อย่างไรก็ตามหลังจากมีการปฏิรูปและการปรับระบบสุขภาพของประเทศที่ผ่านมา การนำวัคซีนใหม่มาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมคุ้มกันโรคในระดับประเทศเริ่มมีความซับซ้อน กระบวนการพิจารณาใช้เวลายาวนานขึ้น เพราะจะต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการเพิ่มขึ้นเป็น 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการภายใต้ สปสช. ตามลำดับ โดยมีเกณฑ์การพิจารณาในภาพรวม ที่สำคัญ คือ เกณฑ์ด้านโรค เกณฑ์ด้านวัคซีน เกณฑ์ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เกณฑ์ด้านการจัดบริการ รวมทั้งเกณฑ์ด้านความเสมอภาค ซึ่งพบว่ากระบวนการพิจารณาของแต่ละอนุกรรมการหลายเรื่องมีความซ้ำซ้อนกัน ส่งผลให้การนำวัคซีนใหม่บางชนิดมาใช้ในประเทศไทยมีความล่าช้าโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายสูญเสียโอกาสในการได้รับการป้องกันโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งมักเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอุบัติการณ์ของโรคสูง ทำให้เสี่ยงต่อการป่วย ความพิการ และการเสียชีวิตที่สามารถป้องกันได้
เพื่อพัฒนาและปรับกลไกการพิจารณาวัคซีนใหม่มาใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดความซ้ำซ้อนของการพิจารณาของอนุกรรมการแต่ละชุด สถาบันวัคซีนแห่งชาติจึงได้พยายามประสาน หารือ กับหน่วยงานและอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันปรับปรุงกลไกการพิจารณาเสียใหม่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2561 ที่ผ่านมาได้มีการประชุมหารือปรับกลไกการพิจารณาดังกล่าว
ดร.นพ.จรุง กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 1)ให้ปรับเกณฑ์การพิจารณานำวัคซีนใหม่เข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของคณะอนุกรรมการแต่ละคณะเสียใหม่ โดยแบ่งบทบาทหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ แต่ละชุด ไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน ตามข้อเสนอจากที่ประชุม 2)ให้คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนของวัคซีนรายชนิดหลายตัว พร้อมหลักฐานทางวิชาการเสนอไปที่คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักฯ 3)ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานหลักกับฝ่ายเลขานุการฯ ของคณะอนุกรรมการฯทั้งหมด เพื่อให้กลไกการประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลและวางแผนร่วมกันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อดีของการปรับเปลี่ยนกลไกการพิจารณาวัคซีนเข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าวคือ จะช่วยให้การพิจารณาไม่ซ้ำซ้อน มีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้อง ช่วยร่นระยะเวลาการได้มาของวัคซีนใหม่ที่จะนำมาใช้ในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จากเดิมบางวัคซีนอาจใช้ระยะเวลายาวนานถึง 8 ปี ทำให้การพิจารณานำวัคซีนใหม่มาใช้ในอนาคตจะเร็วขึ้น ประชาชนกลุ่มเป้าหมายจะได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุมเร็วขึ้น การควบคุมป้องกันโรคมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในระยะยาวจะมีความคล่องตัวมากขึ้น
"ปัจจุบันกลไกการนำวัคซีนใหม่เข้าสู่แผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในส่วนของคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการประกอบด้วยกุมารแพทย์ อายุรแพทย์ สูตินรีแพทย์ แพทย์โรคติดเชื้อ นักวิจัย นักวิชาการสาธารณสุข นักระบาด จากมหาวิทยาลัย สมาคม ราชวิทยาลัยแพทย์ต่าง ๆ รวมทั้งจากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกวัคซีนในภาพรวมของอนุกรรมการทุกคณะ เป็นเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำ โดยจะพิจารณาอย่างรอบด้านในหลายแง่มุม ที่สำคัญได้แก่ จำนวนผู้ป่วย ระบาดวิทยาของโรค ความรุนแรงของโรค ลำดับความสำคัญของโรคเมื่อเทียบกับปัญหาสุขภาพอื่นๆ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ความคุ้มทุนทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขของการใช้วัคซีนในการควบคุมป้องกันโรค ความเป็นไปได้ในการให้บริการ และความแน่นอนในการมีวัคซีนที่จะทำการจัดซื้อจัดหาวัคซีนมาใช้อย่างเพียงพอในระยะยาว ดร.นพ.จรุงกล่าวปิดท้าย