กระทรวงวิทย์ มุ่งสร้างผู้ประกอบการแปรรูปผักผลไม้ใหม่ เสริมแกร่งผู้ประกอบการเดิม ด้วย วทน. เปิดโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร วว. ครบวงจร กำลังผลิต 1,000 ลิตร/วัน ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสธุรกิจ

ศุกร์ ๒๒ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๑:๐๑
ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant : FISP) ซึ่งดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เป็นโรงงานอาหารมาตรฐานให้บริการผู้ประกอบการอย่างครบวงจร เพื่อสร้างผู้ประกอบการแปรรูปผักผลไม้และเครื่องดื่มใหม่และเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการเดิมด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในระดับห้องปฏิบัติการและการบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิตเพื่อการผลิตอาหารในระดับอุตสาหกรรม เพื่อ "ลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจ"

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า FISP จะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนขับเคลื่อนวิสัยทัศน์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยของรัฐบาลหรือ "ประเทศไทย 4.0" โดยทำหน้าที่ให้บริการผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารด้วยการวิจัย พัฒนา และบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม การลงทุนสร้างโรงงานและเครื่องจักรแปรรูปอาหารที่ทันสมัยราคาสูงนับเป็นความเสี่ยง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เริ่มต้นทำธุรกิจ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร ซึ่งดำเนินงานโดย วว. จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมและจะก่อประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างโอกาสในการทำธุรกิจของทั้งผู้ประกอบการใหม่และผู้ประกอบการแปรรูปอาหารเดิมที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาด

"...FISP พร้อมเปิดให้บริการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เรามีภารกิจครบวงจรในการให้บริการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารในระดับห้องปฏิบัติการ บริการบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิตในเชิงพาณิชย์สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูป บริการสายการผลิตผลิตภัณฑ์ผักผลไม้แปรรูปและเครื่องดื่มที่ได้มาตรฐาน บริการวิเคราะห์ ทดสอบ สอบเทียบ และรับรองระบบคุณภาพ รวมทั้งบริการที่ปรึกษา (Consultation) การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร การวางสายการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร นอกจากนี้เรายังมีบุคลากรวิจัยและพัฒนาที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะและประสบการณ์กว่า 30 ปี ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร วิศวกรรมอาหาร เพื่อการผลิตอาหารในระดับอุตสาหกรรม โรงงานของเราเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practices) มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยครบครันสำหรับให้บริการผู้ประกอบการแปรรูปผักผลไม้และเครื่องดื่ม ประกอบด้วย สายการผลิตผลไม้แช่อิ่มอบแห้ง เครื่องทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง เครื่องทอดสุญญากาศ สายการผลิตเครื่องดื่มระบบ (พาสเจอรไรซ์/UHT) ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว

โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP มีกำลังการผลิตสูงสุด ดังนี้

-เครื่องจักรเพื่อการผลิตผลไม้แช่อิ่มและอบแห้ง 1,200 กิโลกรัม/ครั้ง

-เครื่องจักรเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร Freeze dry 200 กิโลกรัม/ครั้ง

-เครื่องทอดสุญญากาศ 15 กิโลกรัม/ครั้ง

-เครื่องจักรเพื่อการผลิตเครื่องดื่มบรรจุกล่อง UHT 1,000 ลิตร/ชั่วโมง

-เครื่องจักรเพื่อการผลิตเครื่องดื่มบรรจุขวดแก้ว 500 ลิตร/ชั่วโมง

อนึ่ง โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ โครงการ Food Innopolis เป็นหนึ่งในซุปเปอร์คลัสเตอร์ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร โดยมุ่งเน้นที่จะดึงดูดบริษัทผู้ผลิตหรือวิจัยพัฒนาอาหารชั้นนำของโลกมาลงทุนในกิจการด้านนวัตกรรมอาหารในประเทศไทย และสนับสนุนให้บริษัทเอกชนไทยในทุกระดับตั้งแต่ Startup SMEs ไปจนถึงบริษัทไทยขนาดใหญ่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมอาหารระดับโลก เพื่อยกระดับความสามารถของ Startup และ SMEs ตลอดจนเพิ่มมูลค่า และการจ้างงานแรงงานฐานความรู้ให้เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการเปิดให้บริการของโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP ดังกล่าว โดย วว. จะเป็นพลังขับเคลื่อนและสอดประสานความร่วมมือของประชารัฐอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการไทยมีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

สอบถามรายละเอียดและขอรับบริการจาก FISP ได้ที่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เลขที่ 35 หมู่ 3 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทร./โทรสาร 0 2577 9700-9704, 0 2577 9177 หรือที่ E-mail : [email protected] หรือ Line ID: fisp_tistr

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