นายควน ทวนยก ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) ปี 2553 ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการฝึกปฏิบัติการพื้นฐานดนตรีโนราและต่อยอดการเล่นดนตรีหนังตะลุงแบบดั้งเดิม ระหว่างวันที่ 24-25 มี.ค.61 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ มรภ.สงขลา ว่า เป็นการสานต่อองค์ความรู้จากที่เคยจัดอบรมพื้นฐานดนตรีหนังตะลุงแบบดั้งเดิมไปเมื่อปีที่แล้ว โดยนำประสบการณ์ที่ได้มาถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางดนตรีภาคใต้ให้แก่เยาวชนรุ่นหลังอย่างถูกต้อง ไม่เจือปนเครื่องดนตรีสากลแบบการเล่นดนตรีหนังตะลุงและดนตรีโนราเช่นทุกวันนี้ ให้สมกับคำว่าถ้าขาดเสียงแคนก็จะไม่เป็นอีสาน ปี่กลองของภาคใต้ก็เช่นกัน ที่จะทำให้คนทั้งหลายและต่างชาติได้รู้ว่า เครื่องดนตรีภาคใต้นั้นสำคัญมากไม่แพ้ภาคอื่นๆ
นายควน กล่าวว่า การเล่นดนตรีโนราและดนตรีหนังตะลุง มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาจิตใจของบุคคลและชุมชน แต่ปัจจุบันชุมชน สถานศึกษา โรงเรียนต่างๆ ขาดแคลนผู้มีภูมิรู้ที่สามารถเล่นดนตรีโนราและดนตรีหนังตะลุงได้ถูกต้องตามแบบฉบับดั้งเดิม ส่งผลต่อการสืบทอดรูปแบบการเล่นดนตรีแบบดั้งเดิมไว้ได้ ดังนั้น ในฐานะที่ตนได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน) มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นโดยนำเด็กและเยาวชนที่สนใจ จำนวน 50 คน เข้ารับความรู้เกี่ยวกับดนตรีโนราจากตนและ อ.ชัย เหล่าสิงห์ นายกสมาคมศิลปินพื้นบ้าน จ.สงขลา พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติโหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ซึ่งมุ่งหวังในการสร้างภูมิรู้และเครือข่ายด้านดนตรีพื้นบ้าน ให้อยู่คู่ภาคใต้ไปอีกนานแสนนาน
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าอบรมได้ฟรี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา โทร. 074-260280, 074-336946 หรือ 084-9668731, 081-0994997