นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่าได้รับการร้องเรียนจากผู้จำหน่ายข้าวโพดในจังหวัดสระแก้ว จันทบุรี และนครราชสีมาว่า ปัจจุบันมีรถขนส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ข้ามชายแดนมาจากกัมพูชาจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งขนผ่านด่านซับตารี จ.จันทบุรี เข้ามาส่งถึงในลานพ่อค้า เพื่อนำมาขายในไทยเนื่องจากระดับราคาข้าวโพดในไทยสูงถึง 10.50 บาท/กก. สร้างผลกระทบให้กับพ่อค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ซื้อข้าวโพดไทยไว้รอขายในช่วงหลังจากนี้
จากการตรวจสอบพบว่า ข้าวโพดที่นำเข้ามาจากกัมพูชาดังกล่าวไม่ใช่สายพันธุ์ที่ปลูกในกัมพูชา โดยมีลักษณะเม็ดและสายพันธุ์ที่บ่งบอกชัดเจนว่าเป็นข้าวโพดจากประเทศอาร์เจนตินาซึ่งบางส่วนเป็นข้าวโพด GMO คาดว่าจะทำการลักลอบขนส่งหนีภาษีผ่านทางเวียดนามเข้าสู่กัมพูชา เพื่อนำมาขายในไทยทำกำไรมหาศาลจากนโยบายของรัฐบาลไทย ที่ทำให้กลไกราคาข้าวโพดบิดเบือน จนเอื้อให้เกิดการทำทุจริตผิดกฏหมายลักลอบนำเข้าเช่นนี้
ทั้งนี้ ลักษณะทางกายภาพของข้าวโพดอาร์เจนตินา จะมีเม็ดใหญ่หัวเล็ก ปลายใหญ่เป็นเหลี่ยม สีซีด ฝุ่นแป้งเยอะ ซึ่งแตกต่างกับข้าวโพดไทยที่เม็ดเล็ก อ้วนป้อม สีเหลืองเข้ม อย่างชัดเจน
"ผมไม่แปลกใจ เมื่อพ่อค้าพืชไร่กลุ่มที่ลักลอบนำข้าวโพดอาร์เจนตินาเข้ามา จะเป็นคนออกมาเรียกร้องให้โรงงานอาหารสัตว์เปิดรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงนี้ ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าช่วงปลายฤดูที่ข้าวโพดมีน้อยเช่นนี้ โรงงานต่างๆจะทำการปิดปรับปรุงเครื่องจักรเพื่อรองรับข้าวโพดฤดูกาลใหม่ชึ่งเป็นเรื่องที่ทำมาโดยปกติทุกปี" นายพรศิลป์กล่าว
กลไกการบิดเบือนราคาที่รัฐกำหนด นับเป็นแรงจูงใจสำคัญให้เกิดการลักลอบนำเข้าดังที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เนื่องจากราคาข้าวโพดไทยที่สูงถึง 10.50 บาท/กก.นั้น สูงกว่าราคาข้าวโพดในตลาดโลกถึง 2.50 - 3 บาท/กก. จึงเป็นช่องว่างให้พ่อค้าบางกลุ่มฉวยโอกาสกอบโกยผลประโยชน์จำนวนมาก ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดของไทยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากเรื่องนี้เลย สมาคมฯจึงออกหนังสือเตือนสมาชิกให้ระมัดระวังและตรวจสอบก่อนรับซื้อข้าวโพดในช่วงนี้
ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ ขอให้โรงงานอาหารสัตว์และพ่อค้าพืชไร่ รายงานปริมาณสต๊อกข้าวโพดเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจากข้อมูลเดือน พ.ค. 2561 สต๊อกข้าวโพดที่อยู่ในมือพ่อค้าอยู่ที่ 66,000 ตัน ซึ่งเป็นข้าวโพดนาที่เกษตรกรทำการเก็บเกี่ยวในช่วงหลังเมษายน และในช่วงเดือนมิถุนายนจะมีข้าวโพดในไร่ออกสู่ตลาดอีกประมาณ 11,000 ตันเท่านั้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์สามารถนำไปตรวจสอบกับปริมาณการรับซื้อข้าวโพดของโรงงานอาหารสัตว์ในช่วงเดียวกันจะพบว่ามีปริมาณข้าวโพดลักลอบเข้ามาจำนวนเท่าใด
อนึ่ง การประชุมนโยบายบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศผ่อนปรนมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วนลงเป็น 2 : 1 ส่วนตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน – 31 สิงหาคม 2561 เนื่องจากพบว่า หากใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วน จะทำให้อาหารสัตว์ขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อีกกว่า 1.3 ล้านตัน เพราะช่วงดังกล่าวเป็นช่วงปลายฤดู และ เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดไม่มีเหลืออยู่ในมือเกษตรกรแล้ว
อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนดังกล่าว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้าวโพดที่ขาดแคลนอีก 1.3 ล้านตันได้ทั้งหมด เนื่องจากการนำเข้าข้าวสาลี ต้องเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 เดือน จึงเป็นช่องว่างให้กับพ่อค้าบางกลุ่มเร่งลักลอบนำเข้าข้าวโพดดังกล่าว.