ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานต้อนรับคณะผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นำโดย นายธีระศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ อ.เมือง จ.เพชรบุรี และผู้แทนจากจาก 30 จังหวัด ทั่วประเทศ โอกาสนี้ ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมต้อนรับ ณ ห้องประชุมชั้น 5 วว. เทคโนธานี จังหวัดปทุมธานี เมื่อเร็วๆนี้
ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ กล่าวว่า ตามที่ท่านดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ให้มอบนโยบายหลักในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ช่วยในการพัฒนา 3 ส่วนหลัก ได้แก่ วิทย์สร้างคน...สร้างสังคมอุดมปัญญา วิทย์เสริมแกร่ง...นำพาประเทศไทยสู่ที่หนึ่ง และวิทย์แก้จน ...เดินหน้าไปด้วยกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังนั้น ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินงานโครงการเพื่อสนับสนุนให้ทั้งสามส่วนหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ลงพื้นที่เพื่อนำ วทน. ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน อาทิ โครงการ 1 นวัตกรรมเกษตร 1 ตำบล ที่ขับเคลื่อนไปแล้ว ร้อยละ 30 ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่ม 18.28 ล้านบาท มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ 9.04 ล้านบาท ส่วนโครงการยกระดับโอทอป ใน 10 จังหวัดพื้นที่เป้าหมายนั้น มีความคืบหน้าไปร้อยละ 30 เช่นกัน โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเดินหน้าในการช่วยยกระดับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการหารือร่วมกันในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่าง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ทั่วประเทศในอนาคต
ด้านนายธีระศักดิ์ พานิชวิทย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหม้อ จ.เพชรบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอบคุณกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่ให้โอกาสมาทำความรู้จักกันมากขึ้น ขณะนี้เรากำลังมีโครงการ "วิทย์แก้จนโดยคน อบต." การมาหารือและเยี่ยมชมเทคโนโลยีของกระทรวงฯ ในวันนี้ทำให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ช่วยพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างดี ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำงานในอนาคต
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว.รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับคณะผู้แทนจาก อบต. จาก 30 จังหวัดทั่วประเทศ โดย วว. และหน่วยงานเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้จัดแสดงนิทรรศการแสดงงานวิจัยศักยภาพงานวิจัยและเทคโนโลยีสนับสนุนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมผลงานวิจัยที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนเศรษฐกิจฐานราก อาทิ การเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ เทคโนโลยีด้านการเกษตร เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อเป็นอาหารสุขภาพ ระบบการจัดการขยะชุมชน เตาชีวมวลเพื่อชุมชน การแปรรูปยางพารา รวมถึงเครื่องจักรสำหรับการแปรรูปอาหาร รวมทั้งยังได้เยี่ยมชมโรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร วว. อาคารพลังงานชีวมวล และศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอีกด้วย