องค์การช่วยเหลือเด็กเปิดงานวิจัย “อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย” พร้อมจัดเวทีเสวนา“เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย” เผยข้อมูลมีเด็กผู้ลี้ภัย ในเมืองถูกกักในตม.แยกจากครอบครัวจนทำให้เด็กถูกล่ว

จันทร์ ๒๕ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๑:๐๐
องค์การช่วยเหลือเด็กเปิดงานวิจัย "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย" พร้อมจัดเวทีเสวนา "เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย"เผยข้อมูลมีเด็กผู้ลี้ภัยในเมืองถูกกักในตม.แยกจากครอบครัวจนทำให้เด็กถูกล่วงละเมิดทางเพศ ขณะที่เวทีเสวนาเปิดข้อมูลเด็กจำนวนมากเข้าไม่ถึงการศีกษา กรรมการสิทธิฯ เผยได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีจับกุมเด็กผู้ลี้ภัยอย่างไม่เหมาะสมในห้องกักตม. ชี้เป็นการละเมิดสิทธิเด็กสร้างความหวาดกลัวและบาดแผลด้านจิตใจกับเด็กและครอบครัว ระบุไม่ควรมีเด็กแม้แต่คนเดียวที่ต้องถูกควบคุมตัวในห้องกักตม. ด้านนักวิชาการระบุระบบและอุปสรรคด้านภาษาไม่เอื้อให้เด็กเข้าถึงการศึกษาได้อย่างแท้จริง เผยโรงเรียนหลายแห่งยังมีอคติ และเด็กหลายคนยังถูกกลั่นแกล้ง พร้อมประสานเสียงชงข้อเสนอ หยุดกักเด็กในตม. ทำระบบคัดกรอง เช็คจำนวนผู้ลี้ภัยที่แท้จริง และให้รัฐสนับสนุนและออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมกับเด็ก ชู "พังงา – แม่สอด" ต้นแบบบริหารจัดการที่ดี เสนอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้โควต้าฝึกอบรมอาชีพสำหรับเด็กโตเพื่อให้เด็กสามารถดูแลตนเองและครอบครัวได้

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร องค์กรช่วยเหลือเด็กประจำประเทศไทย (Save the children ) จัดงานเปิดตัวงานวิจัย "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย" และเวทีเสวนา "เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย สู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" เนื่องในสัปดาห์วันผู้ลี้ภัยโลกประจำปี พ.ศ. 2561

น.ส. รติรส ศุภาพร ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กระดับภูมิภาคเอเชียได้เปิดตัวงานวิจัยอนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัยโดยระบุถึงรายละเอียดที่สำคัญในการจัดทำงานวิจัยเรื่องนี้ว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันในส่วนของประเทศไทยได้กลายเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยได้อพยพหนีภัยสงคราม ภัยจากความขัดแย้งทางการเมือง หรือภัยจากการได้รับผลกระทบจากความเชื่อทางศาสนาเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ลี้ภัยในประเทศไทยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่พักอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทยเมียนมาและผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยในเมือง โดยผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยในเมือง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กกล่าวต่อว่า จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)ได้ระบุตัวเลขผู้ลี้ภัยในเมืองว่ามีประมาณ 6,000 คน ซึ่งเป็นเด็กมากกว่า 2,000 คน จากกว่า 50 ชาติพันธุ์ ประมาณ 55% เป็นคนปากีสถาน 10% มาจากเวียดนาม 6% มาจากปาเลสไตน์ และที่เหลืออีกกว่า 30% มาจากโซมาเลีย ซีเรีย อิรัก ศรีลังกา กัมพูชา จีน อิหร่าน และอื่น ๆ โดยผู้ลี้ภัยเหล่านี้กำลังรอโอกาสที่จะได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ประเทศที่สาม แต่โอกาสมีน้อยมาก ซึ่งในปีพ.ศ. 2561 ที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยจากไทยไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพียงแค่ 5.5.% จากจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองทั้งหมด

