คุณกมลา เหลืองวิริยะ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) (BWG) ผู้นำในธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร ทั้งฝังกลบ เผาทำลาย นำกลับมาใช้ใหม่และเป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงานทดแทน เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เปิดตัวบริษัทใหม่ในชื่อ "บริษัท เบตเตอร์ มี จำกัด" เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท โดย BWG ถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว 99.68%
ทั้งนี้ "บริษัท เบตเตอร์ มี จำกัด" จะดำเนินธุรกิจการเป็นนายหน้าและหรือตัวแทน ในการให้บริการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายและหรือไม่อันตราย ทั้งที่เป็นของแข็งและหรือของเหลว การวิเคราะห์กากอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
"บริษัท เบตเตอร์ มี จำกัด จะช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็วและครบวงจร ให้แก่ลูกค้า โดยจะใช้แนวคิดแบบ one stop service คือ ช่วยจัดการ เรื่อง waste ทั้งหมดในโรงงานให้แก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการนำกลับมาใช้ใหม่ น้ำเสีย การนำไปฝังกลบตลอดจนการนำไปเผา รวมไปถึงการขนส่งกากอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยบริษัทตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาการให้บริการให้ดียิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เอง ได้มีการปรับปรุงข้อกฎหมายลูกเพิ่มอีก 3 ฉบับ ภายใต้ พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ.2535 เกี่ยวกับการขออนุญาตและการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกบริเวณโรงงาน (สก.2) เพื่อให้การจัดการกากอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกฎหมายดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของ "เบตเตอร์ มี" จะสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของ BWG เติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งสำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2561 (สิ้นสุด 31 มี.ค.61) ของ BWG มีกำไรสุทธิ 78.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 87% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และ BWG ยังอยู่ระหว่างการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงกากอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาเชื้อเพลิงเพื่อรองรับโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต"
ข้อมูลบริษัท บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)
บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ดำเนินธุรกิจการบริหารและจัดการ สิ่งปฏิกูลฯอย่างครบวงจร (One Stop Service) โดยธุรกิจหลักที่ให้บริการมาตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ คือ การกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล และวิธีการฝังกลบอย่างปลอดภัย (รวมทั้งการฝังกลบอย่างปลอดภัยเมื่อทำการปรับเสถียร หรือทำให้เป็นก้อนแข็งแล้ว) โดยมีศูนย์บริหารและจัดการฯ อยู่ที่จังหวัดสระบุรี ซึ่งภายในศูนย์บริหารและจัดการฯ บริษัทยังสามารถให้บริการบำบัด (Treatment) สำหรับการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางเคมีกายภาพด้วย
ในปี 2550 บริษัทได้มีการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติมในการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) ด้วยการทำเชื้อเพลิงผสม (Fuel Blending) นอกจากนี้บริษัทได้ขยายธุรกิจเข้าสู่การบำบัด (Treatment) ด้วยวิธีเผาทำลายในเตาเผาเฉพาะสำหรับของเสียอันตราย ผ่านบริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย นอกจากนั้น บริษัทมีรายได้ค่าบริการจากการจัดการสิ่งปฏิกูลฯ ด้วยวิธีการอื่นซึ่งบริษัทฯ มิได้เป็นผู้ดำเนินการด้วยตนเองอีกส่วนหนึ่งด้วย อาทิ การส่งไปเป็นวัตถุดิบทดแทนหรือเผาทำลายร่วมในเตาเผาปูนซีเมนต์ และการส่งไปยังโรงงาน เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ด้วยวิธีการต่างๆ (Recycle) เป็นต้น
ปี 2557 ขยายธุรกิจไปสู่พลังงานทดแทน ผลิตกระแสไฟฟ้าจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม ผ่านบริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด โดยโครงการแรกของบริษัท ได้รับการส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel) ขนาด 9.4 เมกะวัตต์ จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นเวลา 8 ปี