สรุปสาระสำคัญจากงาน “SD Symposium 2018” (ช่วงเช้า)

จันทร์ ๐๙ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๑๙
คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ความต้องการใช้ทรัพยากรเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าในปี ค.ศ.2030 (สองพันสามสิบ) ความต้องการใช้ทรัพยากรของโลกจะสูงถึง 3 เท่าของปริมาณทรัพยากรที่มีอยู่

ทั้งนี้ เนื่องจากจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภูมิภาคอาเซียนที่กำลังเดินหน้าพัฒนาประเทศและเพิ่มกำลังผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดโลก สวนทางกับปริมาณทรัพยากรที่ลดลงเรื่อยๆ จากการถูกทำลายและใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ซึ่งความไม่สมดุลนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อโลกอย่างมหาศาล

ขณะเดียวกัน เมื่อทรัพยากรถูกนำไปใช้งานแล้ว ก็จะกลายเป็นขยะจำนวนมาก โดยคนไทย 1 คน ปัจจุบันจะสร้างขยะเฉลี่ยถึงวันละ 1.1 กิโลกรัม ซึ่งที่จริงแล้วขยะเหล่านั้นสามารถนำกลับไปใช้เป็นทรัพยากรใหม่ได้มากกว่าร้อยละ 60 แต่ทุกวันนี้เรากลับสามารถนำไปใช้ได้เพียงร้อยละ 31 เท่านั้น จากการที่เราไม่ตระหนักในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ทำให้เราเสียโอกาสอีกมากที่จะนำทรัพยากรเหล่านั้นกลับมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อไป

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ Circular Economy ที่กำลังจะพูดถึงกันในวันนี้จึงเป็นแนวคิดที่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรเท่าที่จำเป็นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และไม่มีของเหลือทิ้งในกระบวนการตั้งแต่การผลิต การบริโภค จนถึงการจัดการเมื่อสินค้าหมดอายุ

อย่างไรก็ตาม การจะทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างสมบูรณ์และยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เอสซีจี ในฐานะภาคธุรกิจจึงขอเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน สามารถสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนได้อย่างแท้จริง

การจัดงาน "SD Symposium 2018" ครั้งนี้จึงเกิดขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค ภาคประชาสังคม และภาครัฐ โดยได้รับเกียรติจากองค์กรชั้นนำระดับโลก ตัวแทนภาครัฐ ผู้ประกอบการ SME Startup และชุมชน อาทิ Dow Chemical / Dupont / Michelin และ ธุรกิจแพคเกจจิ้งของเอสซีจี ที่จะมาร่วมเสนอตัวอย่างการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ เพื่อให้ผู้ร่วมงานได้รับฟังมุมมองใหม่ๆ ที่สามารถตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาให้กับโลกได้ ตลอดจนการบรรยายเรื่อง Circular Mindset จาก World Business Council for Sustainable Development และการเสวนาช่วงบ่ายในหลากหลายประเด็น

ท่านผู้มีเกียรติครับ เอสซีจียังได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ โดยมีการขับเคลื่อนผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่

หนึ่ง Reduced material use หรือเพิ่ม Durability คือ การลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิต เช่น กระดาษลูกฟูก Green Carton ที่ใช้การทำบรรจุภัณฑ์ สามารถวัตถุดิบลดลงร้อยละ 25 แต่คงความแข็งแรงเท่าเดิม ทั้งยังทำให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนในการขนส่งมากขึ้น และการลดการผลิตและการขาย single-use plastic ของเอสซีจี จากร้อยละ 46 เหลือร้อยละ 23 ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

การช่วยให้ลูกค้าลดการใช้พลังงาน เช่น Active AIRflow System ระบบระบายอากาศที่ทำให้บ้านเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าว ประหยัดค่าไฟจากการใช้เครื่องปรับอากาศ และ การเพิ่มความแข็งแรงทนทานของสินค้า เช่น ปูนโครงสร้างทนน้ำทะเลที่มีอายุการใช้งานเพิ่มขึ้น 2 เท่า

สอง Upgrade และ Replace คือ การพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้ทรัพยากรน้อยลงหรือนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น เช่น เม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนจากเทคโนโลยีใหม่ของเอสซีจี ที่สามารถนำพลาสติกรีไซเคิลมาผสมได้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และ ปูนโครงสร้างเอสซีจีสูตร Hybrid ที่ใช้ทดแทนปูนโครงสร้างสูตรเดิม ทำให้ใช้วัตถุดิบหินปูนที่ต้องเผาน้อยลง

