การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายคลื่นความถี่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาด้านดิจิทัล
นโยบายการกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่ดีขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมของคนนับพันล้านคนที่ยังคงไม่สามารถเชื่อมต่อกับบริการบรอดแบนด์บนมือถือได้ ทั้งนี้รายงาน "การกำหนดราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนา (Spectrum Pricing in Developing Countries)" ฉบับล่าสุดที่เปิดเผยโดยสมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA ระหว่างการประชุม Mobile 360 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองคิกาลี ประเทศราวันดา รายงานยังระบุว่า ราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉลี่ยสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 3 เท่าเมื่อพิจารณารายได้รวมเข้าไปด้วย การกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่สูงเช่นนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการใช้โทรศัพท์มือถือ
ข้อมูลการศึกษาของ GSMA Intelligence ยังพบว่ารัฐบาลมีบทบาทอย่างมากในการเพิ่มราคาคลื่นความถี่เพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐจากการออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ ยิ่งกว่านั้นราคาจอง (reserved price) การประมูลคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาจะสูงกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วถึง 5 เท่าเมื่อนำรายได้เข้ามาพิจารณา รายงานยังระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างราคาคลื่นความถี่ที่สูงกับสัญญาณครอบคลุมที่ต่ำลง รวมไปถึงการให้บริการโมบายล์ บรอดแบนด์ที่แพงกว่าและมีคุณภาพต่ำกว่า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคต่อการใช้งานของผู้บริโภค
"การเชื่อมต่อผู้ใช้งานทุกคนจะเป็นไปไม่ได้หากไม่มีการตัดสินใจให้มีนโยบายด้านการบริหารคลื่นความถี่ที่ดีกว่าในปัจจุบัน" มร.เบร็ต ทาร์นัตเซอร์ ประธานด้านคลื่นความถี่ ของสมาคมจีเอสเอ็ม กล่าวว่า "เป็นเวลานานเกินไปแล้วที่ความสำเร็จของการประมูลคลื่นความถี่ถูกวัดจากรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่จะวัดจากประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมในการเชื่อมต่อผู้คนให้เข้าถึงกัน นโยบายด้านคลื่นความถี่ที่หวังแต่จะเพิ่มราคาและเน้นที่ผลกำไรในระยะสั้นไม่สอดรับกับเป้าหมายร่วมกันของเราที่ต้องการจะให้บริการบรอดแบนด์บนมือถือที่ดีขึ้นในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ นโยบายด้านราคาเหล่านี้มีแต่จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้เป็นการยากขึ้นที่จะขจัดปัญหาความยากจน มีระบบสาธารณสุขและระบบการศึกษาที่ดีขึ้นได้ รวมไปถึงการเข้าถึงระบบการเงินและความเท่าเทียมทางเพศด้วย"
สมาคมจีเอสเอ็ม ทำการศึกษาการกระจายคลื่นความถี่มากกว่า 1,000 รายการใน 102 ประเทศ (60 ประเทศที่กำลังพัฒนาและ 42 ประเทศที่พัฒนาแล้ว) ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2017 ทำให้การศึกษานี้เป็นการวิเคราะห์การกำหนดราคาคลื่นความถี่ในประเทศกำลังพัฒนาที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา รวมไปถึงการศึกษาแรงผลักดันและผลกระทบของการกำหนดราคาต่อผู้บริโภค ประเทศต่างๆ ที่ถูกรวมอยู่ในการวิเคราะห์ครั้งนี้ได้แก่ ประเทศแอลจีเรีย บังคลา-เทศ บราซิล โคลัมเบีย อียิปต์ กานา อินเดีย จอร์แดน เม็กซิโก พม่า และไทย – หรืออีกนัยหนึ่งคือ ประเทศที่การออกใบอนุญาตคลื่นความถี่เป็นเรื่องที่สำคัญ
รายงานระบุว่า การกำหนดราคาสุดท้ายให้สูงหรือการตั้งราคาเริ่มต้นการประมูลที่สูง (เช่น ราคาจอง หรือ reserve price) เป็นการสร้างเงื่อนไขเทียมที่จำกัดปริมาณคลื่นความถี่ที่ได้รับอนุญาต ไม่มีการชี้แจงแผนงานด้านคลื่นความถี่อย่างชัดเจน รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในการประมูลที่ไม่ดี ถือเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจด้านนโยบายที่รายงานฉบับนี้ระบุว่า เป็นการพยายามกำหนดราคาประมูลคลื่นความถี่ให้สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำในประเทศที่กำลังพัฒนา
GSMA Intelligence เปิดเผยการศึกษาล่าสุด Mobile Connectivity Index