น.ส. รติรส เปิดเผยข้อมูลต่อว่า ในการทำวิจัยเราได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเด็กๆจำนวนหนึ่งที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพราะพ่อแม่ของพวกเขาถูกจับเด็กๆ ก็จะได้รับผลกระทบด้วยการถูกจับไปด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กๆที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักกันจะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือได้รับการดูแลที่เหมาะสม เราพบว่าสถานกักกันเหล่านั้นไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อการอยู่ระยะยาว สภาพที่เป็นอยู่นั้นแออัด ห้องกักมีขนาดเพื่อรองรับคนประมาณ 10 – 20 คนเท่านั้น แต่มีคนถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องนั้นกว่า 150 คน มีห้องอาบน้ำ 1 ห้อง และห้องส้วม 1 ห้องเท่านั้น ผู้ต้องกักต้องผลัดกันยืน ผลัดกันนอน สิ่งแวดล้อมมีสภาพสกปรก มีหนอน หนู แมลงสาบ และยุง อีกทั้งพยาธิซึ่งนำมาซึ่งโรคติดต่อเช่น โรคตาแดง ไข้หวัด และอื่น ๆ ซึ่งในสถานกักกันมีการกำหนดให้แยกกักผู้ชาย และผู้หญิงและเด็ก แต่จากการลงเก็บข้อมูลในงานวิจัยของเรา เราพบกรณีการกักกันอย่างไม่เหมาะสมกับเด็ก ๆ โดยเด็กชายที่มีลักษณะร่างกายค่อนข้างโตแล้วแต่อายุของเด็กยังน้อยอยู่ก็ถูกแยกไปอยู่ห้องผู้ต้องกักชาย โดยที่ไม่มีกำหนดเกณฑ์อายุที่ชัดเจนแต่อย่างใด ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วถ้าพ่อของเด็กถูกกักอยู่ในห้องกักนั้น เด็กชายคนนั้นก็ควรที่จะได้อยู่กับพ่อของเขา แต่มันก็ไม่เป็นเช่นนั้น เด็กชายคนนี้ก็จะถูกกักตัวโดยปราศจากผู้ปกครองในห้องกักที่มีผู้ใหญ่อีกมากกว่า 100 คน ซึ่งเราพบข้อมูลที่น่าน่าตกใจมากคือมีเหตุข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศในสภาพแวดล้อมเช่นนี้บ่อยครั้ง

"เด็กคนหนึ่งที่นำตัวออกมาถูกกระทำทางเพศ การที่เจ้าหน้าที่ตม.ย้ายเด็กผู้ชายไปยังห้องกักชายเป็นเหตุให้พวกเขาถูกละเมิด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลาหลายปี เด็กส่วนใหญ่หรือทั้งหมดถูกละเมิดที่นั่น แต่เด็กเหล่านี้ก็มีความหวาดกลัวและอายเกินไปที่จะรายงานเหตุที่เกิดขึ้น พวกเขาบอบช้ำมากเกินไปทำให้มีความนับถือตัวเองต่ำ" น.ส.รติรสกล่าว

ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กระบุอีกว่า นอกจากเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศกับเด็กแล้วการจัดอาหารให้ผู้ต้องกักก็ไม่เพียงพอ ให้สภาพห้องที่คับแคบ ทำให้เด็กไม่สามารถที่จะควบคุมสิ่งแวดล้อมรอบตัวพวกเขาได้เลย ด้วยเงื่อนไขความเป็นอยู่เช่นนี้ ประกอบกับการถูกตัดขาดจากโลกภายนอก การเข้าไม่ถึงการศึกษา และไม่มีพื้นที่ให้เล่น ล้วนส่งผลต่อปัญหาทางจิตใจของพวกเขาในระยะยาว

น.ส.รติรสกล่าวว่า นอกจากนี้เด็กๆผู้ลี้ภัยในประเทศไทยยังต้องเผชิญกับภาวะของการถูกทำให้โดดเดี่ยวเนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัย ผู้ลี้ภัยต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างหวาดกลัวตลอดเวลา เพราะเหตุนี้ ครอบครัวผู้ลี้ภัยมักจะอาศัยอยู่อย่างหลบซ่อน และบางคนพยายามอยู่แต่ในบ้าน จะออกจากที่พักก็ต่อเมื่อจำเป็นจริงๆ ที่พักพิงในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงห้องหนึ่งห้องที่เด็ก ๆ ไม่มีพื้นที่ให้เล่น ผู้ลี้ภัยก็เกรงว่าเพื่อนบ้านของพวกเขาคิดว่าถ้าลูกของพวกเขาทำเสียงดังมาก พวกเขาจะโทรหาตำรวจ ด้วยเหตุนี้ผู้ปกครองมักจะคอยเฝ้าดูและจำกัดการเล่นของเด็ก ๆ

"สิ่งที่เลวร้ายที่สุดสำหรับเด็กคือการขาดอิสรภาพ พวกเขาไม่สามารถเล่นตรงระเบียงทางเดินได้ด้วยซ้ำ ครอบครัว ๆ หนึ่งมีสมาชิกอย่างน้อยสี่หรือห้าคน ขนาดห้องของพวกเขามีขนาดเล็กมาก แล้วเด็กๆ จะเล่นได้ยังไง ถ้าพวกเขาไปเล่นตรงระเบียงทางเดิน และส่งเสียงดังก็อาจทำให้เพื่อนบ้านไม่พอใจ พวกเด็ก ๆ ก็ไม่เข้าใจ และก็โดนต่อว่า ทั้งที่มันไม่ใช่ความผิดของพวกเขาเลย พวกเขาก็แค่อยากจะเล่นเท่านั้น" ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กกล่าว

น.ส.รติรสกล่าวว่า การที่ต้องถูกกักบริเวณและใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดกลัวอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดสภาวะที่ตึงเครียดมากสำหรับครอบครัวและเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยในเมือง การถูกทำให้โดดเดี่ยวเช่นนี้ขัดขวางการพัฒนาของเด็ก ตัวอย่างเช่น เด็ก ๆ อาจไม่รู้จักว่าควรประพฤติตัวหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่น ๆ อย่างไร สิ่งนี้อาจมีผลกระทบในระยะยาวสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เนื่องจากการเรียนรู้ทางสังคมเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำความเข้าใจและคงไว้ซึ่งความรู้ ในที่สุดเด็ก ๆ ก็สะสมความวิตกกังวลและประสบปัญหาทางจิตใจได้ นอกจากนี้ยังมีปัญหาของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การแต่งงานในวัยเยาว์ การค้ามนุษย์ ซึ่งการที่เด็กผู้หญิงไม่ได้ไปโรงเรียนก็ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การค้ามนุษย์

ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กยังได้ยกตัวอย่างของประเทศมาเลเซียที่มีระบบการจัดการกับผู้ลี้ภัยที่อยู่ในระหว่างการรอสถานะที่ทำให้เด็กและครอบครัวของผู้ลี้ภัยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและหวาดกลัวและทำให้ผู้ลี้ภัยสามารถดูแลตนเองได้ ที่มาเลเซียผู้ลี้ภัยที่ขึ้นทะเบียนและอยู่ในระหว่างการรอพิจาณาสถานะจาก UNHCR หรือผู้ที่ได้รับสถานะจาก UNHCR ให้เป็นผู้ลี้ภัยแล้วและกำลังรอการเดินทางไปยังประเทศที่สามซึ่งรายชื่อของทุกคนที่ได้รับการรับรองแล้วจะถูกรวบรวมไปให้เจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะนำรายชื่อไปจัดทำเป็นฐานข้อมูลและเก็บไว้ในแอพพลิเคชั่นและเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเจอผู้ลี้ภัยที่สงสัยว่าเข้าเมืองอย่างถูกกฏหมายหรือไม่ก็สามารถเช็คข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นได้ และเมื่อผู้ลี้ภัยมีรายชื่อปรากฏในแอพพลิเคชั่นก็จะไม่ถูกจับกุมตัวและผู้ลี้ภัยบางกลุ่มสามารถทำงานได้

น.ส. รติรส กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 (the 1951 Refugee Convention) หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ.2510 (the 1967 Protocol) แต่เมื่อเดือนกันยายน ปีพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมาในที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย ที่กรุงนิวยอร์ก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะจัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยเองเพื่อจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์และสนับสนุนหลักการไม่ส่งกลับ (Non Refoulement) และรัฐบาลไทยยังได้สัญญาในการประชุมครั้งนั้นอีกว่าจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สุขภาพ และการแจ้งเกิดให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังรับรองอีกว่าจะยุติการคุมขังผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่เป็นเด็ก แต่ในความเป็นจริงจากการลงพื้นที่เพื่อทำงานวิจัย เรื่อง "อนาคตที่ถูกลืมของเด็กผู้ลี้ภัย"ขององค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children ) ซึ่งเป็นงานวิจัยที่ระบุถึงข้อมูลและสถานการณ์ของเด็กผู้ลี้ภัยและเด็กผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ภายนอกค่ายผู้อพยพ เรากลับพบว่าเด็ก ๆ ยังถูกละเมิดสิทธิและถูกปฏิเสธที่จะได้รับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในหลากหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการถูกจับกุมคุมขังรวมกับผู้ใหญ่และถูกคุกคามทางเพศในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เด็กในวัยเล็ก ๆ ต้องถูกแยกจากครอบครัว ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวและไม่ปลอดภัย นอกจากนี้แล้วเด็ก ๆ เหล่านี้ก็ไม่สามารถเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐานและการศึกษา

ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการโยกย้ายถิ่นฐานและการพลัดถิ่นองค์การช่วยเหลือเด็กกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีส่วนที่สำคัญที่สุดอีกเรื่องในการทำงานวิจัยชิ้นนี้คือเรื่องการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัย ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของเราพบว่าในกรุงเทพมหานครมีเด็กผู้ลี้ภัยอยู่ในโรงเรียนจำนวน 600 คน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ไม่ได้รับการยืนยันและอาจไม่ถูกต้อง สิ่งที่แน่นอนคือเด็กผู้ลี้ภัยและแสวงหาที่ลี้ภัยส่วนใหญ่ออกจากโรงเรียนหรือได้รับการศึกษานอกระบบ ในขณะที่กำลังแสวงหาที่พักพิงในกรุงเทพเด็ก ๆ อาจเสี่ยงที่จะสูญเสียโอกาสทางการศึกษา และต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับพบว่าอุปสรรคต่อการเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยในเมืองมีดังต่อไปนี้ ถึงแม้ว่าไทยจะมีนโยบายว่า เด็กทุกคนไม่ว่าสัญชาติใดสามารถที่จะเข้าถึงการศึกษาของรัฐได้ฟรี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ยังคงมีเด็กผู้ลี้ภัยที่ควรได้ไปโรงเรียนเข้าไม่ถึงการศึกษาด้วยปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การรับรองเอกสาร ภาษาที่ใช้สอนและการเทียบระดับชั้น การกลั่นแกล้งและการเลือกปฏิบัติ ความปลอดภัย การเดินทาง และค่าใช้จ่าย ศักยภาพของสถานที่รองรับและความสามารถของครู และ ความแตกต่างทางทัศนคติและการขาดความรู้ของผู้ที่ทำงานให้ความช่วยเหลือ

