นางวิไล เคียงประดู่ หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวถึงนโยบายในการจัดทำโครงการเพื่อสังคมของเอไอเอสว่า "นับจากปี 2550 เอไอเอส ได้ริเริ่มจัดตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการ" ขึ้นเป็นครั้งแรก และขยายจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน มีศูนย์ปฏิบัติการฯ แล้ว จำนวน 13 แห่ง โดยที่มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครราชสีมาแห่งนี้ เป็นศูนย์ฯ ล่าสุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) มาโดยตลอด รวมถึงการสร้างคุณค่าและประโยชน์ร่วมกันระหว่างองค์กรและสังคม หรือ CSV (Creating Shared Value) เพื่อสร้างมูลค่าและการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่องค์กรและสังคมไปพร้อมกัน โดยการมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและประเทศไทย ให้มีคุณภาพและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด "ครอบครัว และสังคมไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง" โดยหนึ่งในนั้นคือ ผู้พิการ ที่เอไอเอสให้ความสำคัญ และดูแลมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเชื่อว่าผู้พิการก็มีศักยภาพไม่ต่างจากคนปกติ และมีความมุ่งมั่นในการทำงาน จนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
เหมือนอย่างพนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ ผู้พิการทางสายตา ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้ผ่านการฝึกอบรมและเรียนรู้การปฏิบัติด้วยมาตรฐานเดียวกับพนักงานคอลล์ เซ็นเตอร์ทั่วไป และพร้อมให้บริการเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ ซึ่งในระยะเริ่มต้น ถือเป็นความท้าทายของน้องๆ ผู้พิการ ที่เพิ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของครอบครัวเอไอเอส และเจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่ฝึกสอนและดูแลน้องๆ ให้สามารถปฏิบัติงานได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่ด้วยความพยายาม ผสานกับความตั้งใจ มีสมาธิสูง จึงทำให้น้องๆ พัฒนาตัวเองได้ไว และมีความสุขที่ได้ให้บริการลูกค้าทุกรายที่โทรศัพท์เข้ามา"
ทางด้าน นางสาวใจพร ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ คอนแท็คเซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า "เอไอเอส เล็งเห็นถึงศักยภาพของผู้พิการที่มีผลการทำงานในระดับที่ดีเยี่ยม มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากคนปกติ ทั้งในแง่ของการให้บริการและความพึงพอใจของลูกค้า เอไอเอสจึงเดินหน้าขยายศูนย์ปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบโอกาสสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น โดยศูนย์ฯ ที่เปิดให้บริการแห่งนี้ มีพนักงานผู้พิการทางสายตาปฏิบัติงานอยู่จำนวน 10 คน ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ปัจจุบันมีพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ผู้พิการจากศูนย์ปฏิบัติการที่เปิดให้บริการแล้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น 123 คน
โดยเอไอเอสได้ออกแบบงานให้อย่างเหมาะสม เพื่อการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับความสามารถ อาทิ ผู้พิการทางสายตาและพิการทางร่างกาย จะมีหน้าที่โทรศัพท์ติดต่อสอบถามความคิดเห็นของลูกค้า เกี่ยวกับการใช้งานหรือบริการต่างๆ ของเอไอเอส, ส่วนผู้พิการทางการได้ยินจะให้บริการด้วยภาษามือผ่านทาง Web Cam เป็นต้น นอกจากนี้ เอไอเอสยังนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงาน อาทิ ติดตั้งโครงข่ายออนไลน์, นำเทคโนโลยีด้านโปรแกรม JAWS ในการอ่านภาษาในระบบ Computer ให้เป็นเสียงอ่าน โดยใช้ควบคู่กับโปรแกรมตาทิพย์จากสถาบันคนตาบอดแห่งชาติเพื่อการวิจัยและพัฒนา เป็นต้น"
ดารณี ฮันสูงเนิน หรือ อาร์มมี่ ตัวแทนพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ ที่ศูนย์ปฏิบัติการ AIS Call Center ผู้พิการทางสายตา เล่าว่า "ตัดสินใจมาทำงานกับเอไอเอส เพราะชอบการทำงานที่ได้พูดคุยอยู่แล้ว และพอรู้ว่าเอไอเอสกำลังเปิดรับผู้พิการทางสายตาพอดี จึงเข้ามาสมัคร ส่วนการทำงานในแต่ละวันก็มีเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงาน และก่อนเริ่มทำงานจริง จะมีการอบรมการใช้โปรแกรมต่างๆ ที่เราจะต้องใช้ รวมถึงการเทรนนิ่งสิ่งที่จะต้องแนะนำลูกค้า หรือเนื้องานที่ต้องรับผิดชอบ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือความภูมิใจที่ตัวเองมีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองได้ และรู้สึกโชคดีมากที่เอไอเอสเปิดโอกาสให้กับผู้พิการทางสายตา อย่างน้อยเรามีงานทำ เพราะเรียนจบใหม่ๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องไปทิศทางไหน ซึ่งการทำหน้าที่ให้บริการข้อมูลลูกค้า ถือเป็นตัวเลือกหนึ่งที่ดี และตรงกับความสามารถของเรา ดังนั้น การทำงานในแต่ละวัน จึงเต็มไปด้วยความสุข"
วัชรพงษ์ จันทรศุภวงศ์ หรือ วัตร อีกหนึ่งตัวแทนพนักงานเอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ เผยความรู้สึกที่ได้ทำงานนี้ว่า "ลักษณะงานที่นี่ จะเป็นงานที่ให้ข้อมูลต่างๆ กับลูกค้า หรือสอบถามความคิดเห็น ความพึงพอใจของลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงระบบการทำงานต่างๆ ให้ดีขึ้น ถ้าจะพูดถึงความยากในการทำงาน แรกๆ ก็รู้สึกยาก เพราะเราเพิ่งเข้ามาเป็นมือใหม่ ข้อมูลยังไม่แม่น การใช้โปรแกรมก็ยังไม่คล่อง แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ ก็จะมีความแม่นยำขึ้น"
ส่วน สุภาภรณ์ ฟุ้งชิงชัย หรือ ผักบุ้ง เผยว่า "รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเอไอเอส เพราะทำให้เรามองเห็นศักยภาพที่อยู่ในตัวเอง ซึ่งสามารถทำงานด้านงานบริการช่วยเหลือผู้อื่นได้เช่นกัน และที่สำคัญคือ การได้มีอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ช่วยแบ่งเบาภาระต่างๆ ได้"
"ศูนย์ปฏิบัติการ เอไอเอส คอลล์ เซ็นเตอร์ แด่ผู้พิการทางสายตา จังหวัดนครราชสีมาครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญสำหรับการเปิดโอกาสให้ผู้พิการได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ได้ประกอบอาชีพที่สุจริต มีรายได้ที่มั่นคง และมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ การนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้พิการได้อย่างยั่งยืน และในอนาคต เอไอเอส หวังว่าจะได้ร่วมสร้างเสริมศักยภาพของผู้พิการให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศมากยิ่งขึ้น" นางวิไล กล่าวสรุป