นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและกรรมการผู้จัดการใหญ่(ร่วม) ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals ซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของทุกภาคส่วนในหลายประเทศทั่วโลก ขณะเดียวกันซีพีเอฟยังเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก ที่เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ UNGC (UN Global Compact) และสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ DJSI บริษัทจึงได้กำหนดเป้าหมายระยะยาวด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน อันเป็นที่มาของโครงการด้านประหยัดพลังงาน โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และโครงการอื่นๆที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาซีพีเอฟมีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบตามหลักสากล โดยบริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 79,000 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์เทียบเท่า (tonCO2eq) หรือเทียบกับการปลูกต้นสัก ประมาณ 4,000,000 ต้น การตกลงความร่วมมือผลิตพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของซีพีเอฟในครั้งนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกถึงปีละ 28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือคิดเป็นการปลูกต้นสักถึง 1,440,000 ต้น ส่งผลดีต่อการรักษาสภาพแวดล้อมโดยรวมของประเทศไทยและตอกย้ำการเป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยด้วยพลังงานสะอาดของซีพีเอฟ
นายสุขวัฒน์ ด่านเสริมสุข ประธานคณะผู้บริหารธุรกิจอาหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟเป็นครัวของโลก เป็นผู้ผลิตอาหารปลอดภัยในมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับ การใช้พลังงานสะอาดเช่น พลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นอีกมาตรการหนึ่งในด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจซีพีเอฟเติบโตได้อย่างยั่งยืนในเวทีโลก นอกเหนือไปจากประโยชน์ด้านการลดต้นทุนค่าพลังงานไฟฟ้าที่บริษัทได้รับ และบริษัทจะยังคงมุ่งมั่นแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นๆที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายกัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการ บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กันกุลฯ ดำเนินธุรกิจ ด้วยทีมงานและประสบการณ์ด้านพลังงานทดแทนมายาวนานกว่า 36 ปี และทำโรงไฟฟ้าโซล่าร์มาแล้วกว่า 300 เมกะวัตต์ ซึ่งมีทั้งโรงไฟฟ้าโซล่าร์บนพื้นดิน และติดตั้งบนหลังคา การร่วมมือกับซีพีเอฟในครั้งนี้ เป็นการติดตั้งโซล่าร์รูฟ จำนวน 34 โครงการ รวม 40 MW ซึ่งนับว่าเป็นการทำโซล่าร์บนหลังคาที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ ถือ็นก้าวสำคัญของกันกุลฯ และจะเป็นข้อพิสูจน์ว่า พลังงานแสงอาทิตย์สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตได้ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าที่ถูกลง และสามารถนำมาใช้เป็นพลังงานหลักในเวลากลางวันได้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น
ทั้งนี้ โครงการ CPF Solar Rooftop เป็นความร่วมมือในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่มีมูลค่าโครงการประมาณ 1,400 ล้านบาท โดยบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้ลงทุนและดูแลระบบตลอดอายุสัญญาระยะเวลา 15 ปี โดยจะทำการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ทั้งหมด 120,000 แผ่น บนหลังคาของโรงงานซีพีเอฟจำนวน 34 แห่ง ครอบคลุมโรงงานอาหารสัตว์บก โรงงานอาหารสัตว์น้ำ โรงงานแปรรูปอาหาร และโรงงานอาหารสำเร็จรูป รวมเป็นพื้นที่ราว 230,000 ตารางเมตร หรือเทียบได้กับโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ถึง 53 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นโครงการ Solar Rooftop ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ และสามารถช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าขององค์กรได้อีกด้วย