นายวรายุทธ (เจมส์) เย็นบำรุง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO) บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด หรือ mu Space กล่าวว่า mu Spaceเป็นสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอวกาศมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี การทำสัญญาทำงานร่วมกันระหว่าง mu Space และ บริษัท SES ซึ่งเป็นบริษัทดาวเทียมชั้นนำของโลกที่มีพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั้งโลก และบริษัท Hughes ซึ่งเป็นบริษัทอุปกรณ์ดาวเทียมภาคพื้นดินชั้นนำของโลก จะช่วยให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยสามารถเข้าถึงอินตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้อย่างรวดเร็วและมีความต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้คนชนบทมีสามารถเข้าถึงการศึกษาพื้นฐานเพิ่มมากขึ้นเพราะทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้คนในเมืองและชนบทได้มีโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตไปทิศทางเดียวกันต่อไป
นายวรายุทธ กล่าวต่อไปว่า อินเตอร์เน็ตเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่ทำให้ทุกคนสามารติอต่อสื่อสารกันได้โดยไม่ข้อจำกัดและยังเป็นประตูสู่โลกกว้างในการพัฒนาตัวเอง ทั้งด้านการศึกษาออนไลน์ และการประกอบอาชีพ เป็นที่น่ายินดีว่ารัฐบาลได้เห็นความสำคัญและมีเป้าหมายที่จะลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและการใช้งานอินเตอร์เน็ตจากการมีนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติ (National Broadband Policy ) ที่มีเป้าหมายหลักให้ประชาชน 95% สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้อย่างเท่าเทียมกันในปี 2563 รวมถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติที่จะทำให้ทุกพื้นที่เข้าถึงบรอดแบรนด์ได้นั้นต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยภาครัฐและเอกชนร่วมมือกัน ตลอดจนการให้ความรู้ในการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อที่จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถของคนให้มีศักยภาพสูงขึ้นได้
ทั้งนี้จากรายงานดัชนีชี้วัดในกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย ประจำปี 2559- 2560 ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงประจำที่ของประเทศไทยยังมีค่าค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำ โดยในปี 2559 อยู่ที่ 7.22 ล้านเลขหมาย และคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นปี 2560 จะอยู่ที่ 8.13 ล้านเลขหมาย คิดเป็นสัดส่วน 12.64 เลขหมายต่อจำนวนประชากร 100 คน หรือ 38.13 ครอบครัวต่อ 100 ครัวเรือน ซึ่งยังถือว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อพิจารณาภาพรวมเปรียบเทียบกับระดับค่าเฉลี่ยของโลกในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 50 % หรือคิดเป็น 3,773 ล้านคน จากประชากรทั่วโลก 7,476 ล้านคน
"mu Space มีความตั้งใจที่จะทำให้ทุกพื้นที่ของประเทศสามารถติดต่อถึงกันได้ จึงเป็นที่มาของการขยายความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อนำเทคโนโลยีดาวเทียมที่ทันสมัยมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง mu Space กับบริษัท SES และบริษัทHughes เราเชื่อว่าจะสามารถให้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมได้ทั่วประเทศ ซึ่งก็หมายความว่าทั้งโรงเรียน สถานพยาบาล และห้องสมุดประชาชน ในเขตพื้นที่ห่างไกลจะสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ โดยประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการติดต่อสื่อสารและการหาความรู้ต่างๆเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้มากขึ้น" นายวรายุทธ กล่าวและว่า mu Space มีแผนที่จะส่งดาวเทียมของบริษัทในปี2563 โดยจรวด New Glenn รวมถึงการบริการท่องเที่ยวอวกาศแห่งแรกของเอเชียด้วย โดยจะมีการทดสอบระบบแคปซูล The New Shepard ของบริษัท Blue Origin ในต้นเดือนพฤษภาคม 2561 นี้
นายอิมราน มาลิค รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท SES ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า ในพื้นที่ชนบทที่อยู่ห่างไกลที่อินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึง ดาวเทียมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการสร้างเครือข่ายบรอดแบนด์ในราคาที่เข้าถึงได้ และติดตั้งง่ายและใช้เร็วกว่าการวางโครงสร้างด้วยบรอดแบรนด์ทุกรูปแบบ ซึ่งเรารู้สึกยินดีอย่างมากที่จะได้ร่วมพันธกิจลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างโอกาสให้คนไทยได้ใช้เทคโนโลยีพัฒนาชีวิตอย่างไม่จำกัดด้วย
นายราเมช รามาสวามี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสและผู้จัดการทั่วไป บริษัท Hughes กล่าวว่า ในพื้นที่ห่างไกล การวางโครงข่ายภาคพื้นดินทำได้ยาก ซึ่งตรงข้ามกับเทคโนโลยีดาวเทียมสมัยใหม่ที่สามารถเข้าประชาชนได้ทุกพื้นที่ ทางบริษัทมีความยินดีที่จะได้ร่วมงานกับ mu Space และบริษัท SES โดยหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันเพื่อปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีด้วยการนำอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมไปสู่คนไทยทุกคน