สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯชี้!! การขยายอายุบริการให้วัคซีนเอชพีวีในเยาวชนไทยมีประโยชน์

พุธ ๑๘ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๔:๒๙
สถาบันวัคซีนแห่งชาติฯชี้!! การขยายอายุการให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือเอชพีวีจากเด็กนักเรียนหญิงชั้นป.5 เพียงกลุ่มเดียว เป็นเยาวชนหญิงอายุระหว่าง 12 – 18 ปี (ป.6 – ม.6) ที่อยู่นอกเป้าหมายของการให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ จะมีประโยชน์ ช่วยลดภาระมะเร็งปากมดลูกของประเทศได้เร็วขึ้น 8 ปี ป้องกันผู้ป่วยเพิ่มได้อีกกว่า 22,000 ราย และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้อย่างมหาศาล

ดร.นพ.จรุง เมืองชนะ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า "มะเร็งปากมดลูก" เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในหญิงไทยรองจากมะเร็งเต้านม เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีไวรัสสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุหลักถึงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยพบว่าในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณปีละ 6,500 ราย หรือวันละ 542 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณปีละ 2,000-4,000 รายหรือวันละ 6-12 ราย การฉีดวัคซีนเอชพีวีให้แก่เด็กหญิงไทยควบคู่ไปกับการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเมื่ออายุ 30-60 ปี จะทำให้สามารถป้องกันการเกิดโรคได้กว่า 2ใน 3 นับเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กที่จะเติบโตไปในอนาคตต้องมีความเสี่ยงหรือลดการป่วย การตายจากโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตจิตใจ ความเป็นอยู่ของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ไม่อาจคาดประมาณเป็นจำนวนเงินได้

คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้พิจารณาให้บรรจุวัคซีนเอชพีวีในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศไทย เมื่อปี 2554 และกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มให้บริการวัคซีนเอชพีวีในโรงเรียนแก่เด็กหญิงไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยไม่คิดมูลค่า ตั้งแต่เปิดภาคการศึกษาปี 2560 ซึ่งเด็กหญิง ป.5 ในประเทศไทย เป็นอายุที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากร้อยละ 97 ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ และยังเป็นวิธีการที่เหมาะสม เพราะการให้บริการฉีดวัคซีนในโรงเรียนส่งผลให้อัตราความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็มสูง แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ เด็กหญิงไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จึงเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับบริการฉีดวัคซีนเอชพีวีฟรี และคาดว่าอีกกว่า 30 ปี จะเริ่มเห็นการลดลงของอุบัติการณ์มะเร็งปากมดลูกอย่างชัดเจน ดังนั้นจึงยังคงมีเยาวชนไทยจำนวนมากที่อยู่นอกเป้าหมายของบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และเป็นผู้ที่ยังมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก

ดร.นพ.จรุง กล่าวต่อไปว่า การประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เสนอ "ทางเลือกการขยายการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกในเยาวชนไทย" ( HPV vaccine catch-up ) เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นต่อการขยายกลุ่มอายุการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก(HPV) ในเยาวชนไทย รวม 4 ทางเลือก ได้แก่ 1) รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณให้กับกระทรวงสาธารณสุขดำเนินโครงการ 2) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน โดยประชาชนร่วมจ่ายวัคซีนราคาถูกกว่าท้องตลาด(Co-payment) 3) หน่วยงานรัฐในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เช่น อปท. และสำนักอนามัย กทม. เป็นต้น และ 4) ประชาชนจ่ายเงินซื้อวัคซีนเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนไทยที่อยู่นอกเป้าหมายของบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ ด้วยการลดอุปสรรคด้านราคาวัคซีน จากการจัดบริการวัคซีนโดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ประชาชน และภาคเอกชน เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก และลดผลกระทบจากมะเร็งปากมดลูกในประชาชนไทยให้ได้ในระยะเวลาอันสั้น กลุ่มเป้าหมาย คือ เยาวชนไทยหญิงที่มีอายุระหว่าง 12 - 18 ปี ซึ่งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขคาดการณ์ว่าถ้าสามารถเพิ่มการให้บริการวัคซีนเอชพีวีในเด็กนักเรียนประถมปลายจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่อยู่นอกเป้าหมายของบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศได้ จะสามารถลดภาระมะเร็งปากมดลูก ของประเทศได้รวดเร็วขึ้น 8 ปี คิดเป็นจำนวนผู้ป่วยที่สามารถป้องกันได้เพิ่มขึ้น อีกกว่า 22,000 ราย และช่วยลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคได้อย่างมหาศาล

