ดร.อภิญาณ์ หทัยธรรม รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า เนื่องจากปี 2560 ที่ผ่านมาทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติในส่วนกลาง มียอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 1,106,724 คน เมื่อคิดเป็นร้อยละของผู้เข้าชมจากภูมิภาคต่าง ๆ แบ่งได้ ดังนี้ ภาคกลางร้อยละ 66.14 ภาคตะวันออกร้อยละ13.08 ภาคเหนือร้อยละ 10.93 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 8.53 และภาคใต้ร้อยละ 1.32 จากข้อมูลนี้พบว่าผู้เข้าชมส่วนใหญ่มาจาก ภาคกลางและจำนวนผู้เข้าชมจากภูมิภาคต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย เนื่องจากอุปสรรคจากระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางและมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายโอกาสการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเยาวชนและประชาชนคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้มอบหมายให้ อพวช. ดำเนินการจัดงาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค" รวม 4 ภูมิภาคทั่วประเทศขึ้น โดยที่ผ่านมาครั้งแรกจัดที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 4-10 มิถุนายน และครั้งที่ 2 ที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 13-19 มิถุนายน ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนและประชาชนจากภาคเหนือและภาคใต้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก และครั้งนี้ถือเป็นการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 3 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น KICE และครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 18-24 สิงหาคม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ตำบลหว้ากอ สำหรับการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 3 จังหวัดขอนแก่นนี้ ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย อพวช. พร้อมอย่างเต็มที่ในการ จัดแสดงนิทรรศการอันยิ่งใหญ่และกิจกรรมสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมากมาย โดยร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งหน่วยงานพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศร่วมจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้อีกมากมายด้วย ซึ่งการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ระดับภูมิภาค เป็นกิจกรรมที่แสดงถึงความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญเป็นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค ภายใต้นโยบาย "วิทย์สร้างคน" ภารกิจหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และผลักดันให้เด็ก ๆ เยาวชนและประชาชนในภูมิภาคได้มีโอกาสใกล้ชิดวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่
"สำหรับนิทรรศการไฮไลท์สำคัญที่ได้นำมาจัดแสดงที่จังหวัดขอนแก่นครั้งนี้ คือ นิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทยและพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย" นำเสนอเรื่องราวหลักการทรงงานเพื่อประโยชน์สุขของชาวไทย โดยทรงใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ เกิดเป็นนวัตกรรมหลากหลาย สร้างประโยชน์สุขแก่คนไทย ทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร นำเสนอแนวทางพระราชดำริที่ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นำเสนอพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน อันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความรักและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อปวงชนชาวไทยของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย
นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการที่น่าสนใจอีกมากมายนำมาจัดแสดง อาทิเช่น นิทรรศการนาทีนี้ต้องดิจิทัล (Digital Now) นำเสนอวิวัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สัมผัสกับความล้ำสมัยของโลกดิจิทัลและหุ่นยนต์อัจฉริยะที่มากความสามารถ นิทรรศการสูงวัยใกล้ตัว นำเสนอสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสังคมไทยในปัจจุบันผ่านเครื่องไทม์แมชชีน นำผู้ร่วมกิจกรรมไปสู่โลกแห่งอนาคต สัมผัสกิจกรรมการจำลองเป็นผู้สูงวัยในฐานต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและการวางแผนชีวิตในอนาคตทั้งเรื่องสุขภาพและการเงิน นิทรรศการธรรมชาติบันดาลใจ นำเสนอแรงบันดาลใจและให้ตัวอย่างวิธีคิดเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยดูแบบอย่างจากธรรมชาติ โดยนำผลงานนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ลอกเลียนธรรมชาติมาจัดแสดง นิทรรศการพลิกขยะสู่ขุมทรัพย์ (FROM WASTE TO VALUE) นำเสนอเรื่องของการบริหารจัดการขยะและชี้ให้เห็นประโยชน์ของสิ่งของเหลือใช้ต่าง ๆ ในกองขยะที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพ สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ สร้างพลังงานทดแทนและสร้างมูลค่ามากกว่าที่คุณคิด พลาดไม่ได้กับภาพยนตร์ 4D Panda…Journey to New