ผู้เข้าอบรมตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริตในแวดวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นการศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นช่วงวัยของการเรียนรู้และจดจำค่านิยมต่างๆ จากสภาพแวดล้อมที่ได้รับ ได้แก่ ครอบครัว ครูหรือบุคลากรทางการศึกษา กลุ่มเพื่อน เป็นต้น นำไปเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตประจำวัน หากเด็กและเยาวชนดังกล่าวได้รับค่านิยมในทางที่ผิด เช่น การวิ่งเต้น แข่งขันทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เข้าโรงเรียนดีเด่นดัง การบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อแลกกับได้เข้าเรียน การเอาเปรียบสังคม เห็นประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ทำให้การทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา ลักษณะดังกล่าวย่อมเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อน "ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต"
จากการศึกษาพบว่ากระทรวงศึกษาธิการ เป็นกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุดมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 งบประมาณ 517,077 ล้านบาท ปี 2560 งบประมาณ 513,962 ล้านบาท ปี 2561 งบประมาณ 510,962 ล้านบาท และในงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับดังกล่าว กว่าครึ่งเป็นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวคือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้รับงบประมาณ ปี 2559 จำนวน 319,321 ล้านบาท ปี 2560 จำนวน 306,201 ล้านบาท ปี 2561 จำนวน 303,759 ล้านบาท นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังมีบุคลากรกระจาย
อยู่ทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 484,479 คน ดังนั้น ด้วยงบประมาณที่มีมาก จำนวนบุคลากรที่มาก ย่อมมีความเสี่ยงสูงในการทุจริต หากระบบการตรวจสอบและควบคุมภายในยังไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้เข้าอบรมหลักสูตร นยปส.9 จึงให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตในแวดวงการศึกษาขั้นพื้นฐานและต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งหากสามารถป้องกันปัญหาการทุจริตในแวดวงการศึกษาได้ จะช่วยให้การปลูกฝังเด็กและเยาวชน เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีค่านิยมสุจริต ไม่ทนต่อการทุจริต และนำประเทศไปสู่สังคมที่มีความโปร่งใสยิ่งขึ้นอย่างยั่งยืน โดยผลจากการศึกษาดังกล่าว ผู้เข้าอบรมหลักสูตร นยปส.9 มีข้อเสนอวิสัยทัศน์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยว่า "การศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย ใสสะอาด ไร้ทุจริตภายใน 10 ปี" ภายใต้ 2 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1. ยุทธศาสตร์เชิงรุกด้านการป้องกัน ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ (1) สร้างกลไกป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน (2) ปลูกฝังจิตสำนึกให้ยึดถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว (3) พัฒนาสื่อออนไลน์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ยุทธศาสตร์ด้านกฎหมายและวัฒนธรรม ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์ (1) กลไก ด้านกฎหมายและวัฒนธรรม (2) ค่านิยมองค์กร (3) กลไกการป้องกันยับยั้งการทุจริต
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการสัมมนาสาธารณะ "กะเทาะเปลือกกลโกง การศึกษาไทย" ในวันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม 2561 ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ภายในงานภาคเช้าตั้งแต่เวลา 09.00 น. ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวเปิดงาน จากนั้นศิลปินแห่งชาติ 2 ท่าน คือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ร่ายบทกวีต่อต้านการทุจริต และนายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี บรรเลงเพลงขลุ่ยต่อต้านการทุจริต ต่อด้วยการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การตีความกฎหมายที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย" โดยศาสตราจารย์กิตติคุณดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สำหรับภาคบ่าย มีการนำเสนอและการวิพากษ์ผลงานทางวิชาการของผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) รุ่นที่ 9 เรื่อง "ยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย" และการเสวนา เรื่อง "การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย" โดย 1. พลโท โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2. นายชัยณรงค์ อินทรมีทรัพย์ อนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ และ 3. นายรชต จันทร์ดี ผู้นำเยาวชน โดยมีนางสาววรรณสิริ ศิริวรรณ (ผู้ประกาศข่าว MCOT HD 30 อสมท. และรายการข่าวเด่นประเด็นร้อน F.M. 96.5) ดำเนินการเสวนา ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามการถ่ายทอดสดกิจกรรมในวันดังกล่าวได้ทาง Facebook F.M. 96.5
หลังจากมีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การป้องกันการทุจริตด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทยนี้แล้ว จะมีการเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพิจารณา และจะมีการนำไปทดลองใช้จริงที่โรงเรียนสตรีวิทยา 2 กรุงเทพมหานคร ด้วย