นับตั้งแต่การกดดันผ่านสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) โดยสภาผู้ผลิตสุกรแห่งชาติ (NPPC) ของสหรัฐ ยื่นคำร้องถึง USTR ให้ตรวจสอบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของประเทศไทย โดยอ้างว่าไทยไม่เปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐอย่างเป็นธรรม นำไปสู่การลงลายมือชื่อของ 44 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ในจดหมายร้องเรียนที่ส่งถึง นายวีระชัย พลาศัย เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้ไทยยกเลิกข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าเกษตรของสหรัฐ แลกกับสิทธิพิเศษ GSP กับสินค้าอื่นๆ ของไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ จนถึงการไม่ยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมรายประเทศให้กับไทยตามที่ไทยร้องขอ เพื่อกดดันอีกทาง
กระทั่งล่าสุดสหรัฐเดินเกมส์อีกครั้งผ่าน USTR ที่จะเดินทางเยือนไทยในเดือนกรกฏาคมนี้ เพื่อจี้ไทยให้เปิดนำเข้าหมูสหรัฐ พร้อมข่มขู่จะตัด GSP ของไทยหากไม่มีความคืบหน้าในเรื่องนี้
ความพยายามทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่าสหรัฐสามารถทำทุกอย่างได้เพียงเพื่อประโยชน์ของประเทศตน และสมาคมผู้เลี้ยงหมูสหรัฐก็คิดถึงแต่ข้อได้เปรียบของตัวเอง โดยมองข้ามความล่มสลายของอุตสาหกรรมหมูในประเทศเป้าหมาย ขณะที่ตัวเองนั้นเหนือกว่าทุกทาง โดยเฉพาะต้นทุนการเลี้ยงหมูของสหรัฐที่ต่ำเพียง 32 บาทต่อกิโลกรัม เพราะสหรัฐเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลกทั้งถั่วเหลืองและข้าวสาลี ที่สำคัญการเลี้ยงหมูของสหรัฐนั้นอนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง-แรคโตพามีน (Ractopamine) ได้อย่างเสรี สารตัวนี้คือ "อาวุธสำคัญ" ที่ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงหมูของสหรัฐชนะขาดทุกประเทศ เพราะสารนี้จะทำให้หมูมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยที่กินอาหารน้อยลง หมูที่ใช้สารนี้จะโตเร็วขึ้น 4 วัน โดยใช้อาหารน้อยลงเกือบ 20 กิโลกรัม
ขณะที่การเลี้ยงหมูของไทยห้ามไม่ให้มีการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาด โดยออกกฎหมายควบคุมมานานกว่า 16 ปี ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2545 และประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2546 ล่าสุดกรมปศุสัตว์ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงสัตว์ เพื่อปราบปรามการลักลอบใช้สารอันตรายให้หมดไปจากประเทศไทย
ที่สำคัญสหรัฐคงหลงลืมไปแล้วว่าไทยช่วยเศรษฐกิจประเทศเขาอยู่มากโข โดยในปี 2560 ที่ผ่านมาไทยนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมีมูลค่ามากถึง 473,917 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อนหน้าถึง 10.89% ในจำนวนนี้คือการนำเข้ากากถั่วเหลืองและข้าวสาลีมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์และกลายมาเป็นต้นทุนในการเลี้ยงสัตว์
เมื่อต้นทุนการผลิตกว่า 70% มาจากอาหารสัตว์ และการเลี้ยงหมูของไทยไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดงเป็นทางลัดเหมือนสหรัฐ จึงไม่น่าแปลกใจที่การผลิตหมูของไทยจะมีต้นทุนพุ่งไปถึง 64 บาทต่อกิโลกรัม ตามตัวเลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าสหรัฐ ถึงกว่า 1 เท่าตัว
