ประเด็นสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เขต1 เผยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมโครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัยจังหวัดปทุมธานี การพัฒนาอาหารปลอดภัยจากแหล่งการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ไร่, นา, ฟาร์มปศุสัตว์, ประมง ส่วนกลางน้ำ คือ ผู้ประกอบการที่นำสินค้าเกษตรไปแปรรูปจะต้องได้รับรองมาตรฐาน จนถึงปลายน้ำ ตลาดค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคจะต้องให้ความสำคัญและรณรงค์ให้ผู้ประกอบการแสดงป้ายการรับรองมาตรฐานจากแหล่งผลิต ได้แก่ GAP และ Q ทั้งนี้ กระทรวงฯ มีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานสินค้าเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายอาหารปลอดภัยเพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับอาหารที่ปลอดภัยเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น สำหรับการเลือกซื้อสินค้าเกษตรให้ปลอดภัยผู้บริโภคควรเลือกจากผู้จำหน่ายหรือร้านค้าที่มีการติดป้ายมาตรฐานที่ผ่านการรับรองจากภาครัฐ เช่น ป้ายปลอดสารเนื้อแดง ป้ายปลอดฮอร์โมน ป้าย GAP และ Q ฯลฯ โดยกระทรวงฯ จะขอความร่วมมือจากทุกๆ ตลาดร่วมมือสร้างมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะส่งผลให้อาหารปลอดภัยกันทั้งระบบ
ในการนี้ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์สถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานที่ผ่านการรับรองให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น และประชาสัมพันธ์โครงการอาหารปลอดภัย คุณศิรวิทย์ สุวรรณสาร ผู้อำนวยการสายงานบริหารตลาด ได้ร่วมร่วมกับทางผู้ตรวจราชการ ฯ และเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี ถ่ายทำรายการ "สารพัน สรรจะกิน ถิ่นปทุมฯ" ออกอากาศทุกวันจันทร์เวลา 17.30 -18.00 น. สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 โดยลงพื้นที่พูดคุยกับ พ่อค้า-แม่ค้า เพื่อพูดคุยสอบถามสินค้าเกษตรที่จำหน่ายภายในตลาด ณ ลานผัก, ตลาดผักทั่วไป (9), ลานผลไม้รังสิต โดยพบว่าผู้ค้าผักและผลไม้ มีการติดป้ายแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร รวมทั้งติดป้ายมาตรฐานสินค้าตลาดสี่มุมเมือง Q smm เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าจะได้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัย