โฆษณา 'พูดแทนฉลาม' ที่มีคุณณวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินเรื่อง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์
" #ฉลองไม่ฉลาม" ที่มีเป้าหมายสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นความสำคัญของฉลามที่มีต่อทะเล รับรู้ถึงเบื้องหลังอันโหดร้ายของการบริโภคหูฉลาม รวมทั้งสร้างค่านิยมใหม่ให้งานแต่งงาน งานรวมญาติ งานประชุมธุรกิจ หรืองานรื่นเริงทั่วไป ไม่มีเมนูฉลาม โดยโครงการรรงค์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง
ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย พ.ศ 2560 ขององค์กรไวลด์เอดพบว่า คนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และที่น่าเป็นห่วงคือมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต ผู้บริโภคบอกว่า ได้รับประทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งานแต่งงาน (72%) ทานกับครอบครัวที่ร้านอาหาร (61%) และในงานเลี้ยงธุรกิจ (47%) นอกจากนั้นคนไทยจำนวนมากยังไม่ทราบถึง ผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามต่อประชากรฉลามทั่วโลก รวมถึงความโหดร้ายของการฆ่าฉลามเพื่อการค้าหูฉลาม จุดมุ่งหมายของโครงการรณรงค์นี้ ก็เพื่อสร้างความตระหนักและเปลี่ยนทัศนคติของคนไทยต่อฉลามและการบริโภคหูฉลาม
"การได้เจอฉลามระหว่างการดำน้ำ เป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้น และถือเป็นไฮไลท์ของวันนั้นๆ เลย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ การพบเจอฉลามในทะเลกลับยากขึ้นเรื่อยๆ ฉลามมีบทบาทสำคัญที่ช่วย รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในท้องทะเล เราจำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้คนทั่วไปรับรู้ถึง ภัยคุกคามฉลาม ก่อนที่มันจะสายเกินไป" คุณณวัฒน์ ทูตองค์กรไวล์ดเอด ผู้รักการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ กล่าว
แต่ละปี มีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำมาทำเป็น "ซุปหูฉลาม" หรือประกอบเป็นเมนูอื่นๆ ประเทศไทยถูกจัดได้ว่าเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่ แห่งหนึ่งของโลก โดยเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลามนั้น ที่เหล่าฉลามต่างถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต
"การได้รับการสนับสนุนจากคุณป้อง ณวัฒน์ ทูตองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงพันธมิตรสื่อมวลชน ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การรณรงค์ให้คนเลิกบริโภคเมนูฉลามได้ผล และเราหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากคนไทยมากขึ้น เราเชื่อว่ายิ่งคนไทยรับรู้ถึงผลกระทบ ที่เกิดจากการบริโภคหูฉลามมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะไม่อยากเกี่ยวข้องกับการค้า การบริโภค หูฉลามมากเท่านั้น ผมขอชวนทุกคนร่วมกันปกป้องฉลาม และยุติความต้องการบริโภคฉลามในไทย เพราะหยุดซื้อ คือหยุดฆ่า" นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอดกล่าว
โครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม รวมถึงโฆษณา "พูดแทนฉลาม" สร้างสรรค์โดยบริษัท BBDO Bangkok เอเจนซี่โฆษณาแถวหน้าของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากข้อเท็จจริงที่ว่า ฉลามเป็นสัตว์ที่ไม่มีอวัยวะในการออกเสียง ทำให้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นกระบอกเสียง แทนพวกเขาได้
โฆษณา และสื่อรณรงค์ดังกล่าวจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์หลากหลายช่องทาง รวมไปถึงสื่อประเภทบิลบอร์ดภายในสนามบินสุวรรณภูมิ
"ผมขอชวนคนไทยทุกๆ คน ปกป้องท้องทะเล ด้วยการเลิกทานเมนูจากฉลาม และร่วมกันทำให้งานรื่นเริง และในทุกๆ โอกาสไม่มีเมนูจากฉลาม มา #ฉลองไม่ฉลาม กันนะครับ" คุณณวัฒน์ กล่าวเพิ่ม
เกี่ยวกับ WildAid
WildAid (www.wildaid.org) คือ องค์กรไม่แสวงผลกำไร มีเป้าหมายหลักเพื่อยุติการค้าสัตว์ป่า และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ผิดกฎหมาย WildAid เน้นรณรงค์เพื่อลดความต้องการบริโภค และความต้องการ ซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่า โดยเราหวังว่า ผู้บริโภคจะไม่กินหูฉลาม ไม่ซื้องาช้าง นอแรด และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าอื่นๆ อีกต่อไป
WildAidได้รับการสนับสนุนจากบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 100 คน ร่วมเผยแพร่ข้อความรณรงค์ ให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหา การฆ่าและค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ผ่านสโลแกนหลักขององค์กร "When the Buying Stops, the Killing Can Too หยุดซื้อ คือ หยุดฆ่า
เราทำงานรณรงค์ที่เอเชียเป็นหลัก ในประเทศที่ยังมีความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าสูง และได้ทำโครงการรณรงค์ Ivory Free หยุดซื้องาช้างในประเทศจีน ฮ่องกง และล่าสุดในไทย
www.wildaidthai.org www.facebook.com/wildaidthailand IG: @wildaidthailand