ธรรมศาสตร์ ดึงนักวิชาการถกปัญหาการตรวจองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมชี้ต้องแก้เชิงระบบและองค์กรตรวจสอบ

พุธ ๒๐ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๒:๔๐
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ดึงนักวิชาการ ภาครัฐ จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 3 หัวข้อ "ท้องถิ่น VS สตง. กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น" ถกปัญหาการบวนการตรวจสอบและการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. โดยพบปัญหาการตรวจสอบและของแนวทางการปฏิบัติของ สตง. ด้านกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ ที่ยังคงมีปัญหาและความคลาดเคลื่อน อาทิ การตีความการดำเนินการของ อปท. ที่เคร่งครัดเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่น แนวทางการตรวจสอบ อปท. ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ไม่มีมาตรฐานกลาง ฯลฯ ทั้งนี้นักวิชาการแนะแก้ปัญหายั่งยืนด้วยได้แก่การพัฒนากฎหมาย การพัฒนาการกำกับดูแล การสร้างตัวแบบที่ดี การมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการทำงาน อย่างไรก็ตามปัจจุบัน อปท. กำลังประสบปัญหา "ธุรกิจการเมือง" หรือการใช้งบประมาณของแผ่นดิน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองหรือพรรคพวกของตนเอง ผ่านการดำเนินงานเพื่อประชานิยม ฯลฯ ซึ่งภาครัฐต้องการแนวทางในการกำกับดูแลอย่างเป็นระบบและแก้ไขได้จริง ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 3 หัวข้อ "ท้องถิ่น VS สตง." กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น เมื่อเร็วๆ นี้ ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการเก็บบันทึกสถิติการร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พบตัวเลขการร้องเรียนการทุจริตในปี พ.ศ.2558 มีจำนวนการร้องเรียน 1,318 เรื่อง ปี พ.ศ.2559 มีการร้องเรียน 1,250 เรื่อง และในปี พ.ศ.2560 มีตัวเลขการร้องเรียนอยู่ที่ 553 เรื่อง โดยจากสถิติดังกล่าวเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนมากที่สุด คือ การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง คิดเป็นประมาณร้อยละ 30 ทั้งนี้การทุจริตดังกล่าวเกิดจากการขาดการมีส่วนร่วมและไม่สามารถตรวจสอบเอกสารโครงการได้ โดยแนวทางการป้องกันการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพวิธีการหนึ่งคือ "การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น" เพราะท้องถิ่นจะรู้ข้อมูลในพื้นที่ตนเองและมีการตรวจสอบจากภาคประชาสังคม และสภาท้องถิ่น รวมทั้งผู้ที่กำกับดูแลท้องถิ่น

ศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตใน อปท. อย่างยั่งยืน จึงมีข้อเสนอในการป้องกันการทุจริตใน 4 ด้าน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกครองของท้องถิ่นและป้องกันการทุจริตในอนาคต ได้แก่

ด้านกฎหมายและองค์กรผู้กำกับดูแล ให้บังคับใช้พระราชบัญญัติ (พรบ.) ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 อันว่าด้วยเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มงวด และต้องจัดให้มี พรบ. การมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบการทำงานของ อปท. รวมทั้ง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะต้องให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและทั่วถึง รวมทั้งมีข้อแนะนำให้ อปท. พัฒนางานที่สร้างสรรและมีประสิทธิภาพเพื่อประชาชน ด้านสิทธิของประชาชน โดยการส่งเสริมให้ประชาชนรู้และเข้าใจสิทธิของตนเอง รวมทั้งประชาชนต้องแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงาน ต่างๆ เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบและการทุจริต ด้านการสร้างตัวแบบที่ดี เสนอแนะให้หาโมเดลการทำงานของ อปท. ที่มีความโปร่งใส เพื่อเป็นแหล่งศึกษาดูงาน รวมทั้งเป็นต้นแบบของการทำงานและวิธีการในการปกครองท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ และ ด้านการปลูกฝังเด็กและเยาวชน ให้มีค่านิยมต่อต้านการทุจริตในทุกรูปแบบ โดยการแทรกเนื้อหาการต่อต้านทุจริตไว้ในบทเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา จนถึงระดับมหาวิทยาลัย

