แอร์บัส และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงนามข้อตกลงร่วมทุนก่อตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาที่อยู่ใกล้กรุงเทพมหานคร
การลงนามข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในวันนี้ที่สำนักงานใหญ่ของแอร์บัส ณ เมืองตูลูส นำโดยนางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และนายเอริค ชัลซ์ (Mr. Eric Schulz) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายพาณิชย์ของแอร์บัส โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย พร้อมด้วยนายกีโยม โฟรี (Guillaume Faury) ประธานบริหารฝ่ายเครื่องบินพาณิชย์ของแอร์บัส ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามในครั้งนี้
ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานแห่งใหม่นี้จะเป็นหนึ่งในศูนย์ซ่อมฯ ที่มีความทันสมัยและครอบคลุมที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการให้บริการซ่อมบำรุงใหญ่ (Heavy maintenance) และการซ่อมบำรุงอากาศยานระดับลานจอดที่สามารถทำให้แล้วเสร็จได้ที่อากาศยาน (Line services) ให้กับเครื่องบินลำตัวกว้างทุกประเภท ศูนย์ซ่อมฯ แห่งใหม่นี้จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลล่าสุดมาใช้วิเคราะห์ข้อมูลการบำรุงรักษาเครื่องบิน ตลอดจนเทคนิคการตรวจสอบขั้นสูง ซึ่งรวมถึงการใช้โดรนตรวจสอบโครงสร้างของเครื่องบินด้วยเช่นกัน
ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานจะมีโรงซ่อมอากาศยานเฉพาะด้าน ประกอบด้วยศูนย์ซ่อมโครงสร้างคอมโพสิต รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมการซ่อมบำรุงที่ครอบคลุมและครบวงจรสำหรับช่างเทคนิคในประเทศไทยและจากต่างประเทศ
"การบินไทยและแอร์บัสได้ดำเนินการศึกษาและประเมินที่ครอบคลุมทุกด้านเพื่อทำให้แผนพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่น่าจับตามองนี้เกิดขึ้น" นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวและเสริมอีกว่า "ทางการบินไทยและแอร์บัสจะร่วมกันพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เรามั่นใจว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อการบินไทยเป็นอย่างมาก และจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในประเทศไทยให้ก้าวไปไกลยิ่งขึ้น"
"เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงที่สำคัญนี้กับทางการบินไทย" นายกีโยม โฟรี ประธานบริหารฝ่ายเครื่องบินพาณิชย์ของแอร์บัส กล่าวและเสริมอีกว่า "ข้อตกลงนี้จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแอร์บัสและการบินไทยที่มีมาอย่างยาวนานให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อความสำเร็จของเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกของประเทศไทยอีกด้วย ด้วยจำนวนฝูงบินของเครื่องบินลำตัวกว้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าหรือราว 4,800 ลำในอีก 20ปีข้างหน้า โครงการนี้จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่ดีของเราทั้งสองบริษัท"
โครงการร่วมทุนระหว่างแอร์บัสและการบินไทยจะตั้งอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor หรือ EEC)ของประเทศไทย โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นแผนยุทธศาสตร์หลักภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตและบริการโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทยให้ไปสู่ระดับโลก
* * *
เกี่ยวกับแอร์บัส
แอร์บัสเป็นผู้นำระดับโลกในด้านเกี่ยวกับอากาศยาน อวกาศ และการบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2560 แอร์บัสมีรายได้ หรือ 59 พันล้านยูโรที่แถลงใหม่สำหรับ IFRS 15 และมีการจ้างงานราว 129,000 คน แอร์บัสมีเครื่องบินโดยสารที่ครอบคลุมมากที่สุดตั้งแต่ 100 ไปจนถึงกว่า 600 ที่นั่ง แอร์บัสยังเป็นบริษัทผู้นำในยุโรปที่ให้บริการเรือบรรทุกน้ำมัน เครื่องบินต่อสู้ เครื่องบินขนส่งและปฏิบัติภารกิจ รวมถึงบริษัทเกี่ยวกับอวกาศอันดับหนึ่งของยุโรปและธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก ในส่วนของเฮลิคอปเตอร์ แอร์บัสยังให้บริการโซลูชั่นด้านอากาศยานปีกหมุนทางทหารและพลเรือนมีประสิทธิภาพมากที่สุดไปทั่วโลก