กระทรวงอุตสาหกรรม จัดทัพใหญ่ขับเคลื่อน SME 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนขานรับนโยบายพัฒนาธุรกิจขนาดย่อมmooสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม

ศุกร์ ๑๓ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๗:๒๙
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในระหว่างกิจกรรม SMEs สัญจร พลิกธุรกิจสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ครั้งที่ 1 ว่ากระทรวงมีนโยบายที่จะพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน SME 4.0 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสู่การเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง ทั้งในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป และของฝากของที่ระลึก

"เรามีมาตรการที่จะช่วย SME ในพื้นที่ภาคเหนือให้พัฒนาตนเอง และยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ด้วยกลไกลประชารัฐที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งแนวทางสำคัญหนึ่งก็คือ การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง SME สู่การนำนวัตกรรมมาประยุกต์ และสร้างโอกาสให้สินค้าและบริการของไทยเข้าสู่ตลาดโลกผ่าน E-Commerce แพลตฟอร์ม" นายอุตตม กล่าว

การสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง SME สู่การนำนวัตกรรมมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จะทำผ่านศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0 (Industry TransformationCenter : ITC) ซึ่งศูนย์ ITC จ.เชียงใหม่ เป็นศูนย์ต้นแบบ และพัฒนาอัตลักษณ์ (Local Identity) จากลักษณะเด่นของธุรกิจทางภาคเหนือ เพื่อสร้างเศรษฐกิจและชุมชน โดยศูนย์นี้เป็นการนำรูปแบบจากศูนย์ ITC ต้นแบบที่กรุงเทพมหานคร มาปรับให้เหมาะสมกับศักยภาพอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้บริการและสนับสนุน SMEs ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ของฝากและของที่ระลึกต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์กาแฟ ชา และสมุนไพร พร้อมกันนี้ ได้มีการเปิดหน่วยสกัดพืชน้ำมันแบบสกัดเย็น (Oil Extraction Unit) ที่ศูนย์ ITC อีกด้วย

ศูนย์ ITC จ.เชียงใหม่ เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงภาคเอกชนต่าง ๆ ที่ผนึกกำลังตามนโยบายแนวทางประชารัฐในการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจ วิจัยและออกแบบ และผลิตสินค้าตลอดจนบ่มเพาะ SME ให้สามารถปรับตัว พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคที่ประเทศไทยก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น สภาเกษตรกรแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีภาคเหนือ เครือข่าย Northern Thailand Food Valley เครือข่ายเชียงใหม่เมืองกาแฟ เครือข่าย Chiang Mai Digital Hub สมาคมการค้าผู้ประกอบการผลิตเครื่องจักรชิ้นส่วนโลหะและอุตสาหกรรมไทย (MiC-T) สมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือเชียงใหม่ (NOHMEX) สมาคมส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย (ATED.CM) สถาบันการศึกษา และหน่วยงานร่วม อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP), ศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (FIN), คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช., สวทช.ภาคเหนือ สำนักงานอุตสาหกรรมเขตภาคเหนือตอนบน และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพัฒนาศักยภาพของ SMEs ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนมาอย่างต่อเนื่อง

นายอุตตม กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้พื้นที่ภาคเหนือยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาด้วยการดึงอัตลักษณ์ท้องถิ่นมาช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนออนใต้ อ.สันกำแพง ซึ่งเป็น 1 ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Village : CIV) หรือ "หมู่บ้าน CIV" ที่เน้นการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการชุมชนด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยการนำเอกลักษณ์ของท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก ควบคู่กับการบริหารจัดการเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บทพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการบริหารจัดการตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า โดยชุมชนออนใต้ นับเป็นชุมชนเข้มแข็งตัวอย่างที่มีเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผนวกกับวิถีชีวิตที่ยังคงรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ทำให้เป็นจุดขายในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากนี้ ในปี 2561 กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาขยายเครือข่ายหมู่บ้าน CIV ไปยัง "ชุมชนไตลื้อเมืองลวงเหนือ" ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ถือเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่มีความโดดเด่นทางด้านวัฒนธรรมและวิถีชุมชน รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ผ้า กระดาษสา และตุ๊กตาไม้ สามารถผลิตและจำหน่ายเป็นของที่ระลึกประจำถิ่นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น กระทรวงฯ จึงมีแนวทางผลักดันให้เกิดการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่ง โดยได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมการท่องเที่ยวและกีฬา และกรมการพัฒนาชุมชน เข้าไปดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น กานสร้างมักคุเทศน์ นักประชาสัมพันธ์ และสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมไตลื้อ รวมถึงสร้างกิจกรรมทางวัฒนธรรมด้วยโปรแกรมการท่องเที่ยว พร้อมจัดที่พักโฮมสเตย์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต

โดยระหว่างกิจกรรม SME สัญจร ในครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในทุกมิติ เพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ดังนี้

1) Skill Up ด้านการส่งเสริมการพัฒนาคนให้สอดรับกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยใช้ Smart Tools โดยเฉพาะการพัฒนาเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อรองรับสังคมดิจิทัล มีเป้าหมายพัฒนาบุคลากรให้ได้ 1,000 คนภายในปีแรก

2) Startup ด้านการสนับสนุนการสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ ครอบคลุมทั้งภาคการเกษตร ภาคการค้า ภาคบริการ รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการส่งเสริมการนำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมด้วยการเน้นการสร้างสรรค์การออกแบบ (Design) และการใช้งาน (Function) รวมถึงการให้ความสนับสนุนด้านกองทุนร่วมลงทุนให้กับกลุ่ม Startup ด้วย

3) Scale up การต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยมุ่งให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป ที่เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถนำมาผลิตภายในศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม เพื่อนำไปทดสอบตลาดสากลได้

4) เชียงใหม่เมืองกาแฟ มุ่งเน้นพัฒนากาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยสู่ตลาดโลกภายใต้โครงการ Northern Boutique Arabica Coffee โดยการขับเคลื่อนในลักษณะห่วงโซ่มูลค่า ตั้งแต่การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการส่งเสริมการตลาด

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเข้าสู่ยุค 4.0 โดยดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการเสริมแกร่งให้แก่SMEs รอบรู้เรื่องบัญชีและการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งเป็นการเตรียมตัวเพื่อขยายตลาดที่เกิดจากความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น ACMECS ของ 5 ประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำโขง หรือกรอบหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องเรียนรู้ ปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถของตนเพื่อก้าวสู่การแข่งขันในโลกสากลได้

การมุ่งพัฒนา SME เป็นพันธกิจของกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากโดยเริ่มจากภาคเกษตรให้มีการปรับตัว พัฒนาผลผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปผลผลิต โดยการต่อยอดกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ให้ไปสู่ SME 4.0 พร้อมกัน

"เครือข่ายศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ได้ปรับเป็นศูนย์ปฏิรูปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อเป็น Platform สำคัญในการสนับสนุนยกระดับ SME ในทุกมิติ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึง เข้าใจ และพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่ม Productivity รวมถึงการเข้าสู่ช่องทาง การตลาดอย่าง E-Commerce เพื่อเชื่อมโยงสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลกได้" นายอุตตม กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