"ดังนั้นจากงานวิจัยที่เราได้จัดทำขึ้นมาจึงแสดงให้เห็นแล้วว่ามีเด็กๆ ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้รับผลกระทบทั้งเรื่องการถูกกักตัวในตม.เรื่องการเข้าถึงการศึกษาและเรื่องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ เราจึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลจัดการกับเด็กผู้ลี้ภัยอย่างเหมาะสมดังนี้ 1. ให้นำเด็กออกจากสถานกักกันของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองโดยทันที ไม่ควรมีเด็กคนไหนที่จะต้องถูกกันตัวในสถานที่และสภาพแวดล้อมแบบนั้น และให้รัฐจัดหาสถานที่ที่เหมาะสมให้กับเด็กและครอบครัวได้พักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยไม่แยกครอบครัวของเด็กด้วย 2.ขอให้รัฐส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาให้กับเด็กผู้ลี้ภัยตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในการประชุมสุดยอดผู้นำโลกว่าด้วยวิกฤตผู้ลี้ภัย ที่กรุงนิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายนปีพ.ศ. 3559 ว่าจะส่งเสริมให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงบริการด้านการศึกษา สุขภาพ และการแจ้งเกิดให้มากขึ้น ทั้งนี้เราขอให้การจัดการศึกษาของรัฐเป็นไปในรูปแบบของที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่จะสามารถกลับไปใช้ชีวิตต่อในประเทศที่สามหรือประเทศต้นทางของเด็กได้ ซึ่งองค์การช่วยเหลือเด็กมีต้นแบบการจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชนหลากหลายแห่งที่รับเด็กผู้ลี้ภัยเข้าไปศึกษาต่อที่จะร่วมใช้เป็นต้นแบบให้กับรัฐได้ 3.ขอให้รัฐมีการจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพของครูและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนของรัฐ, ตำรวจตม ตำรวจท่องเที่ยว และตำรวจทั่วไป และผู้ทำงานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยให้เข้าใจถึงสิทธิและการปฏิบัติต่อเด็กๆผู้ลี้ภัยด้วย" น.ส.รติรสกล่าว

ด้านนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนา "เปิดอนาคตที่ถูกลืมของเด็กลี้ภัยสู่การจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย" ว่า ภาพรวมประเทศไทยยังไม่รับรองสถานะผู้ลี้ภัย และยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณในอนุสัญญาสถานภาพผู้ลี้ภัยปี 1951 ของสหประชาชาติ ไทยจึงไม่มีแนวทางในการจัดการปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ ในปัจจุบันเนื่องจากปัญหาความยากจน การขาดแคลนอาหาร ปัญหาภัยพิบัติ ภาวะความรุนแรงจากความขัดแย้ง หรือการสู้รบในหลายพื้นที่ทั่วโลก ทำให้ผู้คนในหลากหลายประเทศต้องย้ายถิ่น กลายเป็นเป็นผู้อพยพ (Migration) ผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิง และมีจำนวนไม่น้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวโดยกลุ่มคนเหล่านี้จะขอสถานะผู้ลี้ภัย (Refugees) จากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNHCR) ซึ่งหากได้รับสถานะผู้ลี้ภัยคนกลุ่มนี้ก็จะสามารถพำนักในประเทศไทยได้ โดยได้รับการดูแลจาก UNHCR เพื่อรอการเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและหากเป็นผู้ไม่มีเอกสาร เช่นหนังสือเดินทาง หรือวีซ่า หรือหนังสือเดินทางหรือวีซ่าหมดอายุ คนกลุ่มนี้ก็จะอยู่ในประเทศไทยในฐานะผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือ overstay ซึ่งหากเจ้าหน้าที่พบเห็นก็จะถูกจับกุมและถูกกักที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อรอการส่งกลับประเทศต้นทาง

"เคยมีเรื่องร้องเรียนมายัง กสม. เรื่องกักตัวเด็กที่เดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง เพราะเมื่อผู้ปกครองถูกจับและถูกกักในห้องกัก เด็กก็จะถูกกักไปด้วย แม้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะมี Day Care ที่ใช้เป็นสถานที่ดูแลเด็กในเวลากลางวัน แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับเด็กทุกคน และแม้จะมีเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ เช่น IOM (International Organization for Migration) เข้ามาช่วยดูแลหรือสอนหนังสือเด็กในห้องกัก แต่ปัญหาสำคัญ คือ เด็กที่ย้ายถิ่นมากับครอบครัวยังคงถูกกักขัง และขาดโอกาสในการศึกษา และการพัฒนาตามวัย และหากเทียบกับผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ เมื่อคลอดลูกแล้วเด็กจะได้รับอนุญาตให้อยู่กับแม่ภายในบริเวณที่ไม่ใช่ห้องขัง และเมื่อเด็กอายุ 1 ปีก็ให้ญาติ หรือให้บ้านพักเด็กรับไปดูแลแทน แต่กรณีเด็กที่ย้ายถิ่นโดยเดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง และถูกกักในห้องกัก ปัจจุบันหน่วยงานความมั่นคงกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการดูแลเด็ก"นางอังคณา กล่าว

