นางสาวอัญชนา วัลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการระบบค้นหาที่อยู่อาศัยผ่านเว็บไซต์ Baania.com และบริการข้อมูลการตลาดอสังหาริมทรัพย์ด้วย big data analytics กล่าวว่า ทีม Baania Data Insights ของบริษัท ซึ่งประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิจัย นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ด้านเมือง ได้นำข้อมูลในรูปแบบ big data ในมิติต่างๆ มาทำการวิเคราะห์เชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งในการตัดสินใจซื้อหรือลงทุน
สำหรับบทวิเคราะห์ Baania Data Insights ล่าสุดได้นำข้อมูลคนทำงานที่มีอยู่ในระบบออนไลน์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมาวิเคราะห์ในมุมมองของตลาดแรงงานที่เชื่อมโยงกับทำเลแหล่งงานชั้นดีที่มีผลต่อรายได้ รวมถึงความสามารถในการอยู่อาศัยในทำเลที่เป็นแหล่งงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งจากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบการกระจุกตัวของการจ้างงานเกิดขึ้นในเขตกลางเมืองและตามแนวถนนอย่างชัดเจน โดยย่านเมืองที่มีการจ้างงานในเงินเดือนที่สูงระดับเข้มข้นคือ พื้นที่ตามแนวรถไฟฟ้า BTS และ MRT ในย่านต่างๆ ดังนี้ 1.สีลม-สาทร 2.ปทุมวัน 3.อโศก-เพชรบุรี 4.พระรามเก้า และ5. อารีย์ (Bangkok Zone 4)
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลจะพบว่า ประเภทของงานที่มีการกระจุกตัวสูงในเขตกลางเมือง ได้แก่ กลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านธุรกิจ การบริหารงาน เทคโนโลยี กฎหมาย และด้านสังคมศาสตร์ และกลุ่มงานด้านเทคนิคระดับกลาง ส่วนกลุ่มงานที่กระจุกตัวอยู่นอกเมืองมากกว่า ได้แก่ กลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ การสอน และสุขภาพ กลุ่มงานพนักงานสนับสนุนงานทั่วไป และกลุ่มงานฝีมือ ขณะที่บางกลุ่มงานจะมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอทั้งในเขตกลางเมืองและนอกเมืองคือ กลุ่มงานขายและงานบริการ
เมื่อพิจารณาเฉพาะทำเลที่มีการจ้างงานเงินเดือนที่สูงระดับเข้มข้น พบว่าในแต่ละพื้นที่มีโครงสร้างความหนาแน่นของประเภทงานที่โดดเด่นชัดเจนแตกต่างกัน ดังนี้
ย่านสีลม-สาทร มีส่วนผสมของการจ้างงานประเภทต่างๆ ที่ใกล้เคียงกันซึ่งกลุ่มงานระดับบริหารจะมีความโดดเด่นกว่าโครงสร้างประเภทงานของย่านอื่นๆ
ย่านพระรามเก้า มีการกระจุกตัวของกลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านธุรกิจ การบริหารงาน และเทคโนโลยีสูง
ย่านปทุมวัน มีการกระจุกตัวของกลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านธุรกิจ การบริหารงาน งานสอน และด้านสุขภาพสูง
ย่านอโศก มีการกระจุกตัวของกลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม สังคมศาสตร์ กฎหมาย และกลุ่มงานพนักงานขายทั่วไปอยู่สูง
ย่านอารีย์ มีการกระจุกตัวของกลุ่มงานเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี และกลุ่มงานพนักงานสนับสนุนงานทั่วไปสูงในพื้นที่
นอกจากนี้ ปัจจัยเชิงพื้นที่ของบริษัท ซึ่งหมายถึงสภาพแวดล้อมบริษัท และตำแหน่งที่ตั้งของบริษัทที่อยู่ในพื้นที่เหมาะสมก็มีส่วนช่วยให้ระดับค่าตอบแทนของแรงงานในย่านนั้นสูงขึ้นกว่าพื้นที่อื่น จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าการเข้ามาทำงานในเขตย่านเศรษฐกิจกลางเมืองมากเท่าไรจะส่งผลให้แรงงานได้รับระดับเงินเดือนที่สูงขึ้นตามไปด้วย เช่น หากเลือกทำงานในย่านสีลม-สาทร จะได้รับเงินเดือนเริ่มต้นที่สูงกว่างานลักษณะเดียวกันในพื้นที่ย่านชานเมืองถึง 14.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่คำนวณจากค่าประมาณเฉลี่ยของแรงงานในพื้นที่ ขณะเดียวกัน การตัดสินใจทำงานในย่านต่างๆ จะส่งผลต่อเนื่องกับการเติบโตของเงินเดือนที่แตกต่างกันด้วย โดยการทำงานในย่านอโศก-เพชรบุรี จะให้ผลตอบแทนของการเติบโตในเงินเดือนสูงที่สุดถึง 9.3% ต่อปี
