การรักษาเฉพาะบุคคล ทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง
โดย ศ. คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
ปัจจุบันนี้ "โรคมะเร็ง" ยังคงเป็นโรคร้ายที่เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในคนไทยเป็นอันดับ 1 ทั้งยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญลำดับต้นๆ ของประเทศไทย ศ.คลินิก พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา กล่าวว่า การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันมีพัฒนาการรุดหน้าไปมากทั้งยาเคมีบำบัด รังสีรักษา การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted therapy) รวมถึงการรักษาด้วย แอนติบอดี้ และ ภูมิคุ้มกันบำบัด หรือ "Immunotherapy" จนมะเร็งหลายชนิดมีโอกาสรักษาหายขาด อย่างไรก็ตามมะเร็งระยะแพร่กระจายจำนวนมากไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็สามารถยับยั้งการเติบโตและการแพร่กระจายของโรคมะเร็งได้ระดับหนึ่งด้วยการรักษาแบบมาตรฐาน โรคมะเร็งชนิดเดียวกันในผู้ป่วยแต่ละรายอาจตอบสนองต่อการรักษาแบบมาตรฐานต่างกัน ผู้ป่วยบางรายได้ผลดีผู้ป่วยบางรายอาจไม่ได้ผล ซึ่งอาจเป็นผลจากพันธุกรรมของมะเร็งในตัวผู้ป่วยที่แตกต่างกัน
ด้วยความก้าวหน้าของการแพทย์ ล่าสุดได้มีการนำเทคโนโลยีในการวินิจฉัยมาช่วยในการรักษาโรคมะเร็งที่เรียกว่า "Personalized Medicine" หรือ "Precision Medicine" ซึ่งก็คือ "การรักษาเฉพาะบุคคล" ด้วยการที่นักวิจัยและแพทย์จะทำการตรวจสอบระดับโมเลกุล (Molecular Profiling) ของก้อนมะเร็งของผู้ป่วย โดยการตรวจพันธุกรรมของก้อนมะเร็ง และโปรตีนที่สร้างจากเซลล์มะเร็งโดยละเอียดทำให้สามารถเข้าใจในรายละเอียดของพันธุกรรมและสารอื่นๆ ของมะเร็งในผู้ป่วยคนนั้นๆ ที่เป็นตัวทำให้มะเร็งในตัวผู้ป่วยแต่ละรายเติบโตและแพร่กระจาย
จากการค้นพบความผิดปกติในระดับพันธุกรรม รวมทั้งโปรตีนที่สร้างจากเซลล์มะเร็งในผู้ป่วยเฉพาะราย จะช่วยให้แพทย์สามารถคัดเลือกยารักษาโรคมะเร็งได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยามุ่งเป้า (Targeted therapy) หรือแม้แต่ยาเคมีบำบัดที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย และยังสามารถลดการใช้ยารักษาโรคมะเร็งที่อาจไม่ได้ผลดีและนำไปสู่ผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้
สำหรับ "เทคนิคการตรวจสอบระดับโมเลกุล (Molecular Profiling) ของก้อนมะเร็ง" ใช้วิธีการนำชิ้นเนื้อมะเร็งของผู้ป่วยไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานด้วยวิธีการทดสอบหลากหลายวิธี เช่น Next Generation Sequencing, Immunohistochemistry เป็นต้น ในต่างประเทศแพทย์อาจแนะนำการตรวจระดับโมเลกุล (Molecular Profiling) ของก้อนมะเร็งในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, โรคมะเร็งปอด, ผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะแพร่กระจายบางรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานแล้ว จากการตรวจวิธีนี้ มีแนวโน้มที่จะค้นพบความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือโปรตีนที่สร้างจากมะเร็ง และนำไปสู่การคัดเลือกยารักษามะเร็งที่เหมาะสมขึ้นในผู้ป่วยรายนั้นๆ ได้ อย่างไรก็ตามการตรวจสอบระดับโมเลกุล (Molecular Profiling) ยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากการวินิจฉัยยังมีข้อมูลจำกัดอยู่เพียงมะเร็งระยะแพร่กระจายเท่านั้น และราคาค่าตรวจค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีการใช้ในต่างประเทศเพียงบางประเทศ
สำหรับประเทศไทย การตรวจสอบระดับโมเลกุล (Molecular Profiling) ของก้อนมะเร็ง ยังมีการใช้อย่างจำกัดในโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง แต่หากในอนาคตอันใกล้ การตรวจวิธีนี้มีข้อมูลเพิ่มมากขึ้นในมะเร็งชนิดต่างๆและราคาถูกลง ก็จะเป็นการนำไปสู่การใช้ที่แพร่หลายมากขึ้น และสามารถเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทยได้เข้าถึงต่อไป