เมื่อดูในประเด็นที่ไทยนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากสหรัฐมาใช้ จะเห็นได้ชัดเจนว่าที่ผ่านมาสหรัฐได้ประโยชน์จากไทยมาตลอด จากการที่ไทยเป็นลูกค้าของสหรัฐมากว่ากึ่งศตวรรษ แต่สหรัฐกลับคิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว ด้วยอยากผลักดันเศษชิ้นส่วนที่เป็นขยะเหลือที่คนอเมริกันไม่กิน ทั้งหัว ขา เครื่องในหมู มาทิ้งในบ้านเราหวังโกยเงินเข้าประเทศ
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ ย้ำเรื่องนี้ว่าเกษตรกรเลี้ยงหมูไม่มีทางยอมให้หมูสหรัฐมาย่ำยีอย่างเด็ดขาด เพราะหากหมูมะกันเข้ามาดั๊มพ์ตลาดไทยได้ก็เท่ากับ "หายนะ" ที่จะเกิดขึ้นไม่เฉพาะกับคนเลี้ยงหมูเท่านั้น แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ "คนไทยทั้งประเทศ" ที่ต้องเสี่ยงกับอันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงที่แฝงมาด้วย หากมีเนื้อหมูส่งเข้ามาจริงแล้วถูกนำมาขายปะปนกับหมูไทยในตลาดสดทั่วไป ซึ่งผู้บริโภคไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเนื้อหมูชื้นส่วนไหนที่เป็นของสหรัฐ ส่วนไหนเป็นหมูไทย นั่นเท่ากับความเสี่ยงแบบ 100% ที่คนไทยไม่มีสิทธิ์หลีกเลี่ยง
"เกษตรกรผู้ผลิตไทยอยากให้สหรัฐเห็นใจกันบ้าง เมื่อเกษตรกรไทยช่วยเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว สหรัฐเองก็ไม่ควรรังแกเกษตรกรไทยด้วยการบีบบังคับให้ต้องนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐมาดั๊มพ์ตลาดทำลายหมูไทยอีก โดยที่ศักยภาพในการแข่งขันนั้นมัน "คนละชั้น" ด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าไทยถึงครึ่งหนึ่งเช่นนี้ ขอให้รัฐบาลไทยโดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ รับฟังความทุกข์ร้อนของเกษตรกรและคำนึงถึงชีวิตคนไทยเป็นอันดับแรก อย่ายอมให้หมูสหรัฐเข้ามาทำร้ายคนไทยได้" ปรีชา กล่าว
ยิ่งไปกว่านั้นต้องไม่ลืมว่าเกษตรกรไทยเมื่อเทียบกับเกษตรกรสหรัฐแล้ว เรายังเป็นรองเขาอยู่มาก โดยเฉพาะในแง่ของสถานะทางเศรษฐกิจ พูดง่ายๆคือ "เกษตรกรเรายังยากจนกว่าเขามาก" วันนี้ที่รัฐบาลไทยพยายามช่วยเหลือให้ประชาชนไทยก้าวผ่านคำว่า "ยากจน" แต่ขนาดเกษตรกรที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติ รัฐบาลยังไม่คิดจะช่วยเหลือ แถมยังมีท่าทีว่าจะ "อ่อนข้อ" ให้เขาเสียอีก อย่างนี้แล้วจะช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศได้อย่างไร
คำร้องขอสุดท้ายที่ผู้เลี้ยงหมูฝากไว้คือ "ขอให้รัฐบาลทบทวนให้ดี" ว่าจะยอมให้หมูสหรัฐเข้ามาทำลายหมูไทยและสุขภาพคนไทยจริงหรือ? รัฐบาลจะทนมองเห็นความล่มสลายของอุตสาหกรรมหมูและซัพพลายที่เกี่ยวข้องทั้งระบบที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจชาติปีละกว่า 373,000 ล้านบาทได้หรือ? และจะทนเห็นเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ทั้ง 195,000 ราย ต้องล้มหายตายจาก และทนเห็นผลกระทบที่เป็นลูกโซ่ไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้งส่วนของรำข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคอาหารสัตว์ และเวชภัณฑ์สัตว์ไทย รวมกันกว่า 2 แสนราย ต้องเจ๊งไปตามๆกันจริงหรือ? หรือต้องรอให้เห็นม็อบคนเลี้ยงหมูกว่าพันคนขนหัวหมูไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลเหมือนเมื่อปี 2556 อีกครั้ง รัฐบาลถึงจะหันมามองเห็นปัญหาว่าลุกลามใหญ่โตจนเกินแก้แล้ว