘ เขตจตุจักรกวดขันคนไร้บ้านเชิงสะพานข้ามคลองบางซื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
๑๗:๑๗ เขตพระนครประสานกรมเจ้าท่า-เอกชน เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์ท่าเรือสุพรรณเดิม
๑๗:๔๐ กทม. กำชับเจ้าของอาคารตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อน เพิ่มความปลอดภัยประชาชน
๑๖:๓๗ แลกเก่าเพื่อโลกใหม่ ช้อปคุ้ม พร้อมลดหย่อนภาษี! 'เปลี่ยนของเก่าเป็นความคุ้ม' ผ่าน Easy E-Receipt ได้ที่โฮมโปร เมกาโฮม