นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ทำเลประดิพัทธ์เป็นทำเลใหม่ที่น่าจับตามอง ภาพรวมของย่านพหลฯ-ประดิพัทธ์ยังคงความคลาสสิค เป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนเก่าแก่ โรงแรม เต็มไปด้วยร้านค้าและร้านอาหารชื่อดัง ซึ่งประกอบกิจการในอาคารพาณิชย์ 3-4 ชั้น เป็นช่วง ๆ ตลอดแนวถนนประดิพัทธ์ การเจริญเติบโตของเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ศักยภาพในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของย่านนี้เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันราคาที่ดินในตลาดตลอดแนวถนนเสนอขายที่ราคาตารางวาละ 600,000 – 800,000 บาท โดยบริเวณข้างเคียง ได้แก่ บริเวณซอยย่อยในทำเลอารีย์ บริเวณถนนพหลโยธินตั้งแต่ช่วงจตุจักรไปจนถึงสถานีบีทีเอสสะพานควาย และช่วงสถานีบีทีเอสสะพานควายไปตลอดจนถึงอนุสาวรีย์ฯ เสนอขายที่ดินที่ราคาตารางวาละ 600,000 – 800,000 บาท 900,000 – 1,000,000 บาท และ 1,200,000 – 1,500,000 บาท ตามลำดับ
ราคาคอนโดมิเนียมเฉลี่ยในทำเลพหลฯ-ประดิพัทธ์ปัจจุบันเสนอขายที่ราคาตารางเมตรละ 170,000 บาท ซึ่งเป็นระดับราคาเฉลี่ยที่ต่ำกว่าราคาคอนโดมิเนียมบนถนนเส้นหลักพหลโยธินตั้งแต่ช่วงสถานีบีทีเอสสะพานควายไปจนถึงอนุสาวรีย์ที่เสนอขายในราคา 218,000 บาท/ตารางเมตร โดยทั้งสองทำเลมีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน ทั้งในแง่ของขนาดถนน การคมนาคม และสาธารณูปโภค
สำหรับคอนโดมิเนียมในบริเวณข้างเคียง ได้แก่ บริเวณซอยย่อยในทำเลอารีย์ และบนถนนพหลโยธินในทำเลจตุจักร มีระดับราคาเฉลี่ยต่อตารางเมตรอยู่ที่ 154,000 บาท และ 166,000 บาท ตามลำดับ แม้ว่าทำเลดังกล่าวจะอยู่ห่างจากทำเลพหลฯ-ประดิพัทธ์ในระยะที่ไม่แตกต่างกัน แต่ระดับราคาคอนโดมิเนียมเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่ำกว่า ซึ่งสอดคล้องกับปัจจัยทางด้านกายภาพของบริเวณซอยย่อยในทำเลอารีย์ ที่ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็ก ขนาดอาคารที่อยู่อาศัยไม่เกิน 8 ชั้น และที่ตั้งโครงการคอนโดมิเนียมทำเลจตุจักรมีระยะการเข้าถึงกรุงเทพฯ ชั้นในมากกว่า เมื่อเทียบกับทำเลอื่นข้างต้น
ทำเลใกล้กัน ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน
ทำเลพหลฯ-ประดิพัทธ์ สามารถเข้า-ออกได้หลายเส้นทาง และหลายรูปแบบ อยู่ในระยะเดินทางไปยังเส้นทางหลักถนนพหลโยธินและถนนพระรามที่ 6 โดยใช้เวลาประมาณ 5-10 นาทีด้วยรถยนต์ หรือในระยะเดินเท้า 10-15 นาที ใช้เส้นทางลัดไปยังทำเลอารีย์ได้จากซอยย่อยต่าง ๆ การเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าที่ใกล้ที่สุดทั้งสถานีสะพานควายและอารีย์ อยู่ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันกับทำเลที่ตั้งที่อยู่ระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบนถนนพหลโยธิน นอกจากนี้การใช้บริการทางพิเศษทั้งการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพชั้นใน กรุงเทพฝั่งเหนือหรือวงแหวนรอบนอก ก็สามารถใช้บริการได้ในระยะรัศมี 2 กิโลเมตร
พื้นที่โดยรอบทำเลมีสาธารณูปโภคอื่น ๆ ครบครัน มีห้างสรรพสินค้าและ คอมมูนิตี้ มอลล์กว่า 10 แห่ง สถานศึกษาขนาดใหญ่ 2 แห่ง โรงพยาบาล 6 แห่ง สถานที่ราชการ 7 แห่ง และอาคารสำนักงานอีกนับไม่ถ้วนทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ยังไม่นับรวมถึงร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านสะดวกซื้อที่กระจายตัวอยู่อีกจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับทำเลใกล้เคียง จะพบว่าสิ่งแวดล้อมโดยรอบแทบจะเป็นสิ่งแวดล้อมเดียวกัน
ทำเลที่มีแผนพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
เป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ตั้งแต่มีโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียวเปิดให้บริการ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าเส้นแรกของประเทศไทยเชื่อมพื้นที่กรุงเทพฝั่งเหนือ (จตุจักร) กรุงเทพชั้นใน และฝั่งตะวันออก (แบริ่ง) การปรับเปลี่ยนผังเมืองตามการเจริญเติบโตของเมือง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีน้ำตาลและมีสีแดงเป็นบางช่วง นั่นทำให้พื้นที่โซนนี้มีศักยภาพในการพัฒนาในอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับขนาดที่ดิน สามารถพัฒนาได้ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูง รวมไปถึงเพื่อการพาณิชย์ โรงแรมและสำนักงาน เป็นต้น
ปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะเปิดใช้บริการในปี 2563 ได้แก่ ส่วนคมนาคม คือรถไฟฟ้าสายสีแดง ตลอดแนวถนนกำแพงเพชร 5 โดยสถานีที่ใกล้กับทำเลนี้ที่สุดคือ สถานีประดิพัทธ์ ซึ่งจะทำให้การเดินทางสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และส่วนที่เป็นอาคาร 2 โครงการ คือ เดอะไรส์ บาย ศรีศุภราช เป็นโครงการมิกซ์ ยูสของกลุ่มศรีศุภราชกรุ๊ป รวมค้าปลีก ช็อปปิ้งมอลล์และโรงแรมระดับ 4 ดาว โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลวิมุตติ ของบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เป็นโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพ บนพื้นที่รวม 7 ไร่เศษ นอกจากนี้ยังมีโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ซึ่งมีแผนจะเปิดให้บริการภายใน 5-15 ปีนี้ ได้แก่ เดอะ ยูนิคอร์น โครงการมิกซ์ ยูส ของบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีแนวคิดจะสร้างให้เป็นศูนย์กีฬา รวมร้านค้าปลีกและพื้นที่สำนักงานไว้ด้วยกัน และโครงการ บางกอก เทอร์มินอล อยู่ระหว่างการพัฒนาที่ดินให้เป็นมิกซ์ ยูส มีพื้นที่สำนักงาน โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ที่จอดรถ และพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถานีขนส่ง สุดท้ายคือโครงการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ บนพื้นที่กว่า 218 ไร่ ตามแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ตามโครงข่ายสถานีขนส่งมวลชนแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นแหล่งศูนย์รวมคมนาคมทางรางระดับอาเซียน