ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “บ. ไมด้า ลิสซิ่ง” ที่ “BBB-/Stable”

ศุกร์ ๓๐ มีนาคม ๒๐๑๘ ๑๐:๔๕
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ "BBB-" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของบริษัทในฐานะเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท ไมด้า แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านภายใต้ตราสัญลักษณ์ที่หลากหลายและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประวัติการดำเนินธุรกิจที่ยาวนานของบริษัทในการให้บริการสินเชื่อรถยนต์ใช้แล้วและผลกำไรที่สม่ำเสมอ รวมถึงการมีเครือข่ายสาขาที่กระจายตัวอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วประเทศ และการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับพันธมิตรทางธุรกิจด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่เสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทยังต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจให้บริการสินเชื่อรถยนต์ อีกทั้งบริษัทยังมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อพิจารณาถึงต้นทุนทางการเงินที่ค่อนข้างสูงและสถานะทางการตลาดที่ค่อนข้างอ่อนแอโดยพิจารณาจากสินเชื่อคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่ ๆ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

ประวัติการบริหารสินเชื่อที่ยาวนาน

นับตั้งแต่การก่อตั้งในปี 2543 ธุรกิจหลักซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งกำไรของบริษัทคือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใช้แล้วที่ผ่านการใช้งานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปหรือที่บริษัทเรียกว่า "รถยนต์มือสาม" บริษัทสร้างรายได้จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าในธุรกิจดังกล่าวเหนือคู่แข่งซึ่งมีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ใหม่หรือรถยนต์ที่ไม่ได้ผ่านการใช้งานมานานเท่ากับของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

ในช่วงระหว่างปี 2553-2558 ขนาดสินเชื่อของบริษัทแทบจะไม่มีการเติบโต โดยมูลค่าสินเชื่อคงค้างรวมทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2,526 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2553 และ 2,591 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2558 ในปี 2559 สินเชื่อคงค้างกลับมาเติบโตอีกครั้งโดยยอดสินเชื่อรถยนต์คงค้างเติบโตขึ้น 10.3% ในปี 2559 และ 9.6% ในปี 2560 มาอยู่ที่ระดับ 2,859 ล้านบาทและ 3,132 ล้านบาท ตามลำดับ

ณ เดือนธันวาคม 2560 สินเชื่อรถยนต์ของบริษัทประกอบด้วยสินเชื่อเช่าซื้อในสัดส่วน 93% และสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการเต็นท์รถยนต์มือสอง (หรือสินเชื่อ Floor Plan) อีก 7% อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่ในระดับต่ำและการปราศจากอุปสรรคในการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ส่งผลให้บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการในอดีตแสดงให้เห็นว่าบริษัทยังสามารถประกอบธุรกิจที่สร้างผลกำไรได้แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากก็ตาม

มีเครือข่ายสาขาที่ครอบคลุมทั่วประเทศ

ณ เดือนธันวาคม 2560 บริษัทมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และมีสาขา 16 แห่งในบางจังหวัด เช่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และนครปฐม โดยสาขาใหม่ล่าสุดซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดสุรินทร์ได้เปิดดำเนินการในปี 2558 เครือข่ายสาขาของบริษัทครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ สถานที่ตั้งของสาขาสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท ทั้งนี้ ในปี 2560 สินเชื่อจากสำนักงานใหญ่คิดเป็น 9.8% ของสินเชื่อคงค้างรวม และ 8.9% ของสินเชื่อที่ปล่อยใหม่

ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าขนาดสินเชื่อของบริษัทไม่ได้เติบโตอย่างเห็นได้ชัด แต่บริษัทก็มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าคู่แข่ง ถึงแม้ว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะลดลงเล็กน้อยในปี 2559 แต่อัตราดอกเบี้ยรับจากพอร์ตสินเชื่อยังฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับ 16% ในปี 2560 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.2% จาก 10.8% ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม กำไรสุทธิของบริษัทลดลงเล็กน้อยเป็น 113 ล้านบาทในปี 2560 จาก 118 ล้านบาทในปี 2559 สอดคล้องกับอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยที่ลดลงเป็น 3.2% ในปี 2560 จาก 3.7% ในปี 2559 ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงในปี 2560 เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้นรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงในปี 2560 จากการที่บริษัทไม่มีกำไรจากการขายเงินลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้าตามที่ได้รับรู้เป็นรายได้ไปแล้วเมื่อปี 2559

การมีต้นทุนสูงเป็นปัจจัยลดทอนความได้เปรียบในการแข่งขัน

ในธุรกิจให้สินเชื่อรถยนต์ซึ่งมีการแข่งขันสูง ผู้ประกอบการที่มีต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ต่ำย่อมมีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน โดยผู้ประการดังกล่าวสามารถทำกำไรจากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ลูกค้าที่มีความเสี่ยงในระดับที่ยอมรับได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการเหล่านี้จึงมีโอกาสสูงกว่าที่จะขยายสินเชื่อที่มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีด้วยค่านายหน้าที่ต่ำกว่า ในทางกลับกัน บริษัทขยายสินเชื่อด้วยอัตราการเติบโตที่จำกัด อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่สูง และมีความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงจากการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยสูงให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีเครดิตในระดับต่ำ

คุณภาพสินเชื่อที่ถดถอย

กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทเป็นกลุ่มที่มีสถานะเครดิตอยู่ในระดับที่อ่อนแอกว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระเกิน 90 วัน) ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทจึงสูงกว่าของคู่แข่ง

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของบริษัทแกว่งตัวขึ้นลงอยู่ระหว่าง 2.3% และ 3.6% ในระหว่างปี 2553-2556 การตัดหนี้สูญในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 ช่วยลดอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมให้ลดลงมาอยู่ที่ 3.2% ณ สิ้นปี 2557 และแม้จะมีการตัดหนี้สูญออกไป อัตราส่วนดังกล่าวก็ยังปรับเพิ่มขึ้นมาอีกที่ระดับ 3.7% ณ สิ้นปี 2558 ระดับ 4.3% ณ สิ้นปี 2559 และที่ระดับ 4.6% ณ สิ้นปี 2560

บริษัทมีอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับประมาณ 80% โดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 ทำให้บริษัทต้องตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นก็อาจส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัทได้

สินทรัพย์สอดคล้องกับหนี้สิน

บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะยาวต่อเงินกองทุนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2559 หลังจากการออกหุ้นกู้ใหม่ โดย ณ สิ้นปี 2560 ประมาณ 88% ของเงินกู้ยืมทั้งหมดของบริษัทเป็นเงินกู้ยืมระยะยาว บริษัทมีโครงสร้างเงินทุนที่สอดคล้องกับโครงสร้างสินเชื่อเช่าซื้อ กระแสเงินสดรับที่คาดว่าบริษัทจะได้รับในแต่ละปียังคงสูงกว่าภาระหนี้ที่ต้องจ่ายตามกำหนด บริษัทมีอายุสินเชื่อโดยเฉลี่ย 3 ปีถึง 5 ปี อย่างไรก็ตาม บริษัทมีกำหนดชำระคืนหุ้นกู้ในปริมาณที่ค่อนข้างมากในปี 2562 ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งเงินกู้ใหม่

บริษัทมีสถานะทางการตลาดที่อ่อนแอและไม่มีแหล่งเงินทุนที่มั่นคงรองรับ ในขณะที่คู่แข่งรายสำคัญล้วนเป็นบริษัทในเครือของสถาบันการเงินขนาดใหญ่และยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายกว่าด้วย บริษัทจะต้องเผชิญกับความท้าทายหากบริษัทจะต้องขยายพอร์ตสินเชื่อให้มากขึ้น ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ใหม่ได้ ซึ่งยิ่งมีแหล่งเงินกู้มากขึ้นก็ยิ่งส่งผลให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น

ฐานทุนอยู่ในระดับที่เพียงพอ

บริษัทมีสัดส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นเมื่อเทียบกับเงินทุนสูงกว่าคู่แข่ง โดยส่วนของผู้ถือหุ้นมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบ 50% ของเงินทุนทั้งหมด ซึ่งนับเป็นระดับที่แข็งแกร่ง กำไรในอดีตและการเพิ่มทุนในระยะหลังช่วยเพิ่มระดับส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมอยู่ในระดับสูงที่ 48.6% ณ เดือนธันวาคม 2560 แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

บริษัทสามารถขยายอัตราการเติบโตของสินเชื่อได้โดยใช้เงินกู้ยืม อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งหวังว่าบริษัทจะสามารถดำรงฐานทุนที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้ ซึ่งฐานทุนที่แข็งแกร่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากกลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีความอ่อนไหวเป็นอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของภาวะเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

ตามข้อกำหนดสำคัญของหุ้นกู้ บริษัทจะต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นเอาไว้ไม่เกิน 3 เท่า ซึ่งอัตราส่วนดังกล่าว ณ สิ้นปี 2560 อยู่ที่ 1.1 เท่า จึงถือว่าบริษัทปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ได้ในระยะปานกลางหากพิจารณาจากแผนการขยายธุรกิจตามปกติ

แนวโน้มอันดับเครดิต

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและผลประกอบการทางการเงินในระดับปัจจุบันไปพร้อมกับการรักษาฐานทุนให้แข็งแกร่งเอาไว้ได้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มหากบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดและสถานะทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นโดยที่ยังสามารถรักษาผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแกร่งเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทเสื่อมถอยลงจนส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไรและสถานะทางการเงินของบริษัท

บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ML)

อันดับเครดิตองค์กร: BBB-

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๔๑ ดิ เอราวัณ กรุ๊ป เปิดตัว HOP NextGen ชวนนักศึกษาเยี่ยมชม ฮ็อป อินน์ เรียนรู้เทคนิคบริการแบบ Consistency is Yours พร้อมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่
๑๖:๓๙ คิง เพาเวอร์ ต้อนรับเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปี เปิดแคมเปญ THE POWER OF FUNTASTIC CELEBRATION 2025 ฉลองทุกความสุข สนุกไม่รู้จบ
๑๖:๐๘ พันธุ์ไทย ชวนแฟนด้อม คัลแลนและพี่จอง จุ่ม การ์ดพันธุ์ไทยใจฟู ลิมิเต็ด อิดิชั่น
๑๖:๐๑ BAM ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE ตอกย้ำผู้นำ AMC ยุค 4.0 วางเป้าหมายยกระดับองค์กรสร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน เตรียมส่ง อิสระ เดอะซีรีส์ ชวนลูกหนี้ BAM
๑๖:๒๘ บางจากฯ ได้รับการประเมินด้านความยั่งยืนอันดับสูงสุดของโลก จาก SP Global 2024 ในกลุ่มอุตสาหกรรม Oil Gas Refinery and
๑๔ พ.ย. ซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล ออกบูธให้ความรู้เรื่องการใช้งานระบบดับเพลิงนร. พระหฤทัยนนทบุรี
๑๒ พ.ย. พนักงานซีเอเค อินเตอร์เนชั่นแนล รับรางวัลเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานดีเด่น
๑๖:๐๖ PROSPECT REIT ชูไตรมาส 3/67 โตเกินเป้า อัตราการเช่าพุ่งนิวไฮ หนุนจ่ายปันผลเด่น 0.2160 บาท
๑๖:๔๖ CHAO ประกาศงบ Q3/67 กำไรพุ่งกว่า 62% รับตลาดส่งออกพีค จีนโตเด่น แย้ม Q4 เดินหน้าบุกตลาดในประเทศ สินค้าใหม่หนุนยอดขายปลายปี
๑๖:๒๕ ฉลองเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2567 ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