สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “5 สิ่งที่ได้จากข่าวการช่วยเหลือเด็กติดถ้ำ”

พุธ ๑๑ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๖:๓๔
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวการช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน" สำรวจระหว่างวันที่ 5 ถึง 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,172 คน

จากกรณีที่มีนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนรวม 13 คน เข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน หน่วยงานต่างๆได้ระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติการค้นหาและให้ความช่วยเหลือ รวมถึงมีจิตอาสาและอาสาสมัครทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ได้เข้าไปสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในเรื่องต่างๆอย่างมากมาย ขณะเดียวกันประเทศต่างๆได้ส่งเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมปฏิบัติการค้นหาเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งได้พบตัวนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนในวันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งทั้งหมดยังปลอดภัยดี และหน่วยงานต่างๆ ได้ทยอยนำนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทั้งหมดออกจากถ้ำเพื่อไปพักฟื้นแล้ว

ทั้งนี้ในระหว่างการค้นหาและช่วยเหลือนั้น ผู้คนในสังคมทั้งในประเทศและทั่วโลกได้ต่างส่งกำลังใจและเอาใจช่วยพร้อมทั้งชื่นชมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครต่างๆ ที่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบและเป็นไปตามมาตรฐานการกู้ภัย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของสื่อมวลชนบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามขณะสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้ปกครองของนักฟุตบอล การเผยแพร่ข่าวที่ยังไม่ได้รับการกลั่นกรอง และการรายงานข่าวจากบริเวณพื้นที่ รวมถึงได้ตำหนิผู้ใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ปล่อยข่าวสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับสังคม ขณะที่นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการป้องกันอย่างรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดกรณีนักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านเข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำอีกในอนาคต จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อข่าวการช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.6 และเพศชายร้อยละ 49.4 สามารถสรุปผลได้ดังนี้ สำหรับสิ่งที่ได้จากข่าวการช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนรวม 13 คนที่ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด 5 อย่างได้แก่ ได้เห็นความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันของคนไทยคิดเป็นร้อยละ 88.91 ได้เห็นความช่วยเหลือจากนานาอารยะประเทศคิดเป็นร้อยละ 86.77 ได้เห็นการกู้ภัยที่มีมาตรฐานของประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 84.81 ได้รู้จักถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนคิดเป็นร้อยละ 81.14 และได้เรียนรู้วิธีการทำงานที่เป็นระบบมีระเบียบแบบแผนคิดเป็นร้อยละ 79.18

ในด้านความคิดเห็นต่อการมอบของขวัญ/ของกำนัลเพื่อเป็นการปลอบขวัญนักฟุตบอลที่ติดอยู่ในถ้ำ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.54 เห็นด้วยกับการที่มีหน่วยงานต่างๆ เตรียมมอบเงิน/ของขวัญ/ของกำนัลให้กับกลุ่มนักฟุตบอลที่ติดอยู่ในถ้ำเพื่อเป็นการปลอบขวัญ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 22.01 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.45 ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.41 รู้สึกว่ามีหน่วยงานต่างๆ เตรียมจะมอบเงิน/ของขวัญ/ของกำนัลให้กับกลุ่มนักฟุตบอลที่ติดอยู่ในถ้ำเพื่อเป็นการปลอบขวัญมากเกินไป ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.46 ระบุว่าไม่รู้สึกว่ามากเกินไป ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 9.13 ไม่แน่ใจ

ในด้านความคิดเห็นต่อการเอาผิดกับผู้ที่สร้างความวุ่นวายในระหว่างการค้นหานักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนที่ติดอยู่ในถ้ำนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 88.14 เห็นด้วยกับการเอาผิดทางกฎหมายอย่างรุนแรงเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ที่มาสร้างความวุ่นวายในระหว่างการค้นหานักฟุตบอลและผู้ฝึกสอน เช่น ผู้ที่แอบอ้างเป็นร่างทรง ผู้ที่แอบอ้างรับบริจาคเงินและสิ่งของต่างๆ ผู้ปล่อยข่าวเท็จ เป็นต้น ถึงแม้จะสามารถช่วยเหลือผู้ฝึกสอนและนักฟุตบอลทั้งหมดออกมาได้แล้ว ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.62 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.24 ไม่แน่ใจ

ในด้านความกังวลต่อการช่วยเหลือและการแสวงหาผลประโยชน์จากกรณีนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนติดอยู่ภายในถ้ำ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.38 กังวลว่าเจ้าของพื้นที่ไร่นาที่ยินยอมให้มีการระบายน้ำจากถ้ำผ่านเพื่อช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนที่ติดอยู่ภายในถ้ำจะไม่ได้รับการเยียวยาชดเชยอย่างเป็นธรรมเหมาะสม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 57.08 กังวลว่าจะมีเจ้าหน้าที่บางส่วนอาศัยข้ออ้างการช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนหลังจากออกมาจากถ้ำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง

ในด้านความคิดเห็นต่อการห้ามสัมภาษณ์นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนที่ติดอยู่ภายในถ้ำนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.13 เห็นด้วยหากจะมีการสั่งห้ามสื่อมวลชนสัมภาษณ์นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนทันทีหลังจากออกมาจากถ้ำ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.12 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3.75 ไม่แน่ใจ

ส่วนความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนติดอยู่ภายในถ้ำกับความหวาดกลัวในการท่องเที่ยวถ้ำและการแก้ปัญหานักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านเข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามซึ่งคิดเป็นร้อยละ 68.94 มีความคิดเห็นว่าเหตุการณ์นักฟุตบอลและผู้ฝึกสอนติดอยู่ภายในถ้ำจะไม่ส่งผลให้คนไทยเกิดความหวาดกลัวในการไปท่องเที่ยวถ้ำต่างๆ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.61 มีความคิดเห็นว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเพิ่มมาตรการควบคุมการท่องเที่ยวถ้ำต่างๆ ให้เข้มงวดมากขึ้นจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงที่จะมีนักท่องเที่ยวหรือชาวบ้านเข้าไปติดอยู่ภายในถ้ำอีกในอนาคตลงได้ และกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.32 มีความคิดเห็นว่าหากสถาบันการศึกษาต่างๆ มีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับวิธีการเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น การติดถ้ำ การหลงป่า ให้มากขึ้นจะมีส่วนช่วยให้นักเรียนนักศึกษานำความรู้ไปใช้ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นในอนาคตได้ (อ่านข่าวต่อ https://bit.ly/2L8Rxab)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