และสาม Reuse และ Recycle คือ การเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น โรงอัดกระดาษเพื่อรวบรวมเศษกระดาษกลับมารีไซเคิล การนำขวดแก้วใช้แล้วมาทดแทนทรายธรรมชาติในการผลิตฉนวนกันความร้อน การพัฒนาสินค้า CIERRA ซึ่งเป็น Functional Material ที่ช่วยปรับคุณสมบัติพลาสติกให้สามารถใช้พลาสติกเพียงชนิดเดียว แต่ให้คุณสมบัติที่หลากหลายกับบรรจุภัณฑ์แทนการใช้วัสดุหลายชนิด ซึ่งยากต่อการนำไปรีไซเคิล ทำให้การรีไซเคิลทำได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น และ การนำขยะพลาสติกในทะเลและชุมชนมาเป็นส่วนประกอบสำหรับทำบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ระบบนิเวศทางทะเล

นอกจากนี้ เอสซีจีจะร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่สมบูรณ์ ดังเช่นในช่วงเย็นวันนี้ที่จะมีการจัดวงสนทนาของผู้นำองค์กรธุรกิจต่างๆ เช่น บางจาก / Dow Chemical / Tesco Lotus และ Panasonic เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาให้กับทรัพยากรโลกอีกด้วย

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณท่านรองนายกรัฐมนตรีและผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน ที่ให้เกียรติมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ และขอบคุณแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ทุกท่านที่มาร่วมแสดงเจตนารมณ์ขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่างานนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนนวัตกรรม และกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย 4.0 ได้ต่อไปในอนาคต

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

ต้องขอบคุณ SCG ที่จัดงานนี้ขึ้น เพราะมีเกือบพันคนจากทุกภาคส่วนที่ให้ความสนใจงานนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและแสดงให้เห็นถึงพลังของสังคมไทยว่าถ้ามีเรื่องดีๆ ที่ทำเพื่อสังคมไทยและสังคมโลกแล้ว คนไทยก็ไม่ได้นิ่งเฉย

เรื่อง Circular economy ไม่ได้สำคัญแค่สำหรับบริษัท สังคม หรือประเทศ แต่สำคัญสำหรับโลกโดยส่วนรวมด้วย ซึ่งถ้าเราย้อนกลับไปตั้งแต่เราเกิดมา ในทุกสังคมทุกประเทศที่เราเห็นจะพยายามพัฒนามาตรฐานการดำรงชีพ เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ในกระบวนการผลิตและบริโภค เราไม่ค่อยให้ความสนใจกับสิ่งที่ผ่านมาโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มแสดงความผิดปกติ เราผลิตโดยไม่สนใจมลภาวะ เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของสภาวะที่ไม่ได้คิดว่าจะเห็นมาก่อน ซึ่งถ้าเราไม่เปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ ก็ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

ผมยินดีที่ SCG ลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการทำงานเพื่อสังคม แม้เรื่อง Circular economy จะไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะได้ใช้มาแล้วในบางประเทศ EU Scandinavia และญี่ปุ่น และระยะหลังเราก็เริ่มเห็นประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นผู้ผลิตขึ้นมาทำ แต่ยังมีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้เป็นข้อจำกัด

ประการแรก คือ การสร้างความตระหนักรู้ซึ่งสำคัญที่สุด เพราะคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นไปได้ แต่สิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่มนุษยชาติจะดำรงต่อไปได้ในระยะยาว เราทราบดีว่าการสร้างความตระหนักรู้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว บางคนผลักไปสู่คนอื่นเขา แต่ถ้าในประเทศไทยสร้างความตระหนักรู้ไม่ได้ก็เกิดขึ้นไม่ได้

ประการที่สอง คือ Economic growth GDP เป็นเรื่องใหญ่ ระดับประเทศ หลายประเทศดิ้นรนให้พลเมืองมีอันจะกิน ให้คนอยู่รอดได้ เมื่อสิ่งนั้นเป็นจุด Focus ที่สำคัญ เรื่องอื่นก็เป็นรองไป ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในนั้น มีแค่บางประเทศที่มีการพัฒนาถึงจุดนั้นและคิดไปไกลกว่าประเทศอื่นก็จะลงมือทำ นี่คือข้อจำกัดของเรา

ประการที่สาม คือ ภาคเอกชนเป็นหลักสำคัญ ผมจำได้ว่าสมัยเรียนต่างประเทศซึ่งผ่านมา 30 ปี มี 2 องค์ความรู้หรือ School of though ที่สำคัญ

1. บริษัทจะสามารถดำรงอยู่ใน position ของตนอย่างไรในโลกของการแข่งขันให้ได้เปรียบในการแข่งขัน นี่คือแนวคิดของไมเคิล พอร์เตอร์ 30 ปีที่แล้ว พลังของแนวคิดนี้ทำให้ทุกประเทศในโลกและภาคเอกชนล้วนคิดอย่างเดียวว่าใน value chain เขาจะมีจุดไหนที่แข่งขันได้ แล้วโฟกัสไปที่ตรงนั้น เพราะฉะนั้น แนวคิดคือหาทรัพยากรมาให้ได้เปรียบที่สุด สร้างและคายมันออกมาเพื่อให้ขยายตัว ประเทศไทยเราเกือบทุกบริษัท หลายคนจบเอ็มบีเอก็ได้รับการถ่ายทอดแนวคิดนี้มา

