พลเอก ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ให้ทุกจังหวัดจัดรณรงค์ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ระหว่างวันที่ 12 – 18 กรกฎาคม 2561 และทำต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เปิดศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินระดับอำเภอในพื้นที่ระบาดและพื้นที่เสี่ยง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุนงบประมาณ โดยใช้งบกองทุนสุขภาพตำบล และให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำประชาชนเป็นอาสาปราบยุง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในสถานที่สาธารณะ สถานที่ราชการ และบ้านเรือนประชาชน กระทรวงศึกษาธิการ ให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงในโรงเรียนทุกสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังอาการป่วยของครู นักเรียน และเจ้าหน้าที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ดูแลสิ่งแวดล้อม ห้องสุขาของสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท กระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนหลักในการควบคุมการระบาดและการดูแลรักษาผู้ป่วย สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ในการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้โรงพยาบาลจัดการสิ่งแวดล้อมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในศาสนสถานในพื้นที่ ตามกิจกรรมสนับสนุนการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาพพระสงฆ์ (1 วัด 1 โรงพยาบาล)
รวมทั้งขอให้กระทรวงกลาโหม ดำเนินการให้พื้นที่ทหารเป็นเขตปลอดลูกน้ำยุงลาย และสนับสนุนกำลังคนในการควบคุมป้องกันโรคตามคำขอของพื้นที่ กรมประชาสัมพันธ์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสนับสนุนงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ประสานภาคีเครือข่ายในจังหวัดและชุมชนร่วมเป็นอาสาปราบยุง
สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคม - 10 กรกฎาคม พบผู้ป่วยแล้ว 28,732 ราย เสียชีวิต 37 ราย ผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายน และพฤษภาคม เป็นต้นมา ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนอายุ 5 – 14 ปี แต่ผู้เสียชีวิตกลับเป็นวัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่อายุ 35 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยตายสูงกว่าเด็ก 2 – 5 เท่า นอกจากนี้ ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลายในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนสูงถึงร้อยละ 30 และอัตราการพบลูกน้ำในภาชนะน้ำขังในวัดอยู่ที่ร้อยละ 58 โรงเรียน ร้อยละ 41 และโรงพยาบาลร้อยละ 23 แสดงให้เห็นว่าแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายยังมีอยู่มากในชุมชนและสถานที่สำคัญที่มีประชาชนมารวมตัวกันจำนวนมาก เป็นความเสี่ยงที่โรคไข้เลือดออกจะแพร่กระจายต่อเนื่องและขยายวงกว้างทั่วประเทศไทย
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนร่วมกันป้องกันไม่ให้ยุงเกิด ยึดหลัก 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค คือโรคไข้เลือดออกโรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ได้แก่1.เก็บบ้าน ให้สะอาด ไม่รกทึบจนเป็นที่เกาะพักของยุงลาย 2. เก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะให้มิดชิด ปล่อยปลากินลูกน้ำ ใส่ทรายหรือแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงลายลงไปวางไข่ 3.เก็บขยะ เศษภาชนะที่อาจมีน้ำขัง ไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยนอนในมุ้งหรือมุ้งลวด ทายากันยุง ป้องกันไม่ให้เสียชีวิต โดยสังเกตอาการตนเองและสมาชิกในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ และหากมีไข้สูง 2 - 3 วันอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ฉีดยาลดไข้หรือซื้อยากินเอง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือมีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุ ขอให้ดูแลเป็นพิเศษเพราะหากป่วยแล้วมีโอกาสรุนแรงกว่าปกติได้ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422