สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โดย นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการ และกรมประมง โดยนายศุภวัฑฒ์ โกมลมาลย์ ผู้อำนวยการกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและกิจกรรมพิเศษ ร่วมกันจัดทำความร่วมมือด้านการประมงขึ้นเพื่อบูรณาการพันธกิจของทั้งสองฝ่ายให้เกิดการสืบสานแนวพระราชดำริอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วย การส่งเสริมและการขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูเพื่อสร้างอาชีพแก่ประชาชนตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 รวมถึงการส่งเสริมอาชีพประมงให้แก่ประชาชนในพื้นที่พัฒนาของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ และการค้นหาแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ
นายการัณย์ กล่าวว่า นับจากปิดทองหลังพระฯ เริ่มขยายพื้นที่พัฒนาไปยัง 3 จังหวัดชายแดนใต้เมื่อปี 2560 รวม 7 พื้นที่ ปัจจุบันได้ร่วมกับประชาชนซ่อมแซมและปรับปรุงระบบน้ำสำเร็จหลายพื้นที่ เช่น ตำบลสากอ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ทำให้ประชาชนสามารถทำการเกษตรได้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามการที่กรมประมงมาร่วมในการพัฒนาจะทำให้มีทางเลือกใหม่ทางการอาชีพที่ดี เนื่องจากการเลี้ยงปลาใช้เวลาสั้นกว่า และมีตลาดรองรับ
ดังนั้นการส่งเสริมประมง เป็นอาชีพเพิ่มเติมจึงจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่มีน้ำเพียงพอ สม่ำเสมอก่อน ซึ่งได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานีและเพชรบุรี ด้วยเทคนิคการเลี้ยงปลาในระบบน้ำไหลเพื่อให้ได้ปลาคุณภาพสูง
นายศุภวัฑฒ์ เปิดเผยว่า เทคนิคการเลี้ยงปลาในระบบน้ำไหลนี้ กรมประมงได้ถ่ายทอดให้เกษตรกรหลายรายในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา นำไปใช้เป็นการเลี้ยงแบบธรรมชาติซึ่งประหยัดต้นทุน และทำให้จำหน่ายปลาได้ราคาดีทั้งยังเหมาะกับการเลี้ยงปลาในหลายสายพันธุ์ เช่นปลานิล ปลาจีน และปลาพลวงชมพู จึงน่าจะมีความเหมาะสมสำหรับพื้นที่การพัฒนาของปิดทองหลังพระฯ ที่มีน้ำไหลตลอดปี
จากการทดลองเลี้ยงปลานิลในระบบน้ำไหลที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พบว่าใช้เวลาเลี้ยงสั้นกว่า โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน แต่ได้ปลาขนาดใหญ่ และจำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 110 บาท ซึ่งถือว่าได้ราคาดี โดยมีอัตราการทำกำไรประมาณร้อยละ 50ประกอบกับการได้ปลาที่มีคุณภาพ ไร้กลิ่นโคลน นับเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
ในส่วนของปลาพลวงชมพูนั้น เป็นปลาที่พบตามธรรมชาติที่ในเขตป่าฮาลาบาลาและการจับขายสู่ตลาดมาเลเซียในราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 3,000 บาททำให้เกิดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จึงก่อเกิดเป็นพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ให้ขยายพันธุ์ปลาพลวงชมพูเพื่อเป็นอาชีพแก่ประชาชนและป้องกันการสูญพันธุ์
ปัจจุบันกรมประมงประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาพลวงชมพูเป็นที่เรียบร้อยและกำลังเร่งขยายพันธุ์เพื่อแจกจ่ายพันธุ์สู่ประชาชนเพื่อพัฒนาสู่การเป็นอาชีพ ไปพร้อมๆ กับการอนุรักษ์พันธุ์ในอันดับต่อๆ ไป
นอกเหนือจากด้านการส่งเสริมประมงแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะร่วมมือกันในการศึกษาวิจัยด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ประเทศไทยมีไว้กับองค์การสหประชาชาติ
"โครงการทั้งหมด นอกจากเป็นการสนับสนุนการทำงานของกรมประมงแล้ว ปิดทองหลังพระฯ จะได้องค์ความรู้จากการทำงานร่วมกันเพื่อนำไปส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว นับเป็นการร่วมมือที่ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย" นายการัณย์กล่าว