2. อีกองค์ความรู้หนึ่งบอกว่า ในตลาดที่เราอยู่ ทำอย่างไรจึงจะออกจากตลาดแข่งขันสูงไปหาตลาดใหม่ หรือหา Blue ocean คือ ไปหาดินแดนใหม่ๆ ที่คนคิดไม่ถึง

สององค์ความรู้นี้ รวมวิธีการทำธุรกิจของคนแทบทั้งโลก แต่อย่าลืมว่าทั้งสองโรงเรียนนี้ เมื่อดำเนินธุรกิจไปเรื่อยๆ ปลาก็หมด ทรัพยากรก็หมด จึงถึงเวลาที่เราต้องมายั้งคิดว่าองค์ความรู้เหล่านี้มีอะไรที่ยังบกพร่องที่เราต้องเติมเต็ม แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องของรัฐบาลหรือเอกชน แต่เป็นเรื่องของประชาชนด้วย ถ้าประชาชนไม่สนใจก็ยากที่เอกชนจะมาสนใจ โดยเฉพาะเรื่องนี้ที่ผมจะใช้คำว่า paradigm shift คือ มันไม่ง่ายที่จะทำให้องค์กรเปลี่ยนวิธีคิด Re-design กระบวนการผลิต หาสิ่งที่ยากมาแทนสิ่งที่คุ้นเคยกว่าที่เราได้รับการอบรมสั่งสอนมา ซึ่งถ้าประชาชนไม่มีระเบียบวินัยก็ยากที่จะเปลี่ยนความคิด

ถ้าให้ผมเปลี่ยนในเชิงการตลาด คงต้องบอกว่ามันเป็น Management of innovation หรือเป็นนวัตกรรม ซึ่งคนจะยึดนวัตกรรมและทำให้สำเร็จได้ต้องสร้างความตระหนักรู้ ชี้ให้เห็นประโยชน์ เพื่อให้สามารถระดมพลังได้มากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เกิดขึ้นได้จริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่วันนี้ต้องชมเชยว่า SCG กล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาขับเคลื่อนเรื่องนี้

ประเทศไทยต้องยอมรับว่าเราเป็นหนึ่งในประเทศที่ช้าในเรื่องนี้ จนเราเห็นปลาวาฬเกยตื้นตายและพบพลาสติกเต็มไปหมด ถ้าไม่เห็นกับตาก็คงไม่เชื่อ แต่เห็นแล้วจะมีอะไรเกิดขึ้นนั่นคือสิ่งสำคัญ ประเทศเราดิ้นรนมาตลอด 20 ปี ตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งที่ผ่านมา ไม่มีใครมีเวลาไปคิดเรื่อง circular economy แต่วันนี้เราดีขึ้นแล้ว จึงเป็นจังหวะที่ดีที่จะได้คิดอะไรไปข้างหน้า รัฐบาลบอกว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศสู่ความยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่แค่ทันสมัยหรือแข่งชนะคนอื่น แต่เราต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ได้ ไม่ว่าจะเป็น productivity หรือ value แต่ circular economy คือสิ่งที่เกื้อกูลต่อการสร้างมูลค่าและคุณค่านั้น แต่มันอยู่ไกลและคนไทยมองไม่เห็น ภาครัฐบาลเราเห็นชัด ท่านนายกรัฐมนตรีจึงบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินงานและการปักหมุดจุดเริ่มต้นว่าการพัฒนาประเทศต้องเน้นความยั่งยืนและดูแลสิ่งแวดล้อมให้คนรุ่นหลัง

การประชุม ครม. ครั้งที่แล้วพูดถึงขยะว่ายังไม่เป็นองค์รวมในการแก้ไขปัญหา และการประชุม BOI ที่ผ่านมาสัปดาห์ที่แล้วเราหารือกันว่านโยบายทางภาษีที่เป็นแบบ project by project จะต้องยึดแบบ Agenda approach ซึ่งถ้าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผลได้เราก็ยินดีช่วย และ Circular economy ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น เพื่อทำให้ประเทศเราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเกื้อกูลโลก เพราะภาครัฐบาลจะต้องเป็นผู้ชี้แนะที่ดี ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ดี เพื่อทำให้ทุกคนเข้ามาทำงานเรื่องนี้ โดยเฉพาะในเรื่องมาตรการภาษีและแรงจูงใจ ซึ่งเป็นองค์รวมที่ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะมานั่งคุยกัน และในไม่ช้าทุกท่านจะได้เห็นแน่นอน

