ถ้าหากเปรียบเทียบการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ กับชีวิตของคนทั่วไป กว่าจะเดินหลังตรงและแข็งแรงได้ ก็เริ่มต้นมาจากการคลาน เดินเตาะแตะ เดินเร็ว และเดินหลังตรงได้ในที่สุด เฉกเช่นเดียวกับ ตลาดตราสารอนุพันธ์ที่ยุคต้นๆ อาจจะไม่เป็นที่ยอมรับ โดยผู้ลงทุนอาจมองว่าเป็นการลงทุนที่ซับซ้อน และลงทุนยาก จึงทำให้ช่วงเริ่มต้น การสร้างการรับรู้และการเข้าถึง ถือเป็นเรื่องยาก แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ การซื้อขาย Futures-Options เติบโตอย่างต่อเนื่อง อาจจะอยู่ในระดับที่เรียกว่าเริ่มเดินเร็วขึ้น และกำลังจะวิ่ง เนื่องจากตลอดช่วงที่ผ่านมา ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ TFEX ได้เสริมสร้างภูมิความรู้ให้แก่ผู้ลงทุนทั้งมือใหม่และมือเก๋าอยู่ตลอดเวลา และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ลงทุนเห็นประโยชน์ และเร่งเรียนรู้กันมากขึ้น รวมถึงรับรู้แล้วว่า การซื้อขายอนุพันธ์ไม่ได้ซับซ้อนอย่างที่คิด แถมยังใช้ช่วยกระจายความเสี่ยง และสร้างกำไรได้ตลอด หากจับจังหวะการเทรดได้ถูกต้อง
สอดคล้องกับมุมมองของ "ดร. สุทธิสิทธิ์ แจ่มดี" รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ธุรกิจหลักทรัพย์ บล. กสิกรไทย ซึ่งได้มาแชร์มุมมองที่น่าสนใจในหัวข้อ จับจังหวะเทรด "Futures-Options" ให้ได้กำไร โดยมองว่า ในความเป็นจริงแล้ว การซื้อขาย Futures-Options ไม่ได้ยากหรือซับซ้อนอย่างที่ผู้ลงทุนคิด เพราะที่ผ่านมา ผู้ลงทุนหลายคนก็ได้ซื้อขายฟิวเจอร์สและออปชั่นด้วยตัวเองมานานแล้วแบบไม่รู้ตัว เช่น การลงทุนในวอร์แรนท์ (Warrant) และดีดับบลิว (Derivatives Warrant)
"ผมมีความพยายามที่จะผลักดันให้ตลาด Options เกิดเหมือนเมืองนอก เพราะหากคุณมีความเข้าใจ จะเป็นตราสารที่ซื้อขายได้สนุกที่สุด สำหรับตลาดออปชั่นของไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มเติบโตมากขึ้น ซึ่งถึงเวลาที่ต้องเดินเร็วขึ้น และต้องวิ่งได้แล้ว"
ดร. สุทธิสิทธิ์ ยังเล่าให้เห็นถึงความสนุกและความแตกต่างของออปชั่นกับหุ้นว่า เวลาคนจะซื้อหรือขายหุ้น คือจะมอง หรือคิดอย่างเดียวว่า หุ้นที่ซื้อจะไปในทิศทางไหน จะขึ้นหรือลง เพราะถ้าเราคิดว่าหุ้นจะขึ้น ก็จะเข้าไปซื้อหุ้น (Long Stock) หรือมองว่าหุ้นเอาไว้ทำกำไรขาขึ้นอย่างเดียว โดยพวกคุณจะรอให้หุ้นตกลงมาจากนั้นถึงเข้าไปซื้อ หรือหวังว่าหุ้นจะขึ้นถึงค่อยขาย
หรือถ้ามั่นใจทิศทาง เช่น ถ้ามองว่าหุ้นจะลงหนัก และมีหุ้นอยู่ในพอร์ต คุณก็ขายหุ้นที่อยู่ในพอร์ตออกไปก่อนบางส่วน แล้วค่อยไปซื้อกลับมาเท่าเดิม คือเท่ากับจำนวนที่คุณขายออกไปในช่วงที่หุ้นลง แบบนี้เรียกว่าเป็นการ Short against port ซึ่งวิธีแบบนี้จะช่วย Save การขาดทุน แต่ยังไม่ได้ทำเงินให้พอร์ตคุณ
แต่ถ้าคุณไม่มีหุ้นในพอร์ต คุณสามารถไปยืมหุ้นเขามาขาย (Short หุ้น) ก่อนได้ โดยการไปขอยืมหุ้นจากโบรกเกอร์มา ซึ่งเรียกว่า บริการยืมหุ้น หรือให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending: SBL) หรือบริการเอสบีแอล ซึ่งวิธีนี้ เวลาคุณคิดว่าหุ้นจะลง แต่ไม่มีหุ้นในพอร์ต ก็ไปยืมหุ้นคนอื่นมาขายในราคาสูง แล้วพอหุ้นลงก็ไปซื้อกลับในราคาที่ถูก ซึ่งเมื่อได้หุ้นแล้ว ก็ค่อยเอากลับไปคืนเจ้าของหุ้น ในส่วนของคุณก็จะเก็บส่วนต่างกำไร และจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าของหุ้นที่คุณยืมมา อันนี้เรียก Short Selling และนี่ก็คือการจับจังหวะการทำกำไรจากการลงทุนในหุ้น
"เรียกว่าการทำกำไรหรือการขาดทุน ถ้าคุณมองถูกทางว่าหุ้นขึ้น คุณจะได้กำไรไม่อั้น แต่ถ้าผิดทางก็จะขาดทุนอย่างมหัศจรรย์เช่นกัน"
ขณะที่วันนี้ TFEX เติบโตขึ้นมาจนมีอายุได้ 12 ปี สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การมีอนุพันธ์ให้ผู้ลงทุนได้เลือกซื้อขาย ซึ่งอนุพันธ์ตัวแรกนั่นก็คือ Futures ที่อ้างอิงกับดัชนีหุ้น แต่การเทรดหุ้น หรือการเทรด Futures ก็จะคิดแค่ทางเดียว คือ ทิศทางจะขึ้นหรือลง ตัวอย่างเช่น เวลาคุณซื้อขายฟิวเจอร์สที่อ้างอิงกับดัชนี SET50 ถ้าดัชนีหุ้นขึ้น คุณก็จะกำไรได้เรื่อยๆ แต่ถ้าดัชนีหุ้นลงคุณก็จะขาดทุน
ดังนั้นการที่ต้องมองว่าทิศทางจะขึ้นหรือลงเท่านั้น ไม่สามารถตอบโจทย์ได้จริง เพราะในความเป็นจริง ดัชนีหุ้นไม่ใช่มีแค่เพียงขาขึ้นกับขาลง แต่มี Sideway ด้วย ดังนั้นหากดัชนีหุ้นมีอาการ Sideway คนที่มีหุ้น หรือมีฟิวเจอร์สอยู่ในพอร์ตจะทำอะไรไม่ถูก เพราะราคาจะไม่ไปไหน และยิ่งถ้าหากราคาหุ้นลง คุณก็จะเกิดอาการตื่นเต้นและขายหุ้นออก แล้วยอมขายขาดทุน แต่พอเห็นหุ้นขยับขึ้นนิดหน่อย ก็รีบเข้าไปซื้อ เพราะคิดว่าหุ้นจะขึ้น แต่หุ้นกลับลง แล้วคุณก็ขาย และขาดทุนรอบสอง ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ คุณจะเสียค่าคอมมิชชั่นโดยเปล่าประโยชน์
ในสภาพตลาดหุ้น Sideway ต่อให้คุณมีเทคนิคเข้ามาช่วย ก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตการลงทุนของคุณง่ายอย่างที่คิด จะเห็นได้ว่าหากดัชนี Sideway หุ้นและฟิวเจอร์สไม่สามารถตอบโจทย์คนที่ถืออยู่ได้ แต่ถ้าทิศทางตลาดหุ้นมีอาการ Sideway ออปชั่นสามารถตอบโจทย์การลงทุนและเปิดช่องให้คุณสามารถทำกำไรได้ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 ที่ผ่านมา ปรากฏว่าคนที่ซื้อขายออปชั่นกำไรมหาศาล แต่คนซื้อขายฟิวเจอร์สเทรดได้ยากมากเพราะตลาดค่อนข้าง Sideway
สำหรับการเทรดออปชั่นฝั่ง Long (Long Call, Long Put) การทำกำไรจะมีโอกาสทำกำไรได้ไม่อั้น แต่เวลาขาดทุน จะขาดทุนอย่างจำกัด แต่กรณีของการเทรดออปชั่นฝั่งชอร์ต (Short Call, Short Put) เวลาขาดทุนมีโอกาสขาดทุนแบบไม่จำกัด ซึ่งเป็นลักษณะของคู่สัญญา มีฝั่งหนึ่งได้ ก็ต้องมีฝั่งหนึ่งเสีย
ดร. สุทธิสิทธิ์ เล่าตัวอย่างให้เห็นภาพชัดๆ ว่า "ถ้ามองว่าดัชนีหุ้นจะ Sideway ไปถึงสิ้นปี ผมซื้อขายหุ้นไปก็เท่านั้น ผมขายออปชั่น ใครไม่รู้มาซื้อแต่เขาต้องจ่ายเงินบางส่วนให้ผม เขาซื้อจากผมเขาต้องจ่ายเงินให้ผม กรณีดัชนีไม่ไปไหน คนซื้อออปชั่นจากผมก็ไม่ได้ใช้สิทธ์ แต่ผมเก็บเงินก้อนนี้ที่เขาจ่ายให้ผมใส่ในกระเป๋า พอหมดอายุ ผมก็ได้กำไรง่ายๆ"
