โฆษณา 'พูดแทนฉลาม' ที่มีคุณณวัฒน์ เป็นผู้ดำเนินเรื่อง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรณรงค์
" #ฉลองไม่ฉลาม" ที่มีเป้าหมายสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นความสำคัญของฉลามที่มีต่อทะเล รับรู้ถึงเบื้องหลังอันโหดร้ายของการบริโภคหูฉลาม รวมทั้งสร้างค่านิยมใหม่ให้งานแต่งงาน งานรวมญาติ งานประชุมธุรกิจ หรืองานรื่นเริงทั่วไป ไม่มีเมนูฉลาม โดยโครงการรรงค์ดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก กรมทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง
"การได้เจอฉลามระหว่างการดำน้ำ เป็นประสบการณ์ที่ตื่นเต้น และถือเป็นไฮไลท์ของวันนั้นๆ เลย แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ การพบเจอฉลามในทะเลกลับยากขึ้นเรื่อยๆ ฉลามมีบทบาทสำคัญที่ช่วย รักษาความสมดุลของระบบนิเวศในท้องทะเล เราจำเป็นต้องสร้างความตระหนักให้คนทั่วไปรับรู้ถึง ภัยคุกคามฉลาม ก่อนที่มันจะสายเกินไป" คุณณวัฒน์ ทูตองค์กรไวล์ดเอด ผู้รักการดำน้ำเป็นชีวิตจิตใจ กล่าว
ผลสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย พ.ศ 2560 ขององค์กรไวลด์เอดพบว่า คนไทยในเขตเมืองมากกว่าครึ่งเคยบริโภคหูฉลาม และที่น่าเป็นห่วงคือมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต นอกจากนั้นคนไทยจำนวนมากยังไม่ทราบถึง ผลกระทบจากการบริโภคหูฉลามต่อประชากรฉลามทั่วโลก รวมถึงความโหดร้ายของการฆ่าฉลาม เพื่อการค้าหูฉลาม จุดมุ่งหมายของโครงการรณรงค์นี้ ก็เพื่อสร้างความตระหนักและเปลี่ยนทัศนคติ ของคนไทยต่อฉลามและการบริโภคหูฉลาม
"ฉลามเป็นสัตว์ที่เปรียบดังดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล ประดุจเสือที่เป็นสัตว์ดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพของป่าดงพงไพร วันนี้ฉลามกำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤตเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง มีแต่พวกเราเท่านั้น ที่จะช่วยกันกระตุ้นจิตสำนึกให้สังคมไทยและสังคมโลกหันมาปลูกฝั่ง ค่านิยมให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนบรรพชนคนรุ่นเก่าที่มีค่านิยมผิดๆ หลงยึดติดว่าหูฉลาม คือสุดยอดเมนูของอาหาร ให้เลิกบริโภคหูฉลาม ในวันที่ยังมีฉลามให้พวกเราอนุรักษ์ เพื่อรักษาความสมดุลแห่งท้องทะเลสืบไป" คุณโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าว
แต่ละปี มีฉลามกว่า 100 ล้านตัวถูกฆ่า ในจำนวนนี้ครีบของฉลามมากถึง 73 ล้านตัวถูกนำมาทำเป็น "ซุปหูฉลาม" หรือประกอบเป็นเมนูอื่นๆ ประเทศไทยถูกจัดได้ว่าเป็นตลาดค้าครีบฉลามรายใหญ่ แห่งหนึ่งของโลก โดยเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่ตระหนักถึงการกระทำอันโหดร้ายเบื้องหลังเมนูหูฉลามนั้น ที่เหล่าฉลามต่างถูกลากขึ้นมาเพื่อเฉือนครีบของมันออกทั้งหมด ก่อนจะถูกโยนทิ้งกลับลงสู่ท้องทะเล ซึ่งทำให้ฉลามเหล่านั้นต้องจมน้ำตายทั้งเป็น เนื่องจากสูญเสียครีบอันเป็นอวัยวะสำคัญในการดำรงชีวิต
"การได้รับการสนับสนุนจากคุณป้อง ณวัฒน์ ทูตองค์กร หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงพันธมิตรสื่อมวลชน ถือว่าสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้การรณรงค์ให้คนเลิกบริโภคเมนูฉลามได้ผล และเราหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากคนไทยมากขึ้น เราเชื่อว่ายิ่งคนไทยรับรู้ถึงผลกระทบ ที่เกิดจากการบริโภคหูฉลามมากเท่าไหร่ พวกเขาก็จะไม่อยากเกี่ยวข้องกับการค้า การบริโภค หูฉลามมากเท่านั้น ผมขอชวนทุกคนร่วมกันปกป้องฉลาม และยุติความต้องการบริโภคฉลามในไทย เพราะหยุดซื้อ คือหยุดฆ่า" นายจอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์ องค์กรไวล์ดเอดกล่าว
ผลการสำรวจขององค์กรไวล์ดเอด ปี 2560 ยังพบด้วยว่า คนไทยรับประทานหูฉลามบ่อยครั้งที่สุดที่งาน รื่นเริงต่างๆ นั่นคือ งานแต่งงาน (72%) ทานกับครอบครัวที่ร้านอาหาร (61%) และในงานเลี้ยงธุรกิจ (47%) ซึ่งถือเป็นที่มาของโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม
"งานเลี้ยงอันมีเกียรติของคุณ ต้องมีซุปหูฉลามเพื่อแสดงว่าคุณมีเกียรติรึเปล่า ถ้าไม่มีซุปหูฉลามเกียรติของคุณจะลดลงหรือไม่ ถ้าไม่ เลิกเลี้ยงซุปหูฉลามเถอะครับ แล้วคุณจะได้รับเกียรติมากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน" ดร. วิชาญ อิงศรีสว่าง ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง กล่าว
โครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม รวมถึงโฆษณา "พูดแทนฉลาม" สร้างสรรค์โดยบริษัท BBDO Bangkok เอเจนซี่โฆษณาแถวหน้าของไทย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากข้อเท็จจริงที่ว่า ฉลามเป็นสัตว์ที่ไม่มีอวัยวะในการออกเสียง ทำให้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะเป็นกระบอกเสียง แทนพวกเขาได้ โดยโฆษณา และสื่อรณรงค์ดังกล่าวจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์หลายช่องทาง รวมไปถึงสื่อประเภทบิลบอร์ดภายในสนามบินสุวรรณภูมิ
"ผมขอชวนคนไทยทุกๆ คน ปกป้องท้องทะเล ด้วยการเลิกทานเมนูจากฉลาม และร่วมกันทำให้งานรื่นเริง และในทุกๆ โอกาสไม่มีเมนูจากฉลาม มา #ฉลองไม่ฉลาม กันนะครับ" คุณณวัฒน์ กล่าวเพิ่ม
งานเปิดตัวโครงการณรงค์ #ฉลองไม่ฉลามได้จัดขึ้นที่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ วันที่ 14-15 กรกฎาคม 2561 ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของฉลามต่อท้องทะเล ภัยคุกคามฉลามจากการบริโภคเมนูฉลาม และมีการแสดงภาพถ่ายจากช่างภาพใต้น้ำชื่อดัง ของไทย คุณนัท สุมนเตมีย์ และคุณชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ที่เน้นประเด็น สิ่งแวดล้อมทางทะเล พร้อมกิจกรรมชวนน้องๆรู้จักปลาฉลามจากมูลนิธิ Love Wildlife และเวิร์คช็อปทำสบู่รักษ์โลกจาก LUSH Thailand อีกด้วย