ในส่วนของภาคเอกชน วันนี้เป็นจุดเริ่มต้น แต่ผมคิดว่าไม่ง่าย เพราะการพูดคุยกับเอกชนให้มีจิตสำนึกเป็นเรื่องสำคัญมาก หลายคนมาทำแล้วถอดใจเพราะบอกว่าถ้าคิดกลับไปเป็นตัวเงินไม่ได้ก็ไม่อยากทำ แต่ยุคนี้เอกชนมีจิตสำนึกเพียงพอและต้องเป็นการรวมพลังเคลื่อนไหวทางสังคม โดยต้องให้ตลาดหลักทรัพย์ หอการค้าฯ หรือสภาอุตสาหกรรมเข้ามาร่วม จึงจะเกิดพลังยิ่งใหญ่ในการการสร้างความตระหนักรู้ร่วมกัน

งานวันนี้ คือจุดเริ่มต้นที่ช่วงแรกอาจจะลำบากเพราะต้นทุนอาจเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวจะเกิดประโยชน์กับท่านเอง การสร้างตัวอย่าง สื่อสาร และให้สื่อมวลชนช่วยขับเคลื่อนเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและร่วมเคลื่อนไหวไปพร้อมกับภาคเอกชน คนไทยส่วนใหญ่มีการศึกษาเรื่องนี้ไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างยิ่ง เอกชนจึงควรต้องใช้โอกาสนี้ระดมพลมาให้เกิดความตื่นตัว แต่ที่สำคัญคือภาคประชาชนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องและกระตุ้นให้เกิดขึ้นตัวอย่างง่ายๆ คือการใช้กระเป๋าหนังจระเข้ แรงกดดันที่ดีที่สุดที่ทำให้เลิกใช้ได้คือประชาชน ฉะนั้นถ้าท่านจะไม่ใช้ถุงที่ย่อยสลายไม่ได้ ท่านก็ต้องใช้ประชาชนเป็นกลุ่มที่สร้างแรงผลักดัน

ความร่วมมือกันในวันนี้ไม่ใช่แค่ภายในอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น แต่ภายนอกก็สำคัญ เพราะของเสียจากอุตสาหกรรมหนึ่งอาจใช้งานได้กับอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง จึงควรค่อยๆ ปลูกฝังในผู้ประกอบการ และถ้าสามารถสร้าง Startup ใหม่ๆ บนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ แนวคิดนี้ก็จะสามารถข้ามแนวคิดเดิมๆ ในอดีตได้ เช่น Startup ที่จะเอาขยะมาเปลี่ยนเป็นของที่มีคุณค่า คนรุ่นใหม่จึงมีความสำคัญมากไม่แพ้คนรุ่นเก่า

ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้ เรื่องอื่นๆ ก็จะทำได้หมด ทั้งวินัยเศรษฐกิจหรือการเมือง เราจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในทางที่ดีด้วยการให้คนที่มีประสบการณ์จะเข้ามาชี้แนะ ที่น่ายินดีคืองานเย็นวันนี้มี CEO มาเกือบ 40 คนก็จะช่วยสร้างพลังให้เกิดขึ้นได้

ปาฐกถาในหัวข้อ "Circular Mindset" โดย Mr.Peter Bakker, President & CEO of WBCSD

เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่หลายๆ ประเทศเริ่มทำกันแล้ว และมีบริษัทมากมายที่เข้ามาร่วมงานกันในวันนี้ ผมจึงหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจที่จะขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เดินต่อไปได้

วันนี้โลกของเราซับซ้อนขึ้น บทบาทของการเมืองมีอิทธิพลครอบคลุมเรื่องอื่นๆ ค่อนข้างมาก ทำให้ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและธุรกิจคาดเดาทิศทางและการดำเนินงานได้ยาก และความยั่งยืนก็เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงกันมากขึ้น อย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีพลังมหาศาล เช่น มี 31% ของคนไทยทำการเกษตรและได้รับผลกระทบเรื่องภูมิอากาศ ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ยังมีอีกมากมายและมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังเป็นเรื่องยากที่จะสามารถบริหารจัดการสภาพแวดล้อมในสังคมทั่วไปได้

ในการประชุม World Economic Forum ทุกปีคุยกันว่าความน่าเชื่อถือของผู้นำลดลง โดยเฉพาะเรื่องการเงิน และหลังจากวิกฤตในปี 2008 เรื่องการเมืองก็ได้รับความน่าเชื่อถือลดลง ผู้บริหารไม่ค่อยได้รับความไว้วางใจ เพราะความซับซ้อนของระบบเศรษฐกิจไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน อย่างเช่นกรณี Brexit หลายคนมองว่าผู้นำมาทำงานเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง

จากปัจจัยความไม่มั่นคงในเรื่องต่างๆ ทำให้เราได้ยินเรื่องเป้าหมายอย่างยั่งยืนปี 2020 ตั้งแต่การประชุมที่ Paris เมื่อปี 2015 ซึ่งทุกประเทศได้มีฉันทามติที่จะเดินรอยตามความยั่งยืน Paris agreement ว่าจะไม่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศา เพราะ 1.5 องศาที่เพิ่มขึ้นจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกมหาศาล และ 0 emission เป็นเป้าหมายที่ต้องเดินไปทั้งในทุกกิจกรรม

การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นเป้าหมาย (SDG) ของประเทศตามมติแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีที่ทุกคนต้องการ โดยมี 17 ข้อที่ต้องดำเนินตามใน SDG ซึ่งมีข้อ 12 เกี่ยวข้องกับการผลิตและการบริโภคอย่างมีรับผิดชอบ และถ้าเราไม่เริ่มขับเคลื่อน Circular economy เราคงเดินหน้าสู่เป้าหมายของข้อ 12 นี้ไม่ได้ แม้ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่ก็ต้องใช้เวลาถึง 9 ปีจึงจะเกิด SDG ได้

ปี 2017 เป็นต้นมาหลายคนเริ่มพูดเรื่องพลาสติกในทะเล โดยเฉพาะเมื่อเราเห็นพลาสติกในท้องวาฬที่ตายซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของไทย แต่เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกตระหนกและตระหนัก โดยมีการประชุมกันในหลายประเทศเรื่องพลาสติกเพื่อเตรียมวางมาตรการจัดการดูแล

20 ปีก่อน เราพูดถึงการอุทิศเพื่อสังคม 10 ปีถัดมา เราพูดถึง CSR คือแค่รับผิดชอบต่อสังคม แต่วันนี้เรามาพูดถึงการสร้างความยั่งยืน โดยนำมาบรรจุเข้าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขององค์กร และถ้าเราผนวกเข้าเป็นเรื่องเดียวกันและกำหนดทิศทางมันไม่ได้เราก็เป็นผู้นำไม่ได้ และอนาคต เรื่องของความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียนควรต้องถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐด้วย เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ

วันนี้ผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกมาทำงานร่วมกันเพื่อหาคำตอบว่าเราจะบรรจุความยั่งยืนเข้าไปในแผนธุรกิจได้อย่างไร และเราจะสร้างคุณค่าจากกระบวนการเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโอกาสทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอื่นๆ โดยมีงานวิจัยที่ระบุว่าหลายๆ ธุรกิจสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นได้จากการทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเป้าหมายใหญ่ขององค์กร เพราะการใช้ทรัพยากรเป็นเรื่องสำคัญที่จะตอบโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ขององค์กรและเป็นโอกาสสำคัญ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้จะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้นำหลายคนจะทำได้และประสบความสำเร็จ จึงต้องค่อยๆ ปรับกระบวนการธุรกิจไป (system transformation) เป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดหรือมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ความร่วมมือกันเป็นเรื่องสำคัญเพราะจะทำให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้น และนวัตกรรมจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดวิธีคิดใหม่ๆ ด้วย

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ตรงข้ามกับระบบเศรษฐกิจเดิมที่เป็นเส้นตรง ซึ่งเรานำทรัพยากรมาใช้ ให้ผู้บริโภคใช้สินค้า แล้วทิ้งไป (take-make-dispose) หรือเราเลือกที่จะเปลี่ยนให้เป็นการนำกลับมาใช้ให้หมุนเวียนเป็นวงกลม (make-use-return) ซึ่งเป้าหมายคือเราต้องคิดใหม่ในวิธีการเพื่อให้การใช้ทรัพยากรเป็นไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ในกระบวนการผลิตจะมีการใช้วัสดุ 2 ประเภท คือ biological และ technical หากเราสามารถใช้ waste จาก Biological material กลับมาใช้ในการเกษตรใหม่ได้ ส่วนวัสดุจาก Technical material นั้น ต้องลองหาวิธีการว่าจะสามารถเอามารีไซเคิลได้ไหม นั่นคือเป้าหมายของคำว่า return

เมื่อพูดถึงโอกาสทางธุรกิจกับกระบวนการบนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผมมองว่าพลังงานทางเลือกเป็นโอกาส เพราะถ้าเราลดต้นทุนการผลิตได้ เราก็จะเปลี่ยนวิธีการทำงานได้ ดังเช่นรายงานที่ว่าในปี 2050 โลกจะใช้วัสดุในการผลิตเยอะขึ้นกว่าปัจจุบันถึง 400% หรือเรียกว่าเราจะใช้ทรัพยากรมากกว่าที่โลกจะผลิตได้ ประกอบกับเมื่อประชากรเยอะขึ้น เราจึงต้องคิดร่วมกันว่าโลกจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไร จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่เราจะนำวัสดุกลับมาใช้หรือสร้างทางเลือกให้กับการผลิตและการใช้พลังงาน ซึ่งต้องให้รัฐบาลหลายๆ ประเทศมาทำงานร่วมกัน รวมทั้งต้องรวมพลังกันระหว่างภาคธุรกิจเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญ 5 ประการสำหรับธุรกิจที่จะเดินบนเส้นทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งควรนำมาพิจารณา ได้แก่ สินค้าจะมีอายุยาวนานได้อย่างไร จะทำบริการให้เกิด sharing platform ได้อย่างไร จะนำทรัพยากรมาหมุนเวียนใช้ได้อย่างไร จะทำบริการให้เป็นสินค้า (Product as a service) ได้อย่างไร และ จะทำอย่างไรให้เกิด Circular supplies)