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังยกตัวอย่างการบริหารจัดการที่ดีในการดูแลกลุ่มเด็กผู้ลี้ภัยที่ติดตามครอบครัว และถูกจับโดยอยู่ในการดูแลของบ้านพักเด็กในหลายจังหวัด เช่น เด็กๆชาวโรฮิงยาที่ได้รับการดูแลที่บ้านพักเด็กจังหวัดพังงา ซึ่งทางบ้านพักจะส่งเด็กไปโรงเรียนในท้องถิ่น ทำให้เด็กได้เรียนรู้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และได้รับการพัฒนาตามวัย อีกทั้งทางบ้านพักยังสอนให้เด็กทำอาชีพเสริม เช่น การปลูกผัก หรือเลี้ยงปลาไว้ขายเพื่อมีรายได้ หรือที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีชาวเมียนมาที่อพยพเข้ามาหางานทำในฝั่งไทยจำนวนมาก โดยชาวเมียนมาที่นับถือศาสนาพุทธ และมีหนังสือรับรองสัญชาติจะได้รับใบอนุญาตทำงาน แต่ชาวเมียนมามุสลิมที่อพยพเข้ามาพร้อมครอบครัวมักไม่ได้รับสัญชาติ จึงกลายเป็นผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายเพราะไม่มีเอกสารทางทะเบียน และไม่สามารถขออนุญาตทำงานได้ คนเหล่านี้จึงต้องอยู่อย่างหลบๆซ่อนๆ แต่ในชุมชนแม่สอด มีโรงเรียนอิสลามศึกษา ที่สอนศาสนาอิสลามได้รับเด็กๆ เหล่านี้ให้มีโอกาสเข้าเรียน โดยทางโรงเรียนมีการสอนแบบสามัญเพื่อให้เด็กมีโอกาสสอบเทียบในหลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ในขณะที่เด็กในครอบครัวผู้อพยพที่อยู่ในกรุงเทพฯยังพบมีปัญหาทัศนคติ ทำให้โรงเรียนหลายแห่งไม่รับเด็กๆเหล่านี้เข้าเรียนในโรงเรียน พบว่าโรงเรียนบางแห่งขอดูเอกสารการเข้าเมืองของบิดามารดา ทำให้บิดามารดาเกิดความหวาดกลัวว่าโรงเรียนจะแจ้งความจับ จึงไม่กล้านำเด็กไปโรงเรียน

นางอังคณา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการศึกษาแล้ว เด็กในครอบครัวผู้อพยพยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลด้วย พบว่าโรงพยาบาลของรัฐบาลบางแห่งติดป้ายประกาศว่าไม่รับรักษาผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาล หรือแม้แต่สิทธิในการได้รับวัคซีนป้องกันโรคตามวัย แต่ในขณะที่ในต่างจังหวัดหลายแห่งสามารถใช้สิทธิผู้ป่วยยากไร้เพื่อให้การรักษาแก่เด็กๆเหล่านี้ได้

"การเข้าไม่ถึงสิทธิในการศึกษา หรือการรักษาพยาบาล ถือว่าขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 และตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ "ประเทศไทยจำเป็นต้องรีบเร่งในการแก้ปัญหาเด็กที่อพยพมากับครอบครัว จะต้องไม่มีการกักขังเด็กอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเด็กไม่ได้ทำความผิด เด็กเป็นเพียงผู้ติดตามครอบครัวในการย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาที่ที่ปลอดภัย หรือเพื่อการมีชีวิตรอด การให้ความคุ้มครองเด็กและให้เด็กสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิในการศึกษา หรือการรักษาพยาบาลจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากวันข้างหน้าเมื่อเด็กมีโอกาสได้เดินทางไปประเทศที่สาม หรือสามารถกลับประเทศต้นทางได้ เด็กๆเหล่านี้จะสามารถเริ่มชีวิตใหม่ได้" นางอังคณา กล่าว

นางอังคณา ยังเปิดเผยด้วยว่า ในปลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียน ว่ามีเด็กผู้ลี้ภัยชาวแอฟริกา 4-5 คนถูกจับโดยลำพัง หลังจากกลับจากโรงเรียน ซึ่งเด็กเหล่านั้น อายุเพียง 11-12 ปี ทั้งที่ตามปกติเด็กจะถูกจับพร้อมผู้ปกครอง เมื่อได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า สตม. ได้รับเด็กจากสถานีตำรวจแห่งหนึ่งจึงต้องนำมากักไว้ในห้องกักโดยที่ สตม.ก็ไม่มีอำนาจในการกักเด็กต่ำกว่า 15 ปีได้เนื่องจากเด็กไม่ได้ทำความผิด กรณีนี้ สตม.ได้ขอให้ กสม.เป็นพยานในการส่งมอบเด็กให้อยู่ในความดูแลของมูลนิธิที่ช่วยเหลือเด็ก แต่กรณีเด็กที่อายุมากกว่า 15 ปี ทาง สตม.ผ่อนปรนที่ให้มีการประกันตัวเด็กได้"

กรรมการสิทธิในมนุษยชนแห่งชาติ ยังระบุด้วยว่า กสม. และ องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านผู้ลี้ภัย ได้มีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาทางเลือกแทนการกักเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี โดยการอนุญาตให้เด็กพร้อมผู้ปกครองมีโอกาสพักอาศัยนอกห้องกัก ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้รับทราบปัญหา และพัฒนาไปถึงการดำเนินการให้มีบันทึกความเข้าใจร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ซึ่งหากสำเร็จจะถือว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้ามาก เนื่องจากเด็กและผู้ปกครองจะสามารถใช้ชีวิตข้างนอกห้องกัก ได้รับการศึกษาและกาพัฒนาตามวัยได้ อีกทั้งยังทำให้เด็กเข้าถึงสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรม เด็กมีโอกาสเรียนรู้ภาษาแม่และภาษาท้องถิ่น และเมื่อวันหนึ่งเด็กต้องกลับไปประเทศต้นทาง หรือเดินทางไปประเทศที่สาม เด็กจะสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้

"นอกจากนี้ประเทศไทยควรมีระบบคัดกรองผู้อพยพผู้ลี้ภัย เพื่อทำบันทึกประเทศไทยมีจำนวนผู้ลี้ภัยในเมืองทั้งสิ้นเท่าใด ระบบคัดกรองมีความสำคัญมากต่อการวางแผนบริหารจัดการผู้อพยพเหล่านี้ ที่ผ่านมา UNHCR มีข้อเสนอต่อประเทศไทยว่าเด็กควรที่จะอยู่ในชุมชน หรือ เรียนในโรงเรียนทั่วไป เพราะถ้าเด็กถูกกัก หรือถูกแยกมาอยู่ในบ้านพัก โดยไม่มีโอกาสมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน จะทำให้เด็กไม่มีพัฒนาการการเรียนรู้ที่จะอยู่ในสังคมได้ ทั้งนี้ในการบริหารจัดการเรื่องเด็กผู้ลี้ภัยสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ ผลประโยชน์ของเด็กต้องมาก่อนเป็นลำดับแรก" นางอังคณาระบุ

ขณะที่ น.ส.ปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีกฎหมายโดยตรงที่จะมีการจัดการกับผู้ลี้ภัย แม้ผู้ลี้ภัยและครอบครัวจะไปลงทะเบียนกับUNHCR หรือ ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้วก็ตามแต่เมื่ออยู่ในประเทศไทยผู้ลี้ภัยที่เหล่านี้ก็ยังเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายอยู่ดีเพราะเครื่องมือที่รัฐใช้อยู่ขณะนี้ คือ พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้งนี้การเข้ามาในประเทศไทยของผู้ลี้ภัยมีสองช่องทางคือการเข้ามาและขอสถานภาพอย่างถูกกฎหมาย โดยมีพาสปอร์ตและวีซ่าครบถ้วน แต่เนื่องด้วยการดำเนินการขอสถานะต้องใช้เวลานานทำให้ระหว่างรอการได้รับสถานะส่งผลให้วีซ่าหมดอายุ และตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองเมื่อวีซ่าหมดอายุก็จะส่งผลให้กลุ่มผู้ลี้ภัยเป็นคนผิดกฎหมายตามพ.ร.บ.คนเข้าเมืองทันที โดยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 จะเจอปัญหาเช่นนี้ ขณะที่อีกสาเหตุหนึ่ง คือ การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายตั้งแต่ต้น เช่น เข้าทางตามช่องทางธรรมชาติ หรือ ใช้หนังสือเดินทางปลอม เพราะต้องหนีสงครามมาทำให้ไม่มีเอกสารใดๆติดตัว โดยการเข้ามาทั้งสองช่องทางส่วนใหญ่จะมีเด็กเป็นผู้ติดตามมาด้วยและเด็กๆซึ่งเป็นผู้ติดตามพ่อแม่ก็จะได้รับผลกระทบ

"แม้ว่าโทษปรับเข้าเมืองผิดกฎหมาย จะเป็นโทษปรับที่อัตราโทษไม่รุนแรง แต่หลังจากนั้นคนเหล่านี้จะถูกส่งไปที่ตม.เพื่อส่งกลับประเทศต้นทาง ซึ่งในข้อเท็จจริงพวกเขากลับไม่ได้ เพราะเป็นผู้ลี้ภัย ถ้ากลับไปก็ตายแน่ ก็กลายเป็นว่าคนเหล่านี้จะถูกให้อยู่ในห้องกักอย่างไม่มีกำหนดซึ่งการต้องอยู่ในห้องกักของตม.เป็นระยะเวลานานไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัยที่เป็นผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นหากแต่ส่งผลกระทบกับเด็กซึ่งเป็นผู้ติดตามพ่อแม่เข้ามาด้วย โดยเฉพาะผลกระทบในเรื่องสิทธิการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ เพราะแม้ว่ารัฐไทย จะมีนโยบาย Education for all หรือการศึกษาเพื่อคนทั้งมวลสำหรับเด็กทุกคนแต่มีปัญหาอยู่ที่ ผู้ปกครองที่จะพาไปโรงเรียนยังถูกกักตัวอยู่ในตม. เด็กเองก็ยังถูกกักตัวพร้อมกับผู้ปกครอง และหากไม่ถูกกักตัวครอบครัวของผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเมืองหลวงก็ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆซ่อนๆ และมีความเสี่ยงที่จะถูกจับจึงทำให้ไมกล้าส่งลูกไปโรงเรียนก็ทำให้เด็กๆขาดโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาไป หรือแม้แต่เด็กที่โตหน่อยที่ไปโรงเรียนเองได้หน่อยก็ถูกจับระหว่างทางไปโรงเรียนก็มี การเข้าถึงการศึกษาของเด็กผู้ลี้ภัยจึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รอการจัดการที่เหมาะสม"น.ส.ปริญญา กล่าว