นายบุญญภัทร์ ชูเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้การทุจริตใน อปท. เป็นปัญหาและต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง แต่อย่างไรก็ตาม การใช้อำนาจของหน่วยตรวจสอบก็ต้องดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย และไม่ไปกระทบการจัดทำบริการสาธารณะของ อปท. มากจนเกินไป จนทำให้ อปท. ไม่สามารถดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างเต็มที่เพราะกลัวว่าจะโดนตรวจสอบ โดยการใช้อำนาจตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ อปท. โดย สตง. ที่ผ่านมา ปรากฏประเด็นปัญหาและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ดังต่อไปนี้ 1) การตีความหน้าที่และอำนาจการใช้เงินในการบริหารท้องถิ่นที่ไม่ตรงกันของ สตง. และ อปท. ส่งผลให้ อปท. ถูกตรวจสอบการใช้จ่ายเงินว่าไม่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ 2) การดำเนินการของ อปท. ตามหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทย ถูกตรวจสอบและร้องเรียนโดย สตง. เนื่องจาก สตง. มองว่าหนังสือสั่งการมิใช่ระเบียบทางราชการ 3) สตง. ตีความการดำเนินการของ อปท. ที่เคร่งครัดเกินไป ไม่มีความยืดหยุ่น ในเรื่องที่ไม่มีความจำเป็น อาทิ การจัดงานในวันสำคัญต้องจัดให้ตรงกับวันตามมติคณะรัฐมนตรีเท่านั้น 4) สตง. มีแนวทางการตรวจสอบ อปท. ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ไม่มีมาตรฐานกลางในการตรวจสอบ และ 5) การตรวจสอบความคุ้มค่าและความมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องตรวจสอบเพราะอาจมีการแฝงการทุจริตในโครงการที่กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ด้วย แต่ สตง. ต้องใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบความคุ้มค่าและความมีประสิทธิภาพในการใช้เงินของ อปท. อย่างระมัดระวัง โดยอาจต้องพิจารณาความแตกต่างกันในแต่ละ อปท. ในแต่ละพื้นที่และกิจกรรมด้วย

ด้าน นายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า ปัจจุบัน อปท. กำลังประสบปัญหา "ธุรกิจการเมือง" หรือการใช้งบประมาณของแผ่นดิน เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเองหรือพรรคพวกของตนเอง ผ่านการดำเนินงานเพื่อประชานิยม อาทิ การแจกเสื้อผ้า ผ้าห่มแก่ผู้มิได้ขาดแคลนหรือการจัดโครงการพาประชาชนไปต่างจังหวัดเพื่อท่องเที่ยว แม้การกระทำเหล่านี้จะไม่ถูกจัดเป็นการทุจริตโดยตรง แต่การดำเนินงานที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาบริการสาธารณะของชุมชนโดยรวม นั้นขัดแย้งต่อหลักการทำงานของ อปท. โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวทางการแก้ไขได้โดย อปท.จะต้องจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งต้องเกิดจากความต้องการของประชาคมท้องถิ่น โดยตรง ก่อนนำไปสู่การนำแผ่นพัฒนาท้องถิ่น มาแปลงเป็นข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติประจำปี การทำแผนงานและโครงการที่บรรจุในข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติต้องดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ อีกทั้งต้องดำเนินงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน มิใช่กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่งหรือปัจเจกบุคคล ตลอดจนการดำเนินงานของ อปท. ต้องมีเอกสารหลักฐานที่ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยในอนาคตอันใกล้ สตง. จะอบรมสัมมนาให้ อปท. ทั่วประเทศได้รับทราบ เพื่อการปฏิบัติตาม อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาธรรมศาสตร์สู่สังคมครั้งที่ 3 หัวข้อ "ท้องถิ่น VS สตง. กระบวนการตรวจสอบการจัดการท้องถิ่น" ร่วมวิเคราะห์หาแนวทางการป้องกันการทุจริตและพัฒนาการปฏิบัติงานขององค์กรส่วนท้องถิ่น โดยมีศาสตราจารย์ ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. และนายมณเฑียร เจริญผล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เข้าร่วมเสวนา ณ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อเร็วๆนี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โทรศัพท์ 02-564-4493 หรือเว็บไซต์ www.tu.ac.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version