นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ และโฆษกกรมปศุสัตว์ ในฐานะ "มิสเตอร์ไก่เนื้อ" เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยมีการพัฒนาทั้งด้านอาหารสัตว์ การเลี้ยง-การจัดการฟาร์ม และการป้องกันโรคมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ยังมีระบบการรับรองและกำกับดูแล ให้สถานประกอบการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานความปลอดภัยอาหารทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ดำเนินการตรวจสอบและติดตาม ทั้งที่โรงงานอาหารสัตว์ที่มีการควบคุมการใช้อาหารสัตว์ผสมยาโดยสัตวแพทย์ การเลี้ยงที่ฟาร์มมาตรฐาน การเชือดชำแหละที่โรงฆ่าที่ถูกสุขอนามัยและถูกกฎหมาย จนถึงการจัดจำหน่าย ทั้งที่ตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาเก็ต และร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ ที่สำคัญยังมีการเฝ้าระวังยาปฏิชีวนะและสารตกค้างอย่างเข้มงวดทั้งวงจร
"จากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ที่มีการสุ่มเก็บตัวอย่างครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมกว่า 30,683 ตัวอย่างต่อปี และส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ ที่ได้รับรองตามมาตรฐานสากล ISO17025 เป็นที่ยอมรับในระดับโลก พบว่า สินค้าปศุสัตว์ของประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยสอดคล้องตามมาตรฐานสากลที่นานาชาติยอมรับ ซึ่งเป็นผลมาจากการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน" รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวและย้ำว่า
ขอให้ผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนกกับข้อมูลข่าวสารต่างๆ เนื่องจากกระบวนการผลิตไก่เนื้อในอุตสาหกรรมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลอย่างเข้มงวดของกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างปลอดภัยกรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจซ้ำอีกครั้ง และขอแนะนำให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าปศุสัตว์จากผู้ผลิตที่มีมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์จะมีการเก็บตัวอย่างสินค้าและตรวจสอบเป็นประจำ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการเฝ้าระวังสารตกค้างต่างๆในสินค้าปศุสัตว์ ดังเช่น สัญลักษณ์ Q หรือสัญลักษณ์ปศุสัตว์ OK ที่กรมปศุสัตว์มอบให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่มีมาตรฐาน เป็นต้น
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการ "การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.2560–2564" เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมเชื้อดื้อยา และกำกับดูแลการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมในภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง อีกทั้งยังจัดทำโครงการร่วมกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งประชาชาติ (FAO) ในการวิเคราะห์และจัดการความเสี่ยงของเชื้อดื้อยาในกระบวนการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับสมาคมผู้เลี้ยงสัตว์ ภาคเอกชน และเกษตรกร ในการส่งเสริม สนับสนุนแนะนำให้จัดทำระบบการเลี้ยงที่สามารถป้องกันโรคได้ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจและลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันเป็น "สายตรวจปศุสัตว์" หากพบการกระทำผิดเกี่ยวกับภาคปศุสัตว์ สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน แอพพลิเคชั่น "DLD 4.0" เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าดำเนินการตรวจสอบได้อย่างทันท่วงที