น.ส.ปริญญา กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญในเรื่องการศึกษาของเด็กๆผู้ลี้ภัยคือการสื่อสาร เพราะการที่ผู้ลี้ภัยจะต้องเข้าเรียนที่โรงเรียนไทย มักมีปัญหาเรื่องการใช้ภาษาไทย แม้ว่าจะมีองค์กรเอกชนที่คอยสอนภาษาไทยเพื่อที่จะได้เข้าเรียนโรงเรียนไทยได้ แต่ในขณะเดียวกันงบประมาณก็มีอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการและจำนวนของเด็ก อีกทั้งผู้ลี้ภัยหลายคนไม่คิดว่าการรอส่งตัวไปประเทศที่สามจะใช้เวลาที่ยาวนานจึงไม่คิดว่าจะต้องเรียนภาษาไทย ทำให้สถิติผู้ลี้ภัยทั้งหมดเกือบครึ่งเป็นเด็ก และในจำนวนนี้มีหลักร้อยคนเท่านั้นที่ได้เข้าเรียน นอกจากบางครอบครัวที่มีศักยภาพ หรือ ในอดีตมีโรงเรียนอินเตอร์ บางแห่งให้ทุนการศึกษา

"มีเคสหนึ่งเมื่อปี 2016 เด็กผู้ลี้ภัยได้เรียนโรงเรียนอินเตอร์ เป็นนักกีฬา สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน ไปทัศนศึกษาที่จ.เชียงรายกับโรงเรียน แต่ปรากฏว่าขากลับเด็กกลับถูกจับ ต้องขึ้นศาลต่อสู้คดี แต่สุดท้ายศาลเยาวชน ก็ตัดสินว่าเด็กไม่ได้หนีไปไหน เด็กได้สถานะแล้วแต่กำลังจะไปประเทศที่สาม ให้กลับไปเรียนต่อได้ ซึ่งเคสนี้ถือว่าเป็นเคสที่โชคดี ที่ได้กลับไปเรียน และได้ขึ้นศาลเยาวชน เพราะปกติเวลาเด็กผู้ลี้ภัยในเมืองถูกจับส่วนใหญ่ขึ้นศาลผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่ามีปัญหา และแม้ว่าที่ผ่านมารัฐจะบอกว่าไม่จับเด็ก จับเฉพาะผู้ใหญ่ แต่เด็กเหล่านี้คือผู้ติดตามพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ถูกจับจะเอาเด็กไปไว้ที่ไหน"น.ส.ปริญญา กล่าว

ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ยังระบุด้วยว่า ไทยอยู่ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่งบทบัญญัติทางกฎหมายคุ้มครองเด็กทุกคน แต่ยังไม่ถูกนำไปใช้ จึงต้องผลักดันให้ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ขอเสนอไปยังรัฐบาล ควรที่จะให้การรับรองการมีตัวตนของผู้ลี้ภัย เพื่อให้เขามีความหวาดกลัวน้อยลง เปิดทางให้เด็กได้ไปโรงเรียนมากขึ้น ซึ่งเห็นว่าในแง่นโยบายการศึกษาไทยดีอยู่แล้ว คือรัฐสนับสนุนให้ทุกคนได้เรียน แต่ควรแก้ไขในทางปฏิบัติ เพราะเมื่อเด็กไม่ได้รับสถานะ ก็ทำให้ไม่สามารถไปเรียนได้ ทำให้เกิดภาวะลักลั่นขึ้น นอกจากนี้ผู้ลี้ภัยที่ได้สถานะแล้วรัฐควรที่จะเปิดให้คนเหล่านี้ได้ทำงานอย่างถูกต้อง เพราะแม้จะเรียนฟรี แต่ผู้ปกครองต้องมีค่าใช้จ่ายบางอย่าง เช่น ค่าเดินทางไปโรงเรียน หรือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ซึ่งหากดำเนินการตามข้อเสนอนี้จะทำให้ปัญหาต่างๆดีขึ้น