ส่วนแนวคิดการสร้างกลยุทธ์นั้น ดร.สุทธิสิทธิ์ บอกว่า การลงทุนในออปชั่นจะประสบความสำเร็จได้ ต้องได้เงินกลับบ้านไปอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นจึงไม่สนับสนุนให้เล่นออปชั่นแบบเก็งกำไร แต่ถ้าต้องการเก็งกำไรจริงจะต้องได้เงิน
ดังนั้นแนวคิดการสร้างกลยุทธ์จากนี้ไป ต้องประเมินว่าดัชนีมีแนวโน้มจะอยู่ในระดับใด โดยการคาดการณ์นั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลที่ดี มีการวิเคราะห์ที่ดี และมีการประมวลผลที่ดี ซึ่งเมื่อได้มุมมองทิศทางในหัวตัวเองแล้ว จึงค่อยหยิบเครื่องมือที่อยู่ตรงหน้าเรามาทำเป็นกลยุทธ์หาเงิน
จากนั้นก็เป็นการซื้อขายจริง โดยจะต้องดำเนินการให้จบรอบ พร้อมติดตามผล โดยดูว่าผลที่ได้ออกมาดีหรือไม่ และต้องประเมินด้วยว่า ดีเพราะอะไร หรือไม่ดีเพราะอะไร แล้วก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ "นี่ถือว่าเป็นกลยุทธ์ส่วนตัว ต้องบอกได้ด้วยว่าระยะสั้น กลาง ยาวเป็นอย่างไร จะขึ้นหรือลง เรียกว่าต้องมีกรอบของเวลาเข้ามาด้วย"
ทั้งนี้ เมื่อเรามีเป้าหมายที่เราคาดการณ์แล้ว ก็จะต้องมีข้อมูล ซึ่งข้อมูลนั้น จะต้องเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีและยิ่งมีปริมาณมากจะยิ่งส่งผลดี ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลพื้นฐาน เช่น นโยบายภาครัฐของในประเทศและต่างประเทศ ตัวเลขเศรษฐกิจ การเมือง เงินทุนไหลเข้าออก ตัวเลขสถิติที่สำคัญ เช่น กำไรบริษัทจดทะเบียน ตัวเลขนักท่องเที่ยว รวมถึงค่าความผันผวน เช่น ค่าความผันผวนของตลาดหุ้นไทย และประเด็นข่าวสำคัญที่ต้องติดตาม ดังนั้นคนที่ซื้อขายออปชั่น แล้วทำการบ้านเยอะ ก็มีโอกาสจะได้เงินของอีกฝั่งหนึ่งซึ่งเป็นคู่สัญญาที่ทำการบ้านมาน้อยกว่า
ค่าความผันผวนของดัชนีหุ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับคนที่ซื้อขายออปชั่น โดยปกติค่าความผันผวนของดัชนีหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10% เวลาที่ผันผวนต่ำดัชนีจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 10 จุด ส่วนช่วงผันผวนสูงดัชนีจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30 – 40 จุด ซึ่งค่าความผันผวนนี้ จะเป็นตัวส่งสัญญาณว่า ดัชนีหุ้นจะขึ้นหรือลง ยิ่งถ้าค่าความผันผวนต่ำมากๆ จะเป็นสัญญาณว่าดัชนีหุ้นกำลังจะเด้งขึ้น (ค่าความผันผวนจะมีค่าต่ำกว่า 0 ไม่ได้) แต่ถ้าค่าความผันผวนสูงมากๆ จะเป็นสัญญาณว่าดัชนีหุ้นกำลังจะดิ่งลง ดังนั้นเมื่อเห็นค่าความผันผวนต่ำมากๆ นั่นเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเราควรจะเข้าไปซื้อออปชั่น ทั้งนี้ หากเรามาดูสภาพคล่องการซื้อขาย Options ของประเทศไทย นับว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัญญาคงค้างจำนวนมาก และในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตมากกว่า 100%