การที่เราจะใช้เศรษฐกิจหมุนเวียนในองค์กรได้มากแค่ไหน เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่ามันคืออะไร และต้องทำในเชิงนโยบาย เช่น แนวทาง Global plastic Initiative คือ 90% ของพลาสติกที่หมุนเวียนในการบริโภคได้หายไป มีแค่ 30% ที่ถูกนำกลับมาใช้ จึงมีความพยายามหลายอย่างที่จะทำให้เกิดการเลิกใช้พลาสติก แต่จริงๆ แล้วพลาสติกเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติที่ดี จึงควรเปลี่ยนเป็นการทำให้สามารถใช้ได้มากกว่าครั้งเดียวจะดีกว่า ซึ่งขณะนี้นโยบายของโลกก็กำลังถูกเขียนขึ้นและจะนำมาใช้ในเร็ววันนี้ แต่หลายธุรกิจก็ได้เริ่มดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาพลาสติกกันไปแล้ว

วันนี้หลายคนอาจได้ยินเรื่องนี้เป็นครั้งแรก ดังนั้นประเด็นสำคัญคือจะทำอย่างไรให้เกิดผลในวงกว้าง เราจึงต้องเริ่มจากการร่วมมือกัน ที่สำคัญคือความโปร่งใสในกระบวนการทำงาน นอกจากนี้ วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร และนโยบายภาครัฐก็สำคัญ เราต้องเชื่อว่าความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับวันนี้เพราะลูกค้าของเราอยากรู้ว่าเราทำอะไร สร้างสรรค์อะไร และสร้างโอกาสอะไรให้สังคมและโลกบ้าง

อภิปราย (แบบคณะ) ในหัวข้อ "The Success cases of Circular Economy Business" โดย DuPont, Michelin, DOW Chemical และ เอสซีจี

- Dr. Antoine Sautenet, Diplomatic Advisor, Group Public Affairs Department Asia & Market Access, Michelin

มิชลินเป็นที่รู้จักในนามของผู้ผลิตยางรถยนต์ โดยไทยเป็นประเทศหลักในการทำธุรกิจของบริษัทมากว่า 30 ปี โดยร่วมธุรกิจกับ SCG มีโรงงานทั้งหมด 6 แห่ง อย่างไรก็ตาม มิชลินยังมีการดำเนินธุรกิจอื่นๆ อย่างหลากหลาย เช่น Michelin guide

มิชลินให้ความสำคัญกับสังคมไทยด้านการพัฒนาและดูแลสิ่งแวดล้อม วันนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งเรื่องอากาศ ป่าไม้ สัตว์ป่า และเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทรัพยากรธรรมชาติกำลังลดลง มิชลินต้องเปลี่ยนแปลงการทำงานไปสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืน

ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นเรื่องที่มิชลินให้ความสำคัญ โดยมองเป็นเป้าหมายที่ต้องบรรจุเป็น DNA และเป็นกลยุทธ์ของบริษัท ดังสโลแกนที่ว่า Better way forward ที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนในทุกกระบวนการทำงานขององค์กร ตั้งแต่การผลิต การเลือกวัสดุในการผลิต จนถึงปลายทาง

เมื่อกล่าวถึงเศรษฐกิจหมุนเวียน ในปี 2050 จากการคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณรถที่เพิ่มขึ้นนั้น นับเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับผู้ผลิตอย่างมิชลิน โดยต้องนำกลยุทธ์ 4Rs : Reduce Reuse Renewable Recycle มาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์แบบ Eco design ให้สามารถยืดอายุการใช้งาน อีกทั้งยังประหยัด และลดการผลิตขยะให้โลก ปัจจุบันในกระบวนการผลิต โรงงานทุกแห่งของมิชลินใช้แนวคิด recycle / reuse มาใช้ในกระบวนการผลิตแล้วกว่า 2 ทศวรรษ

ในอนาคต ยานพาหนะจะฉลาดขึ้น จะมีการใช้ไบโอเมตริกในการออกแบบ และใช้ไบโอดีเกรดเดเบิลเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต มิชลินจึงต้องพัฒนายางรถยนต์ให้ตอบโจทย์ โดยใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติ สำหรับมิชลินนั้น ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงหมายถึง นวัตกรรม และการเติบโตอย่างยั่งยืน

