นายสมพร เจิมพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า "โครงการสวนป่าชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร" เป็นการสร้างธุรกิจฟาร์มสุกรรูปแบบใหม่ที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยจัดทำเป็นสวนป่านิเวศในฟาร์มสุกร มีการนำของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสุกร นำปุ๋ยและมูลสุกรมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ใช้ประโยชน์จากน้ำปุ๋ยมูลสุกรที่ผ่านการบำบัดในกระบวนการผลิตมาใช้รดต้นไม้ ใส่ปุ๋ยมูลสุกรให้ต้นไม้ เป็นต้น
นอกจากนี้ มีการพัฒนาโครงการฯ สู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ป่านิเวศชุมชน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับชุมชน สถานศึกษาในท้องถิ่น และผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี และยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่ชุมชนและประเทศอย่างยั่งยืน
"การดำเนินโครงการในปีนี้ เข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ป่านิเวศชุมชน เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เตรียมนำ QR Code มาใช้เพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการเรียนรู้ในสวนป่าชุมชนด้วย" นายสมพร กล่าว
นายพิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร กล่าวว่า ปัจจุบัน จำนวนต้นไม้ในโครงการฯ มีมากถึง 18,240 ต้น ชนิดของพันธุ์ไม้มากกว่า 220 ชนิด เป็นพันธุ์ไม้หายาก 142 ชนิด ไม้ทั่วไป 78 ชนิด มีการแบ่งโซนป่านิเวศ 6 ประเภท ประกอบด้วย ป่าชายน้ำ ป่าเศรษฐกิจ ป่าเบญจพรรณ ป่าพันธุ์ไม้หายาก ป่าเต็งรัง และป่านิเวศแนวป้องกัน ซึ่งต้นไม้ที่ปลูกไว้ในพื้นที่ มีแนวโน้มเติบโตเป็นป่านิเวศที่สมบูรณ์ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ชุมชน เป็นแหล่งการเรียนรู้ธรรมชาติที่ผสานความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 - มิถุนายน 2561 มีจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการฯ รวม 4,479 คน อาทิ คณะรัฐมนตรีว่าการสหภาพแรงงาน ประเทศพม่า คณะกรรมการบริหารคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี คณะครูและนักเรียนห้องเรียนพิเศษ สสวท. โรงเรียนวัชรวิทยากำแพงเพชร นักวิชาการและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี คณะครูโรงเรียนบ้านหินลาด จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น
โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ตำบลเทพนคร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร เข้าร่วม "โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ" เมื่อปี 2557 พลิกพื้นที่ว่างเปล่าในฟาร์มสุกรเป็นป่านิเวศ และศูนย์เรียนรู้ป่านิเวศในชุมชน โดยในช่วงเริ่มต้นโครงการฯ มีเกษตรกรในโครงการ ผู้นำชุมชน ผู้บริหารซีพีเอฟ พนักงาน หน่วยราชการ สถานศึกษาในท้องถิ่น ร่วมแรงร่วมใจกันปลูกป่า ณ ศูนย์เรียนรู้สวนป่าชุมชนเฉลิมพระเกียรติ มีส่วนร่วมดูแลร่วมกับซีพีเอฟ ถือเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง และในระยะต่อไปจะต่อยอดสู่การเป็นต้นแบบการปลูกป่าเชิงนิเวศในฟาร์มสุกรแห่งแรกของประเทศ