1. การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ AIIB ครั้งที่ 3 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "นวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน" (Mobilizing Finance for Infrastructure: Innovation and Collaboration) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้ว่าการของไทยได้มีถ้อยแถลงถึงบทบาทที่แข็งขันของ AIIB ในการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ประเทศสมาชิกเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมาแล้วกว่า 12 ประเทศ คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับแต่เริ่มจัดตั้งเมื่อปี 2559 นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึงการสนับสนุนการระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อนำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านนโยบายส่งเสริมให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ของไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการจัดตั้ง ถ้อยแถลงดังกล่าวยังได้เน้นย้ำความสำคัญของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ของประเทศไทย มีบทบาทสำคัญในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกันทางเศรษฐกิจจากความเชื่อมโยงดังกล่าว และยังเชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าภายใต้ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ของสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เสนอแนะให้ AIIB ขยายบทบาทการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้น รวมทั้งให้มีการพัฒนาแนวทางการระดมทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งเสริมความยั่งยืนของการระดมทุนเพื่อความสำเร็จในระยะยาวของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
2. ในการสัมมนาของผู้ว่าการ AIIB ภายใต้หัวข้อ "Mobilizing Finance for Infrastructure"ได้กล่าวถึงจำนวนเงินทุนที่ต้องใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทวีปเอเชียว่ามีจำนวนสูงถึงประมาณ 1.3
ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งรัฐบาลและธนาคารเพื่อการพัฒนาในระดับพหุภาคี (Multilateral Development Banks: MDBs) สามารถสนับสนุนได้เพียงครึ่งหนึ่งของเงินจำนวนดังกล่าวเท่านั้น ดังนั้น จึงจำเป็นต้องระดมทุนจากภาคเอกชนเพื่อลดช่องว่างดังกล่าว โดยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง กรอบทางด้านกฎระเบียบและกฎหมายที่แข็งแกร่ง การสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และการสร้างความพร้อมของโครงการให้น่าลงทุนสำหรับภาคเอกชน นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่อาจมีผลให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของการระดมทุนจากภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ AIIB ยังได้เรียกร้องให้ภาครัฐของประเทศสมาชิกให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนในการเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับปฏิบัติการ
3. การหารือโต๊ะกลมของผู้ว่าการ AIIB ภายใต้หัวข้อ "Leveraging Finance for Asia's Infrastructure" ได้มีการหารือ 3 หัวข้อ ได้แก่ การระดมทุนเพื่อการขนส่ง การระดมทุนเพื่อการสร้างเมืองยั่งยืน และการระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานจากภาคเอกชน โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกกล่าวถ้อยแถลงในแต่ละด้าน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนในภาคการขนส่ง ระเบียงเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ข้อริเริ่ม BRI เป็นต้น ราชอาณาจักรเดนมาร์กให้ความสำคัญกับการสร้างเมืองยั่งยืน โดยเน้นการพัฒนาเมืองที่เป็นมิตรกับประชาชน สหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐสิงคโปร์พร้อมดำเนินงานร่วมกับประเทศสมาชิกและ AIIB ในการแบ่งปันประสบการณ์และใช้ความเชี่ยวชาญในการส่งเสริมการระดมทุนจากภาคเอกชน
4. ในการประชุมประจำปีของผู้ว่าการ AIIB ครั้งที่ 3 ซึ่งประกอบด้วยผู้ว่าการจากประเทศสมาชิกต่าง ๆ รวม 64 ประเทศ และฝ่ายบริหารของ AIIB ซึ่งนำโดยนาย Jin Liqun ประธาน AIIB ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของ AIIB รับรองรายงานประจำปี 2560 งบการเงินประจำปี 2561 และ
ผลการเลือกตั้งกรรมการ AIIB ชุดใหม่ รวมทั้งเห็นชอบให้สาธารณรัฐเลบานอนเข้าเป็นสมาชิกล่าสุดของ AIIB ซึ่งถือเป็นสมาชิกลำดับที่ 87
5. การหารือเวที Asian Infrastructure Forum Workshop ซึ่ง AIIB จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานจริงในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีการหารือที่สำคัญ ภายใต้หัวข้อ Building Infrastructure for Asian Cities ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนของทวีปเอเชียในศตวรรษที่ 21 การแก้ปัญหาที่ท้าทายสำหรับการพัฒนาเมือง และการสัญจรในเมือง และหัวข้อ Advancing Together: ASEAN Infrastructure Development ซึ่งมีการหารือถึงการเพิ่มความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน โดยผู้เข้าร่วมหารือได้กล่าวถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางการเงิน นอกเหนือจากการสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ อีกทั้งยังเห็นว่าภูมิภาคอาเซียนควรเร่งพัฒนาเศรษฐกิจในบริเวณชายแดนระหว่างประเทศ และควรลดการกระจุกตัวของความเจริญในเมืองหลวงไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังเห็นว่ารัฐบาลควรสนับสนุนบทบาทของภาคเอกชนให้สามารถร่วมดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้จริงในทางปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
การประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการ AIIB ครั้งต่อไปจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2562 ณ ราชรัฐลักเซมเบิร์ก โดยราชรัฐลักเซมเบิร์กจะเป็นเจ้าภาพ
สำนักนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3376