สำหรับความท้าทายของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จริงนั้น เริ่มต้นที่ DNA ของมิชลิน "Better Way Forward" โดยต้องประเมินการเกิดผลกระทบในกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นหาวัตถุดิบ จนถึงปลายทาง ซึ่งเป็น กระบวนการการทำงานที่เป็นระบบของมิชลิน

- Mr. Surendra Bade, Country Leader, Dupont Industrial Bioscience Thailand, DuPont

DuPont ทำงานบนพื้นฐานของการร่วมมือกันระหว่างพันธมิตร โดยเชื่อว่าการร่วมมือกันเป็นเรื่องที่ทำให้ DuPont ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันจึงร่วมมือกับบริษัทหลายแห่ง เช่น Home care company ที่ช่วยให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนแปลงของ DuPont ไปสู่การทำงานในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้น เริ่มต้นจากการใช้วัสดุที่มาจากชีวภาพโดยใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเพื่อให้สามารถตอบตอบโจทย์นี้ได้

ล่าสุด DuPont ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตไบโอพลาสติก ทำให้สามารถผลิตพลาสติกแบบใหม่ นอกจากนั้น Recycle and renewable เป็นเรื่องที่ DuPont ให้ความสำคัญ เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยปัจจุบัน DuPont ใช้เทคโนโลยีไบโอแมทโพลีเมอร์ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาของ DuPont ที่สามารถนำวัตถุดิบตั้งต้น คิดเป็นร้อยละ 27 ไปรีไซเคิลได้ นับเป็นตัวอย่างของแนวคิดการใช้นวัตกรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน และช่วยให้การบริหารจัดการขยะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน

ปัจจุบันที่มีขยะจากเศษอาหารมากมายเหลือทิ้ง DuPont ได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตอาหารสัตว์เพื่อพัฒนาอาหารที่จะช่วยเสริมคุณภาพของปศุสัตว์ให้ดียิ่งขึ้น ตามหลักด้านความยั่งยืนข้อ 12 : Food Waste นอกจากนั้น DuPont ได้ให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบและการพัฒนาแพคเกจจิ้ง ทั้งนี้ ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล เอ็นจีโอ ผู้บริโภค เพื่อนร่วมองค์กร และเพื่อนในอุตสาหกรรม

สำหรับความท้าทายของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จริงนั้น DuPont เชื่อว่านวัตกรรมจะสร้างการเติบโตให้กับทุกคน โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนมุมมองในการซื้อสินค้าของผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรม การร่วมมือกันของแต่ละภาคส่วน จะทำให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอการขับเคลื่อนจากภาครัฐ แต่เอกชนก็สามารถเป็นผู้นำ ทำให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นกัน

- Mr. Jeff Wooster, Global Sustainability Director, The Dow Chemical Company

ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเราเหลือทรัพยากรไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนทั้งโลกแล้ว ซึ่งประเด็นนี้สำคัญมาก และไม่เพียงแต่สังคมหรือบริษัทที่ต้องตระหนัก แต่เป็นเรื่องที่สังคมโลกต้องให้ความสำคัญ ในฐานะภาคเอกชน Dow Chemical ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นระยะเวลานาน โดยได้ถอดบทเรียน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต้ององค์กรอื่นๆ ได้นำไปปรับใช้ เช่น การกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน 2025 และทิศทางการดำเนินการ การออกแบบกระบวนการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบและผลิตแพคเกจจิ้งที่สามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การทำงานร่วมกันพันธมิตร กระบวนการทำงานที่มีนวัตกรรม และการใช้เทคโนโลยี และการดำเนินธุรกิจบนแนวทางความยั่งยืน

ปัจจุบัน Dow Chemical ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกด้วยเช่นกัน จึงได้มีความพยายามคิดหาทางออก โดยเริ่มต้นคิดจากภาพใหญ่และคิดหา Solution เพื่อแก้ปัญหาโดยไม่ให้เกิดผลกระทบกับโลกและธุรกิจ

ที่ผ่านมา พลาสติกถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยร้าย Dow Chemical จึงได้พัฒนารูปแบบการใช้พลาสติก โดยมีแนวคิดเรื่องการรีไซเคิลพลาสติกผ่านการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ สำหรับประเทศไทยที่เริ่มต้นทำงานเรื่องดังกล่าว การสื่อสารกับผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญ

สำหรับความท้าทายของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จริงนั้น Dow Chemical มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ 6 โครงการสำเร็จภายใน 2025 โดยมีการเริ่มนำแพคเกจจิ้งที่ลูกค้าใช้แล้วเอามารีไซเคิล อีกทั้งยังมีโครงการอื่นๆ ที่ทำเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมที่มุ่งทำให้เกิดประโยชน์จริง ที่สำคัญคือ ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย

- คุณธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี

เศรษฐกิจหมุนเวียนของธุรกิจแพคเกจจิ้ง เอสซีจี ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจะใช้กระดาษรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตอยู่แล้ว แต่ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อเป็นการลดการใช้วัตถุดิบ SCG ได้เสริมเรื่องการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการลดความหนาของกระดาษลงร้อยละ 20-25 ในขณะเดียวกันก็ยังคงความทนทานและความแข็งแรงของกระดาษได้

ด้านการออกแบบก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานที่แตกต่างกันไป เช่น

พาเลทกระดาษสามารถนำมาใช้แทนพาเลทไม้ได้ รับน้ำหนักได้มากถึง 800 กิโลกรัม (เวทีการจัดงานในวันนี้ก็ใช้กระดาษเป็นโครงสร้าง) หลังจากใช้ไปแล้วก็สามารถนำกลับไปรีไซเคิลเป็นแพคเกจจิ้งได้อีก กระบวนการนี้นับเป็นส่วนหนึ่งที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียน

นอกจากนั้น SCG ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นบนมือถือที่ช่วยเชื่อมต่อกับลูกค้าและคู่ค้า ไม่ใช่เพื่อความสะดวกเพียงอย่างเดียว แต่ Digital Platform นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเก็บข้อมูลด้วย การพัฒนานี้ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน SCG เพียงผู้เดียวไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ ซึ่งในอนาคต SCG จะสามารถพัฒนาต่อยอดเรื่องนี้ต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเริ่มทำคือการสร้างจิตสำนึกและการตระหนักรู้ของคนให้รู้จักการคัดแยกขยะ ผนวกกับเร่งปลูกฝังความคิดเรื่องความยั่งยืน โดยจะมีภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อ และสังคม เป็นผู้สนับสนุน และหากทุกภาคส่วนร่วมทำงานไปพร้อมกัน เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยจะเกิดขึ้นได้

สำหรับความท้าทายของการนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้จริงนั้น สิ่งสำคัญที่สุด อยู่ที่ความคิดของคน การสร้างการตระหนักรู้ และสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ และให้เห็นความสำคัญ ทั้งหมดนี้ ลำพังเพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้ทั้งหมด ความร่วมมือกันถือเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ SCG ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจให้ทุกคนเข้าใจทิศทางการทำงานที่ตรงกัน หากทำได้ก็จะช่วยให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรได้ดีขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๓:๒๔ แจกจริง! แบรนด์ซุปไก่สกัดส่งมอบรถเทสล่า มูลค่า 1.649 ล้านบาท ให้ผู้โชคดี ในแคมเปญ ดื่มแบรนด์ สแกนเลขในขวด ปี
๐๒ เม.ย. GFC ตอบโจทย์ทุกความปลอดภัยเรื่องอาคาร - ถังแช่แข็งตัวอ่อน เปิดให้บริการสำหรับผู้มีบุตรยากตามปกติครบ 3
๑๓:๕๗ KJL ลุยภาคใต้! จัดใหญ่สัมมนา 'รวมพลคนไฟฟ้า ON TOUR' ที่ภูเก็ต
๐๒ เม.ย. แว่นท็อปเจริญ จับมือ กรมกำลังพลทหารบก แนะแนวการศึกษาและอาชีพ สร้างโอกาสแก่ทหารกองประจำการและครอบครัว
๐๒ เม.ย. AnyMind Group คว้ารางวัล Gold ในงาน Martech Innovation Awards 2025
๐๒ เม.ย. โชว์พลังดีไซน์ไทยในงาน STYLE Bangkok 2025 รวมแบรนด์ดาวรุ่งจาก Talent Thai และ Designers' Room ที่คุณไม่ควรพลาด
๐๒ เม.ย. ธนาคารกสิกรไทย จัดสัมมนาใหญ่ K WEALTH Forum: เจาะลึก 5 ปัจจัยเปลี่ยนเกมการลงทุนโลก
๐๒ เม.ย. PSP ปิดดีลทุ่ม 409.5 ลบ. ถือหุ้นใน รีไซเคิล เอ็นจิเนียริ่ง (RE) ปักหมุดธุรกิจสู่ศูนย์กลางรีไซเคิลสารเคมีแห่งภูมิภาค
๐๒ เม.ย. กลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดรับสมัครสอบชิงทุน CIMB ASEAN Scholarship 2025 ทุนเรียนต่อปริญญาตรี - ปริญญาโท พร้อมโอกาสร่วมงานกับกลุ่มซีไอเอ็มบี
๐๒ เม.ย. ศูนย์การค้าเครือเอ็ม บี เค เปิดพิกัดจุดสรงน้ำพระ เสริมสิริมงคลกับเทศกาล สงกรานต์อิ่มบุญ