ปัจจัยสนับสนุนอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศของ SCBAM สะท้อนถึงกระบวนการการลงทุนที่ดีพร้อม บุคลากรในการจัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ และกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงหลายระดับ นอกจากนี้อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุนที่ดี เครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน และการเผยแพร่ข้อมูลต่อนักลงทุนกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างเป็นระบบ
SCBAM ยังคงรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดอันดับหนึ่งในธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล ในขณะเดียวกัน บริษัทได้เพิ่มจำนวนกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆหรือใช้กลยุทธ์การลงทุนหลายแบบ (multi-strategy asset-allocation funds) อย่างต่อเนื่อง กองทุนของ SCBAM มีความหลากหลายของการลงทุนทั้งในด้านกลยุทธ์การลงทุนและสินทรัพย์ที่ลงทุน เมื่อเทียบกับมาตรฐานของบริษัทจัดการกองทุนอื่นๆในตลาด
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศที่ 'Excellent(tha)' ของ SCBAM มีพื้นฐานมาจากคะแนนของปัจจัยต่างๆในการจัดอันดับดังนี้
กระบวนการการลงทุน: Strong
บุคลากรในการจัดการการลงทุน: Excellent
การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง : Excellent
ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน: Consistent
บริษัทและการบริการลูกค้า: Excellent
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆแบ่งเป็น 'Excellent' 'Strong' 'Proficient' 'Adequate' หรือ 'Weak' โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับภายในประเทศที่ระดับ 'Excellent(tha)' แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุน ที่ฟิทช์คิดว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน
กระบวนการการลงทุน
ฟิทช์มองว่า SCBAM มีกระบวนการการลงทุนที่ดีเยี่ยมและมีความชัดเจนในการหาผลตอบแทนเมื่อเทียบกับวัตถุประสงค์การลงทุน โดยบริษัทมีการติดตามและประเมินหลักทรัพย์ที่ลงทุนเป็นลายลักษณ์อักษร การวิเคราะห์การลงทุนในเชิงลึก และการซื้อขายหลักทรัพย์อย่างมีหลักการ นอกจากนี้บริษัทมีการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณ (quantitative tools) ในกระบวนการการลงทุน
บุคลากรในการจัดการการลงทุน
บุคลากรในการจัดการการลงทุนของ SCBAM มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมในเชิงกว้างและเชิงลึก โดยมีการแบ่งแยกตามสายงานอย่างชัดเจน ไม่ได้พึ่งพาบุคลากรคนใดคนหนึ่งมากเกินไป และมีผู้จัดการการลงทุนที่มีประสบการณ์ทำงานผสมผสานกันตามความเหมาะสม จำนวนและประสบการณ์ของบุคลากรฝ่ายการลงทุนมีความสอดคล้องกับสินทรัพย์ที่บริหารจัดการ โดยมีบุคลากรสำหรับการวิเคราะห์ที่พอเพียง นอกจากนี้ยังมีการแยกความรับผิดชอบการบริหารจัดการการลงทุนอย่างชัดเจน และมีแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนที่หลากหลาย
ทีมบริหารงานการจัดการการลงทุนของ SCBAM มีจัดแบ่งหน้าที่อย่างมีระบบ และมีประสบการณ์ในการจัดการการลงทุนทั้งโดยรวมและรายบุคคลที่สูง การปรับเปลี่ยนบุคลากรในระดับผู้บริหารเกิดขึ้นอย่างทันการและไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ระบบงานต่างๆยังเชื่อมต่อกันโดยอัตโนมัติทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากและรองรับการลงทุนที่หลากหลายของบริษัท รวมทั้งมีความพร้อมในการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ
การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง
กระบวนการการควบคุมความเสี่ยงของ SCBAM มีหลายระดับ และมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่เชื่อมต่อกัน พนักงานบริหารความเสี่ยงที่มีประสบการณ์สูง และกระบวนการการควบคุมความเสี่ยงที่ครอบคลุม รวมถึงการทำการทดสอบความเสี่ยงภายใต้ภาวะวิกฤต การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางเครดิตของคู่สัญญา และการทำรายงานความเสี่ยงจากการปฏิบัติการการลงทุนและความเสี่ยงการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ การบริหารความเสี่ยงการลงทุนของ SCBAM เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการการลงทุน และมีการวัดความเสี่ยงการลงทุนตามปัจจัยความเสี่ยงจากการลงทุนต่างๆ นอกจากนี้บริษัทแม่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB; 'AA+(tha)'/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ยังเป็นผู้จัดหาบุคลากรและทรัพยากรในการบริหารความเสี่ยงที่มีคุณภาพสูงให้กับทาง SCBAM อีกด้วย อย่างไรก็ตามในกระบวนการการควบคุมความเสี่ยง กลุ่ม SCB อยู่ในระหว่างการกระจายอำนาจจากจุดศูนย์กลาง (decentralise) ซึ่งจะทำให้บรัษัทมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการบริหารความเสี่ยง
ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน
ผลการดำเนินงานของกองทุนภายใต้การบริหารของ SCBAM อยู่ในระดับที่ดีเมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นๆในประเทศไทย ซึ่งวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ (risk-adjusted performance) โดยมีการใช้ machine learning สำหรับกองทุนบางกอง ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (assets under management; AUM) มีผลการดำเนินงานของกองทุนที่น่าพอใจเมื่อเทียบกับตลาดในหลายๆประเภทของกองทุนตราสารหนี้ สำหรับกองทุนหุ้น SCBAM มีผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงที่สูงกว่าคู่แข่งในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่มีผลการดำเนินงานของกองทุนที่ด้อยกว่าบริษัทอื่นๆในกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่บางประเภท อย่างไรก็ตามผลประกอบการของกองทุนเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นจากเมื่อก่อนจากการใช้สัญญาซื้อขายอ้างอิง (futures) แทนการซื้อขายหลักทรัพย์
บริษัทและการบริการลูกค้า
SCBAM จัดตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 บริษัทมีเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจบริหารจัดการกองทุน และมีผลิตภัณฑ์กองทุนที่มีความหลากหลาย โดยมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มูลค่ารวมอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 บริษัทมีความแข็งแกร่งในธุรกิจกองทุนตลาดเงินและตราสารหนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงกว่า 70% ของ AUM ทั้งหมด บริษัทมีกองทุนรวมที่มีความหลากหลายในด้านนโยบายการลงทุน และมีความหลากหลายในกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds)
SCBAM เป็นผู้นำอย่างชัดเจนในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 43% ของกองทุนส่วนบุคคลทั้งหมดในอุตสาหกรรม ณ สิ้นเดือนเมษายน 2561 ซึ่งแสดงถึงสถานะทางธุรกิจของ SCBAM ที่แข็งแกร่งในธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล โดยเฉพาะในแวดวงนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth) การนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุนมีความเป็นระบบสูง โดยมักจะมีมาตรฐานเหนือกว่ากฎเกณฑ์และมาตรฐานของอุตสาหกรรม เห็นได้จากรายงานที่บริษัทได้ส่งให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสำหรับกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในอนาคต
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนอาจเปลี่ยนแปลงได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญกับห้าปัจจัย (pillars) หลักที่ใช้ในการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน ซึ่งได้แก่ กระบวนการการบริหารจัดการการลงทุน บุคลากรในการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุนและบริษัทและการบริการลูกค้า การปรับลดคะแนนสำหรับปัจจัยข้างต้นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน