ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้แบ่งการคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ
1. การคุ้มครองตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทยโดยแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ1.1ตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติที่มีประโยชน์หรือมีคุณค่าในทางการแพทย์หรือการสาธารณสุขเป็นพิเศษและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดให้เป็นตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ หากผู้ใดประสงค์ จะนำไปใช้ประโยชน์ในทางการค้า หรือประสงค์จะทำ การศึกษาวิจัย ตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ ผู้นั้นจะต้องยื่นคำขอรับอนุญาตใช้ประโยชน์และชำระค่าธรรมเนียมรวมทั้งค่าตอบแทนสำหรับการใช้ประโยชน์ดังกล่าวต่อผู้อนุญาต 1.2 ตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไปที่มีการใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศ กำหนดให้เป็นตำรับยาแผนไทย หรือตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป 1.3 ตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคลที่มีสัญชาติไทย และมีคุณสมบัติเป็นผู้คิดค้น หรือผู้ปรับปรุงหรือพัฒนาหรือผู้สืบทอด ตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทย บุคคลผู้นั้นมีสิทธินำตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทยของตนมาขอจดทะเบียนสิทธิขอรับการคุ้มครองและเป็นผู้ทรงสิทธิได้ และมีสิทธิในการผลิตยาและใช้ศึกษาวิจัย จำหน่าย ปรับปรุงหรือพัฒนา ตำรับยาแผนไทยหรือภูมิปัญญาในตำราการแพทย์แผนไทยที่ได้จดทะเบียนไว้ และอนุญาตให้บุคคลใช้สิทธิของตนได้
2. การคุ้มครองสมุนไพร ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สามารถออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้สมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ หรืออาจจะสูญพันธุ์ เป็นสมุนไพรควบคุม ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้กวาวเครือเป็นสมุนไพรควบคุม โดยกำหนดให้ (1) ผู้ครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษาหรือขนย้ายกวาวเครือที่มีแหล่งที่มาจากธรรมชาติ หรือหากมีการปลูกเกินกว่าจำนวนหรือปริมาณที่ประกาศกำหนด ต้องแจ้งจำนวนและปริมาณแก่ นายทะเบียน ณ สำนักงานนายทะเบียนกลาง (กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก) หรือสำนักงานนายทะเบียนจังหวัด (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด) ในเขตท้องที่ ภายใน 60 วัน (2) ผู้ปลูกกวาวเครือเพื่อการศึกษาวิจัยหรือส่งออก การจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อการค้า ต้องขออนุญาตและแจ้งสถานที่ปลูก ปริมาณ และวันที่ปลูกแก่นายทะเบียน
3.การคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพร มีมาตรการดำเนินการในพื้นที่ 3 ประเภท ได้แก่ พื้นที่เขตอนุรักษ์ พื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ และที่ดินเอกชน สำหรับกรณีที่ดินเอกชนนั้นเป็นการสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมในการคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาสมุนไพร เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่เป็นถิ่นกำเนิดของสมุนไพร หรือที่ดินที่จะใช้ปลูกสมุนไพร สามารถนำที่ดินนั้นไปขอขึ้นทะเบียนต่อนายทะเบียน เพื่อขอรับความช่วยเหลือหรือการสนับสนุนต่อไป
นพ.ปราโมทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีวาระการดำรงตำแหน่งได้ครั้งละ 2 ปี และกำลังจะพ้นวาระตามตำแหน่ง ลงในวันที่ 29 ธันวาคม 2561 ที่จะถึงนี้ จึงต้องมีการสรรหากรรมการชุดใหม่เข้ามาทำงานแทน โดยผู้ที่สามารถสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มผู้ประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนไทยและสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ (กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย) ในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือมีใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ สาขาการแพทย์แผนไทยและสาขาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เคยปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ในสถานพยาบาล/สถานที่ผลิตยา ขายยา นำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร หรือสถานที่เก็บยาซึ่งยาแผนโบราณ หรือเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล
ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถเสนอชื่อตนเองหรือบุคคลอื่นเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มดังกล่าวฯ
ในคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยได้ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติและดาวโหลดแบบฟอร์มการเสนอชื่อได้ทางเว็บไซต์http://indi.dtam.moph.go.th/,http://www.dtam.moph.go.th ,http://www.thaimed.or.th ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2561ในวันและเวลาราชการโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : กองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาฯ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 0 2159 5607-8 อีเมลล์ [email protected]