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้อย่างรอบด้าน รวมถึงข้อจำกัดด้านงบประมาณจัดซื้อจัดหาวัคซีนของภาครัฐแล้ว จึงมีมติให้การสนับสนุนทางเลือกที่ 3 โดยสนับสนุนให้หน่วยงานท้องถิ่นที่มีศักยภาพ พิจารณาจัดหาวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาให้บริการฟรีกับเยาวชนกลุ่มดังกล่าวได้อย่างครอบคลุมและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทางเลือกที่ 4 หากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและหรือด้านอื่น ๆ โดยสนับสนุนให้วัคซีนเอชพีวีเป็นวัคซีนทางเลือกสำหรับที่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีนเองสำหรับเยาวชนกลุ่มดังกล่าวเช่นกัน

"สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนและเปิดโอกาสที่จะทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นรวมทั้งผู้ปกครองสนับสนุนการจัดซื้อจัดหาวัคซีนแก่เยาวชนกลุ่มที่อยู่นอกเป้าหมายของบริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศได้มากยิ่งขึ้น อันจะทำให้สามารถลดอุบัติการณ์การป่วย การเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกได้เร็วขึ้น 8 ปี และจำนวนผู้ป่วยลดได้สูงสุดไม่ต่ำกว่า 22,000 ราย หากมีการรับวัคซีนกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติมดังกล่าวทั้งหมด รวมทั้งได้รูปแบบการบริหารจัดการ การบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งจะเป็นรูปแบบตั้งต้นในการพัฒนาการให้บริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคในลักษณะเดียวกับวัคซีนอื่นๆในอนาคต สำหรับวัคซีนที่มีราคาสูง" ดร.นพ.จรุง กล่าวในตอนท้าย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๐ ธ.ค. ASMT ผนึก TFT ร่วมลงนามด้านวิชาการด้านอุตสาหกรรมการบิน
๒๐ ธ.ค. กรมวิชาการเกษตร เดินหน้า ถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตอะโวคาโดคุณภาพ สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรกว่า 2 แสนบาท/ไร่
๒๐ ธ.ค. Dow มุ่งพัฒนาประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ Personal Care ควบคู่ความยั่งยืน ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดเครื่องสำอางในภูมิภาคเอเชีย
๒๐ ธ.ค. โอซีซี มอบความรู้ พัฒนาอาชีพให้ผู้ต้องขังหญิง
๒๐ ธ.ค. ดร.นุชนารถ ชลคงคา นำทีมสถาบัน ESTC จัดอบรมให้ Karmakamet
๒๐ ธ.ค. กนภ. เห็นชอบร่าง พรบ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กลไกสำคัญสู่เส้นทางเศรษกิจคาร์บอนต่ำ และมีภูมิคุ้มกันฯ
๒๐ ธ.ค. WePlay x คอลแลบตัวละครสุดปัง! พบกับมินิเกมใหม่ และการ์ตูนสุดน่ารักที่คุณจะต้องหลงรัก
๒๐ ธ.ค. เดลต้า ประเทศไทย และ WEnergy Global ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อขับเคลื่อนอนาคตพลังงานสีเขียว
๒๐ ธ.ค. ความภาคภูมิใจของ ไลอ้อน กับ 3 รางวัลแห่งเกียรติยศ เผยผลงานโดดเด่นกับหลายรางวัลที่ได้รับในปี 2567
๒๐ ธ.ค. NOBLE คว้าเรทติ้งสูงสุด ระดับ AAA SET ESG Ratings ประจำปี 2567 ยกระดับองค์กรสู่ความยั่งยืนภายในแนวคิด Live Different ตามกรอบ