นายบัณฑิต เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ในนามของจังหวัดสระบุรีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ วว. เข้ามาขับเคลื่อนโดยการใช้องค์ความรู้ วทน. แก้ไขปัญหาขยะชุมชน ทั้งในรูปแบบการให้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในการคัดแยกขยะต้นทาง รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องจักร ซึ่งจังหวัดสระบุรีจัดเป็นพื้นที่หนึ่งในอีกหลายๆ พื้นที่ ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนทั้งขยะเก่าตกค้างสะสมและขยะใหม่ ซึ่งมีปัญหาสำคัญคือการจัดการขยะชุมชนแบบไม่ถูกวิธี โดยการกองทิ้งกลางแจ้ง ทั้งนี้จังหวัดสระบุรีมีหน่วยงานองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 109 แห่ง ซึ่งมีความแตกต่างกันของประเภทขยะ ทั้งขยะเมือง ขยะภาคการเกษตร และขยะอุตสาหกรรม จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ต้องมีความรู้ในแนวทางการจัดการขยะที่มีลักษณะแตกต่างกันอีกทั้งจังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีการขยายตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง และการขยายตัวนี้ยังส่งผลต่อปริมาณขยะให้เพิ่มสูงขี้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเชื่อมั่นว่าพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงการทำงานครั้งนี้ จะสามารถขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกับ วว. เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาขยะของจังหวัดสระบุรีในเขตตำบลตาลเดี่ยว ซึ่งถือเป็นต้นแบบการจัดการขยะขนาดเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งแนวทางการขับเคลื่อนของ วว. ยังมีการให้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และงานวิชาการในรูปแบบต่างๆ เข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการฝึกอบรมเพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมต่อการจัดการขยะชุมชนที่ต้นทางอย่างถูกวิธี และนำองค์ความรู้จากงานวิจัยที่มีอยู่มาบูรณาการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะชุมชน สร้างรายได้เพิ่มและยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยนวัตกรรม ขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0
ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวว่า ความร่วมมือของ วว. จังหวัดสระบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว เป็นการนำผลงานวิจัยพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในชุมชน อยู่ภายใต้การดำเนินงาน "โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน" เพื่อผลักดันงานด้าน วทน. ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนที่ต้นทาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อสร้างเป็นต้นแบบการคัดแยกขยะชุมชน ทั้งในรูปแบบการฝึกอบรมสร้างองค์ความรู้ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมภายในประเทศ อาทิ เทคโนโลยีการคัดแยกขยะชุมชนและกำจัดกลิ่นโดยระบบกึ่งอัตโนมัติ เทคโนโลยีการคัดแยกชนิดและสีของขยะพลาสติกโดยระบบ NIR พร้อมระบบผลิตเกล็ดพลาสติก และเทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาขยะชุมชนทั้งขยะเก่าและขยะใหม่
"…ปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย นับเป็นปัญหาสำคัญและทวีความรุนแรง จากปัญหาดังกล่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จึงได้อนุมัติแผนที่นำทางการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงระเบียบปฏิบัติในการจัดการขยะในประเทศไทย โดยเริ่มด้วยการจัดการขยะชุมชนที่ ตกค้างสะสมหรือขยะเก่า นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษยังได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องและตกค้างสะสมในพื้นที่ จากข้อมูลของปัญหาดังกล่าว วว. จึงร่วมมือกับ จังหวัดสระบุรี และ อบต.ตาลเดี่ยว เพื่อผลักดันงานวิจัยด้าน วทน. ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ วว. ผ่านการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขและลดปัญหาขยะชุมชนรวมถึงขยะพลาสติกที่เหลือทิ้งโดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่า โดยขยายผลในการดำเนินงานทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรม เพื่อสร้างโอกาสให้กับพื้นที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างงาน สร้างอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน…" ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ กล่าว
นายมงคล สุขศิลา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว จัดเป็นอบต.ขนาดกลาง ที่มีจำนวน 11 หมู่บ้าน โดยมีการผสมผสานระหว่างชุมชนเมือง เกษตรกรรม และ อุตสาหกรรม ทำให้ขยะมีองค์ประกอบที่แตกต่างจากเขตอื่นๆ อีกทั้งตาลเดี่ยวจัดเป็นเขตเมืองที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นและมีปัญหาจากปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องมีแหล่งการจัดการขยะที่ถูกวิธี เพื่อสอดรับกับการขยายตัวของเมือง และประชากร ดังนั้นการที่ วว. เข้ามาช่วยขับเคลื่อนภายใต้โครงการ "โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน" ซึ่งมีเป้าหมายด้านการคัดแยกขยะที่ต้นทาง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และส่งเสริมให้เกิดความตระหนักโดยการอบรมให้ความรู้ภายในชุมชนหรือหมู่บ้าน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการทั้งขยะเก่า ขยะใหม่ และบำบัดมลพิษ จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทั้งสามหน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินโครงการในครั้งนี้เพื่อแก้ไขปัญหาขยะชุมชนโดยใช้องค์ความรู้ วทน. ภายในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างเป็นต้นแบบให้หน่วยงานท้องถิ่นอื่นๆ ตามหลักการ 3Rs และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการจัดการมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ให้เหมาะสมกับประเภทขยะชุมชนและลักษณะของพื้นที่ที่แตกต่างกันในแต่ละท้องที่