นางอุมาพรฯ กล่าวว่า จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ให้ขับเคลื่อนนโยบาย วิทย์แก้จน เพื่อช่วยกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นั้น วศ. ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อการการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในพื้นที่ 10 จังหวัดยากจน ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน ชัยนาท นครพนม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ปัตตานี และ นราธิวาส เน้นการพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผลิตภัณฑ์ผ้า และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ในปี 2561 นี้ตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการ OTOP ไม่น้อยกว่า 1,000 กลุ่ม จำนวน15,000 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัดดังกล่าว โดยจะดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา ซึ่งครั้งนี้มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมประชุม ได้แก่ มทร.ล้านนา มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.สกลนคร มรภ.กาฬสินธุ์ มรภ.อุบลราชธานี มรภ.บุรีรัมย์ มรภ.ร้อยเอ็ด มรภ.สงขลา และ มรภ.ยะลา
ทั้งนี้ นางอุมาพรฯ ย้ำว่า การหารือนี้มีความสำคัญในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการที่ตั้งไว้ มุ่งผลักดันและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปพัฒนากระบวนการผลิต แก้ไขปัญหา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและให้คำปรึกษาเชิงลึก ตลอดจนพัฒนาบรรจุภัณฑ์ เพื่อยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าของสินค้า OTOP ตามนโยบายสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจ วิทย์แก้จนและยกระดับเศรษฐกิจภูมิภาค