Home เปิดประสบการณ์ใหม่และสนุกสนานไปกับเรื่องราวของก้วนก้วน แพนด้ายักษ์ใหญ่สุดน่ารักกับการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ เพื่อตามหาป่าไผ่แห่งใหม่ บนเส้นทางที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคร่วมไปกับเหล่าผองเพื่อน และอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงานครั้งนี้คือ นิทรรศการนวัตกรรมและเทคโนโลยีภูมิปัญญากรีก (The High-Tech Inventions of The Ancient Greek Exhibition) จากประเทศกรีซ นำเสนอนวัตกรรมที่เหนือชั้นของโลกโดยเป็นต้นแบบในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์อันน่าทึ่งต่าง ๆ และถูกพัฒนาจากยุคสู่ยุคจนมาเป็นนวัตกรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน" รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติกล่าว
ด้านดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนและร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้การจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ในครั้งนี้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งทางจังหวัดขอนแก่นให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว โดยการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ทางจังหวัดขอนแก่นได้เป็นศูนย์กลางของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ ระดับภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ เยาวชน และประชาชนในจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีโอกาสได้เดินทางมาเปิดโลกทัศน์ชมนิทรรศการและกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจในครั้งนี้ได้สะดวกสบายมากขึ้น อีกทั้ง ยังทำให้เยาวชนได้เปิดประสบการณ์นอกห้องเรียนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการเรียนรู้ถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่น่าสนใจมากมายภายในงานครั้งนี้ อันจะส่งผลดีต่อการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมต่อไปในอนาคต
นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึง ความร่วมมือในการสนับสนุนการจัดงาน มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ในครั้งนี้ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งท่องเที่ยวมากมายทั้งธรรมชาติ ป่าเขา ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และมีทั้งประเภทแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์มากมายด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น "พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง" ในอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์เป็นที่แรกของเมืองไทย พิพิธภัณฑ์สิรินธรหรือศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เป็นศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยาที่มีการจัดแสดงซากกระดูกไดโนเสาร์และแสดงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในมุมมองต่าง ๆ ทั้งเชิงวิชาการ การอนุรักษ์ นอกจากแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ทางธรรมชาติมากมายดังที่ยกตัวอย่างมาแล้วนั้น ยังมีสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่าง ๆ จากภูมิปัญญาคนอีสาน ที่คนรุ่นใหม่นำองค์ความรู้มาผลิตเป็นของฝากของขวัญยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน และการที่ อพวช. ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หน่วยงานท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา ได้นำนิทรรศการและ องค์ความรู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาจัดแสดงให้แก่เด็ก ๆ เยาวชน และประชาชนในภาคอีสานได้เรียนรู้ จึงถือเป็นการกระจายโอกาสการเข้าถึงแหล่งความรู้ที่ทันสมัย และมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยได้พัฒนาและเจริญก้าวหน้าตามนโยบาย Thailand 4.0 อีกด้วย ซึ่ง ททท. ขอมีส่วนช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวในมิติใหม่ ๆ ที่นอกจากจะสนุกสนานตามแบบการท่องเที่ยวสไตล์วิถีไทยแล้ว ยังเป็นการท่องเที่ยวที่ได้ความรู้ แรงบันดาลใจและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอีกช่องทางหนึ่ง สำหรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวในเขต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงนี้ อยากเชิญชวนให้มาเที่ยวชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับภูมิภาค ณ จังหวัดขอนแก่น นอกจากความรู้ในนิทรรศการที่มีชีวิตแล้ว ททท. ก็จะมีกิจกรรมมาร่วมสนุกภายในงานนี้อีกด้วย
ทั้งนี้ งานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ระดับภูมิภาค ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 19.00 น. ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น KICE โดยนักเรียน เยาวชน และผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ www.nsm.or.th และ FACEBOOK : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สอบถามที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) โทรศัพท์ 02 577 9960