สำหรับราคาที่อยู่อาศัยกลางเมืองใกล้ที่ทำงาน จากคลังข้อมูลของ Baania สะท้อนราคาคอนโดมิเนียมมือหนึ่งแบบห้องสตูดิโอ - 1 ห้องนอน และ แบบห้อง 2 ห้องในเขตย่านเศรษฐกิจข้างต้น พบว่า สามารถแบ่งการกระจุกตัวของกลุ่มราคาได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มราคาสูงพื้นที่ย่านสีลม-สาทร, ปทุมวัน และ อโศก-เพชรบุรี และกลุ่มราคาปกติ (ราคาเฉลี่ยในพื้นที่น้อยกว่ากลุ่มราคาสูงเกือบเท่าตัว) อยู่ในพื้นที่ย่านอารีย์ และพระรามเก้า
ทั้งนี้ จากข้อมูลการวิเคราะห์การจ่ายผลตอบแทนในพื้นที่ และข้อมูลราคาคอนโดมือหนึ่งในพื้นที่ พบว่า ในพื้นที่ที่มีการจ่ายผลตอบแทนของเงินเดือนโดยเฉลี่ยสูง (เงินเดือนเริ่มต้นที่สูง หรือการเติบโตของเงินเดือนที่สูง) ราคาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในพื้นที่จะสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งได้แก่ ย่านสีลม-สาทร, ปทุมวัน และอโศก-เพชรบุรี ส่วนพื้นที่ที่มีการจ่ายผลตอบแทนของเงินเดือนโดยเฉลี่ยสูงแต่ไม่โดดเด่นกว่าย่านเมือง ได้แก่ พื้นที่ย่าน อารีย์ และพระรามเก้า จะมีราคาที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมในพื้นที่ที่ไม่ปรับตัวสูงมากนักเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ ใน Bangkok Zone 4
โดยทั่วไปแล้วจุดศูนย์กลางของเมืองใหญ่ทั่วโลกจะเป็นที่กระจุกตัวของอาคารสำนักงานและแหล่งพาณิชย์กรรมซึ่งเป็นการเติบโตของเมืองในแนวดิ่ง (ตึกสูง) การกระจุกตัวของอาคารสำนักงาน หรืองานในพื้นที่ที่สูงเป็นสิ่งที่ทำให้กลไกของตลาดงานในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กลไกการจับคู่กันของคนที่เหมาะสมกับงาน กลไกการคัดสรรงานที่ดีที่สุดในมุมลูกจ้าง/คัดสรรลูกจ้างที่ดีที่สุดในมุมนายจ้าง และกลไกการกระตุ้น/พัฒนาทุนมนุษย์ของแรงงานในเมือง กลไกเหล่านี้ที่ถูกขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่กลางเมืองและทำให้ภาพรวมการจ่ายผลตอบแทนให้กับแรงงานในย่านเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้น
สำหรับในประเทศไทยพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจยังถูกแทรกไปด้วยคอนโดมิเนียม ดังนั้นเมื่อเพิ่มความต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อเป็นที่พักอาศัยเข้ามาแบ่งสัดส่วนพื้นที่กับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชยกรรมทำให้ราคาที่ดินปรับตัวขึ้น แต่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็ยังคงมองหาโอกาสในการพัฒนาโครงการที่พักอาศัยในพื้นที่อยู่ตลอดเวลา โดยในมุมมองของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แล้วพื้นที่กลางเมืองยังมีความต้องการซื้อที่พักอาศัยที่สูงอยู่ จึงไม่แปลกที่ในพื้นที่เศรษฐกิจกลางเมืองจะมีการจ่ายเงินเดือนให้แรงงานที่สูงและมีราคาอสังหาริมทรัพย์ทะยานสูงขึ้นควบคู่ตาม
อย่างไรก็ตาม คนทำงานในเมืองแม้จะมีรายได้สูง แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถซื้อที่อยู่อาศัยใกล้ที่ทำงานได้ เพราะราคาที่อยู่อาศัยไม่สอดคล้องกับรายได้ที่มี โดยจากฐานข้อมูลของ Baania พบว่า ผู้ที่ทำงานในย่านเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร เช่น ย่านอโศก ปทุมวัน และสีลม-สาทร น้อยกว่า 0.1% ที่มีความสามารถในการเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมใกล้ที่ทำงานของตนได้ ส่วนย่าน อารีย์ พระรามเก้า มีสัดส่วนประมาณ 1-1.5%