ว่าที่ร้อยตรีพิเชียน กล่าวว่า "พระนครศรีอยุธยา" เป็นนครประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญมาตั้งแต่อดีต องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2535 และด้วยคุณค่าทางพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยกว่า 417 ปี เป็นจุดกำเนิดรากเหง้าในทุกๆ ด้านของสังคมไทย ที่สำคัญเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวศึกษาแหล่งมรดกโลกที่พระนครศรีอยุธยามากถึง 7 ล้านคนต่อปี สอดคล้องกับการแถลงนโยบายของรัฐบาล เรื่องการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาคุณภาพการท่องเที่ยวและการบริการสู่มาตรฐานสากล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจึงต้องดำเนินการยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวและเร่งประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวให้ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ด้วยการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ และสนใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติ เกิดความรัก ความหวงแหนศิลปวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย ให้คงอยู่ในความทรงจำของลูกหลานชาวไทยและชาวต่างชาติสืบไป
ด้าน นายศานติ กล่าวว่า สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ผลิตและเผยแพร่ภาพยนตร์สารคดีเพื่อการเรียนรู้เมืองมรดกโลกในรูปแบบสื่อภาพยนตร์สารคดีเชิงวิชาการ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง และส่งเสริมปีการท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยสารคดีดังกล่าวถูกจัดทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จำนวน 2 เรื่อง คือ พระแสงขรรค์ชัยศรีเฉลิมพระเกียรติและตำนานกรุสมบัติแห่งชาติ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในด้านโบราณคดี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังจากการค้นพบกรุสมบัติวัดราชบูรณะ ซึ่งพระองค์ทรงแนะนำให้ส่งคนไปศึกษาวิธีการทำน้ำยากัดสนิม กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กรมศิลปากรส่งข้าราชการไปศึกษาวิธีการทำการอนุรักษ์โบราณวัตถุจากยุโรป จนสามารถถอดพระแสงดาบได้ โดยมีการเชื่อมโยงเล่าถึง กรุสมบัติวัดราชบูรณะตั้งแต่แรกสร้างจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการเชื่อมโยงกรุสมบัติวัดราชบูรณะกับประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา
ส่วนเรื่องที่สอง เป็นสารคดี "ภูมิรัฐศาสตร์กรุงศรีอยุธยา" ซึ่งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของเกาะเมืองอยุธยา วิวัฒนาการของสัณฐานกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่สถาปนาจนเสียกรุง ซึ่งจะบอกเล่าถึงยุทธวิธีและยุทธศาสตร์การป้องกันตนเองจากศึกสงคราม ไปจนถึงทำเลภูมิศาสตร์ที่ทำให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าค้าขาย ที่มั่งคั่งที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยถ่ายทอดผ่านเทคโนโลยีกราฟิก และการจัดทำแอนิเมชั่น ที่ได้ลำดับภาพเล่าเรื่องให้ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนเข้าใจง่ายและมีความสนุกสนาน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นสารคดีร่วมสมัยที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่
สำหรับสารคดีทั้งสองเรื่องจะเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลทีวี และช่องทาง Social Media ซึ่งเป็นช่องทางการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในวงกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ทุกคนได้สัมผัสถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตของ "พระนครศรีอยุธยา" มรดกโลกทางวัฒนธรรมราชธานีเก่าแก่ของประเทศไทย ผ่านการตามรอยเส้นทางกรุสมบัติอันล้ำค่า ไปพร้อมกับการเรียนรู้ทาง "ภูมิรัฐศาสตร์กรุงศรีอยุธยา" หนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทย ที่จะต้องช่วยกันการรักษาแหล่งมรดกโลกที่สำคัญนี้ไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไป
นายพิศาล กล่าวว่าอยากให้คนรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์อัตลักษณ์ความเป็นไทยมากกว่าวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งหวังว่าสารคดีชุดนี้จะเป็นอีกหนึ่งสื่อการเรียนรู้ที่ทำให้คนรุ่นใหม่มาใส่ใจและอนุรักษ์สมบัติชาติมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ายังได้มีการจัดเวที เสวนา หัวข้อ "ย้อนอดีตกรุสมบัติชาติ มรดกโลกแห่งอยุธยา" เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ การผลิตสารคดีและช่องทางในการประชาสัมพันธ์ โดยผู้สนใจสามารถติดตามรับชมได้วันเสาร์ที่ 14 , 21 ,28 ก.ค. และเสาร์ที่ 4 ส.ค. เวลา 10.00-11.00 น. ทางสถานีโทรทัศน์ PPTV