ขณะที่นางกรแก้ว พิเมย ผู้อำนวยการโครงการ Urban Education Project (UEP) องค์การเยสุอิตสงเคราะห์ผู้ลี้ภัย กล่าวว่า ปัญหาที่พบเจอคือผู้ลี้ภัยขาดโอกาสทางการศึกษา ที่จะต้องเรียนตามระบบการศึกษาไทย แต่ปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมไทยและภาษาไทย ลำบาก ทางองค์กรจึงได้เปิดคอร์สอบรมระยะสั้น 6 เดือน ให้ผู้ลี้ภัยจากหลากหลายเชื้อชาติได้ เรียนฟรี ในวิชาต่างๆ เช่น การสื่อสาร ตัดเย็บ หรือ คอมพิวเตอร์ขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะดูแลไปถึงค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าเช่าบ้าน เพื่อเติมเต็มปัจจัยขั้นพื้นฐานเพื่อให้มาเรียนได้อย่างไม่ตัดขัดอะไร โดยจัดไปแล้ว 3 รุ่น ๆละ 35 คน แต่ด้วยข้อจำกัดของเงินทุนทำให้ไม่พอเพียงต่อผู้ที่สนใจลงทะเบียนกว่า 400 คน ทั้งนี้ในส่วนหลักสูตรที่สอนนั้น จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้หางานทำต่อได้ ไม่ว่าในขณะที่อยู่ในไทย หรือไปประเทศที่สามแล้ว

"การอบรมครั้งหนึ่งจะเฉลี่ยทั้งเชื้อชาติ เพศอายุ แต่เราจะให้ความสำคัญกับกลุ่มเยาวชนก่อน เพราะผู้ใหญ่เขามีครอบครัว เขารู้ว่าต้องดำเนินชีวิตอย่างไร แต่กลุ่มยาวชน เป็นวัยรุ่นที่โตขึ้นมากำลังจะเป็นผู้ใหญ่ มีความสับสนจะเอาอย่างไรกับชีวิต ถ้าเราเอาเขามาเทรนด์ มารับการศึกษาทักษะ โดยเฉพาะทักษะการเข้าสังคมในพหุวัฒนธรรม มันก็จะดีกับเขา"นางกรแก้ว กล่าว

นางกรแก้ว ยังกล่าวด้วยว่า ปัญหาสำคัญที่สุด คือ การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ โดยองค์กรได้เน้นตั้งแต่เด็กวัยรุ่น เด็กโต รวมถึงผู้ใหญ่ ที่ในบางครั้งจะพาไปฝึกทักษะอาชีพกับหน่วยงานภาครัฐ แต่ขาดคุณสมบัติที่จะเรียนได้ เช่น ของกรุงเทพมหานคร ที่มีศูนย์ฝึกอาชีพแต่ให้เฉพาะคนไทยเท่านั้น จึงอยากให้รัฐบาลเปิดโอกาส อย่างน้อยต้องจัดโควต้าในแต่ละรอบ แต่ละปี เพราะถ้าพวกเขาเหล่านี้มีโอกาสพัฒนาทักษะต่างๆ หรือมีการศึกษาที่สูงขึ้น ก็จะสามารถนำไปต่อยอดในประเทศที่สามได้ หรือ อย่างกศน. ที่บอกว่ามาเรียนได้ แต่เป็นภาษาไทย ซึ่งส่วนใหญ่ในกลุ่มของเด็กโต จะปรับตัวอยาก มีปัญหาเรื่องภาษา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๒ พ.ย. รีเลชั่นชิพรีพับบลิค แนะกลยุทธ์สำคัญ นำพาธุรกิจร้านอาหารสู่ความสำเร็จ มัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด
๒๒ พ.ย. ชมนวัตกรรมสุดล้ำในงาน METALEX 2024 หลายแบรนด์แกะกล่องเครื่องจักรครั้งแรกในงานนี้
๒๒ พ.ย. Bangkok Illustration Fair 2024 สู่การเติบโตก้าวใหญ่ในปีที่ 4
๒๒ พ.ย. ผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลโดย IMD ประจำปี 2567 TMA เผยไทยครองอันดับ 37 ในการจัดอันดับด้านดิจิทัลปีนี้
๒๒ พ.ย. โก โฮลเซลล์ จัดเต็มสินค้า ส่งสุข สุดอร่อย เฉลิมฉลองเทศกาลส่งท้ายปี เข้มกระเช้าปีใหม่ดีมีมาตรฐาน พร้อมชู อาหารแช่แข็ง-อาหารสด
๒๒ พ.ย. กทม. จับมือสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ประจำประเทศไทย จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ACTIVE Workshop เมืองเดินเท้า และจักรยานสัญจร ครั้งที่
๒๒ พ.ย. สัมผัสความหรูหราของวิลล่าริมทะเล VEYLA NATAI RESIDENCES ผ่านประสบการณ์เหนือระดับในงาน SOUL of VEYLA
๒๒ พ.ย. 'แอสเซทไวส์' จับมือ 'สยามกีฬา' เปิดศึกลูกหนังยุวชนทัวร์นาเมนต์ใหญ่แห่งปี AssetWise Siamkeela Cup 2024-25 ต่อเนื่องเป็นปีที่
๒๒ พ.ย. โรงแรมเรเนซองส์ เปิดตัว R FINDS แพลตฟอร์มดิจิทัลระดับโลก ที่จะเชื่อมมนต์เสน่ห์ชุมชนท้องถิ่นสู่นักเดินทางทั่วโลก
๒๒ พ.ย. electric.neon.lamp หยิบเพลงฮิต แม้ ใส่ฟีลดนตรีเหงาปนเศร้าในแบบ Piano Version