GSMA Intelligence ได้เปิดเผยข้อมูลการศึกษาล่าสุด Mobile Connectivity Index ซึ่งวัดประสิทธิภาพการเชื่อมต่อของประชากรใน 163 ประเทศ (คิดเป็นร้อยละ 99 ของประชากรโลก) โดยเทียบกับปัจจัยที่เอื้อต่อการใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงความคืบหน้าล่าสุดของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยใช้โทรศัพท์มือถือ พร้อมกับการศึกษาอุปสรรคสำคัญในการใช้อินเตอร์เน็ตบนมือถือ รวมไปถึงการศึกษานโยบายเกี่ยวกับคลื่นความถี่
ในช่วงปลาย ปี 2017 ประชากรจำนวน 3,300 ล้านคน (หรือคิดเป็น 44% ของประชากรทั่วโลก) สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ซึ่งตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 300 ล้านคนเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หมายความว่ายังเหลือประชากรโลกอีกกว่า 4 พันล้านคนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและไม่ได้รับประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตบนมือถือ ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงโลกออนไลน์ราว 3,900 ล้านคนนั้นอาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา
เครือข่ายบรอดแบนด์บนมือถือยังไม่ครอบคลุมประชากรถึง 1 พันล้านคนทั่วโลกและมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือประมาณ 3 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีเครือข่ายในการใช้งาน ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้ ประมาณ 2 ใน 3 ของประชากรในชนบทในประเทศที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงเครือข่าย 3G ดัชนีการเชื่อมต่อมือถือชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยต่างๆ เช่น ความสามารถของผู้ใช้บริการในการจ่ายค่าบริการ คุณภาพของบริการบรอดแบนด์บนมือถือ และการลงทุนของผู้ให้บริการเครือข่ายในการเชื่อมโยงผู้คน ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้จะได้รับผลกระทบจากราคาคลื่นความถี่ที่สูง
"หากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไม่สามารถเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ได้ในราคาที่เหมาะสมหรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะได้เป็นเจ้าของคลื่นความถี่หรือไม่ ผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด" มร.โพ คาสเทลส์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจของ GSMA Intelligence กล่าว "ประเทศกำลังพัฒนามีโอกาสที่จะไล่ตามประเทศพัฒนาแล้วในด้านการบริการโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตามการลงทุนในบางกรณีของตลาดบางแห่งมีความเสี่ยง ผู้ประกอบการไม่สามารถจ่ายเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อประมูลคลื่นความถี่ เมื่อรายได้ของผู้บริโภคและผลกำไรที่ผู้ประกอบการคาดการณ์ไว้มีค่าต่ำกว่ามากในตลาดเหล่านี้ นี่ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับการลงทุนด้านเครือข่าย และเป็นช่วงเวลาที่รัฐควรมีนโยบายที่สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจภาคบริการโทรศัพท์มือถือเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกคน"
ผู้สนใจสามารถอ่านรายงาน 'การกำหนดราคาความถี่ในประเทศกำลังพัฒนา' ในภาษาอังกฤษได้ที่นี่ และดูรายงานในรูปแบบข้อมูลอินโฟกราฟิกที่นี่ ท่านสามารถเข้าไปดูดัชนีการเชื่อมต่ออุปกรณ์เคลื่อนที่ล่าสุดได้ ที่นี่
เกี่ยวกับสมาคมจีเอสเอ็ม
สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก ซึ่งเชื่อมโยงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เกือบ 800 ราย กับบริษัทมากกว่า 300 แห่งในระบบนิเวศการสื่อสารเคลื่อนที่ที่ครอบคลุมกว้างขึ้น ได้แก่ ในระบบนิเวศของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิ ผู้ผลิตอุปกรณ์และหูฟังโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการอุปกรณ์ และบริษัทอินเตอร์เน็ต รวมถึงองค์กรอื่นๆในภาคอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงด้วย นอกจากนี้ GSMA ยังเป็นผู้สร้างกิจกรรมชั้นนำในอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิ การประชุม Mobile World Congress การประชุม Mobile World Congress ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ การประชุม Mobile World Congress ในประเทศสหรัฐอเมริกา และการประชุมทั้งหลายของ Mobile 360 Series อีกด้วย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ GSMA ที่ www.gsma.com หรือ ติดตามทางทวิตเตอร์ได้ที่ @GSMA