ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า SMBC เป็นธนาคารแห่งแรกที่ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สวทน. หลังจากที่ได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) โดยเฉพาะการสนับสนุนและพัฒนาด้านกำลังคนแก่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี โดยในการร่วมลงนามครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการร่วมมือเพื่อการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนญี่ปุ่นที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ยังรวมถึงการพัฒนาบุคลากรและการจัดการ ตลอดจนการสนับสนุนให้เกิดกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการร่วมสร้างนวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือระหว่างนักลงทุนไทยและนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยด้วย
"ธนาคาร SMBC เป็นพันธมิตรที่ให้ความร่วมมือและส่งเสริมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายด้าน วทน. ของประเทศไทยตลอดมา การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะสามารถผนึกกำลังและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลในเรื่องแนวโน้มทางธุรกิจ ความต้องการทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของบริษัทต่างชาติ รวมถึงความต้องการพื้นฐานและกำลังคนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนโดยทางตรง (Foreign Direct Investment: FDI) ซึ่งการแลกเปลี่ยนข้อมูลจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้เป็นข้อมูลประกอบในการศึกษา พัฒนาและจัดทำนโยบายด้าน วทน. ที่สอดคล้องกับความต้องการและดึงดูดการลงทุน อันจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามนโยบายรัฐบาล" ดร.กิติพงค์ กล่าว
นอกจากนี้ สวทน. ได้วางแผนกลยุทธ์เพื่อสนับสนุนนักลงทุนผ่านการจัดสัมมนาร่วมกับ SMBC ในการประชาสัมพันธ์โครงการต่าง ๆ เช่น โครงการโรงเรียนในโรงงาน (Work – Integrated Learning Program: Wil) โครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และโครงการนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (Research, Development and Industrialization: RDI) เป็นต้น โดยธนาคาร SMBC จะสามารถช่วยประชาสัมพันธ์โครงการให้กับนักลงทุนตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมด้านการวิจัยและพัฒนาของ สวทน. อีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน นายยูอิชิ นิชิมุระ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า SMBC เป็นธนาคารญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างยาวนาน จนถึงปัจจุบันนับเป็นระยะเวลากว่า 65 ปี ธนาคารมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับ สวทน. ซึ่งการร่วมลงนามในครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาการลงทุนในพื้นที่เขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ไทยแลนด์ 4.0 นอกจากนี้ ยังเป็นการร่วมมือเพื่อสนับสนุนความต้องการในด้านต่าง ๆ แก่ลูกค้าในประเทศไทยด้วย