มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ และ สวทช. ผนึกกำลัง ม.ธรรมศาสตร์ และ ม.เทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นเครือข่ายพัฒนาเยาวชน ในโครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

จันทร์ ๒๕ มิถุนายน ๒๐๑๘ ๑๔:๑๓
(22 มิถุนายน 2561) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในการเป็นเครือข่ายที่ปรึกษาทางวิชาการ และเป็นวิทยากรพัฒนาครูและนักเรียน รวมถึงให้ความช่วยเหลือกับนักเรียนในภูมิภาคต่างๆ เพื่อพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และโครงงานคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับระบบสมองกลฝังตัว การสร้างชิ้นงาน 3 มิติ และ Internet of Things พร้อมจัดเวทีนำเสนอผลงานนักเรียนและสามเณรมากกว่า 120 โครงงานภายใต้งาน "Show & Share 2018: สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว" เพื่อส่งเสริมทักษะการคิด แก้ปัญหา และเรียนรู้กระบวนการทำงานโครงงานที่เป็นทักษะจำเป็นในศตวรรษที่ 21 พร้อมสร้างโอกาสให้นักเรียน-สามเณรได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์/วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโควต้ารับตรงหรือโควต้าพิเศษ

ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยว่า "โครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์" เป็นโครงการหนึ่งภายใต้งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของมูลนิธิฯ ที่มุ่งเน้นพัฒนาให้เยาวชนมีความรู้และทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านการทำกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว การสร้างชิ้นงาน 3 มิติ และ Internet of Things ซึ่งโรงเรียนในโครงการส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับ สวทช. จึงได้ประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย ร่วมเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ เป็นวิทยากรในการพัฒนาครูและนักเรียน ตลอดจนให้ความช่วยเหลือโรงเรียนให้สามารถดำเนินงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นเครือข่ายที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเชิงวิชาการกับโรงเรียนในชนบท โรงเรียนพระปริยัติธรรม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จะเป็นเครือข่ายที่ปรึกษาและให้คำแนะนำเชิงวิชาการให้กับโรงเรียนพระปริยัติธรรมในพื้นที่ภาคกลาง ได้แก่ โรงเรียนวัดไผ่ดำ และโรงเรียนเครือข่ายของโรงเรียนวัดไผ่ดำ ในจังหวัดสิงห์บุรี"

ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. กับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินงาน "โครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์" ให้แก่เยาวชนกลุ่มด้อยโอกาสจากโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้รับการพัฒนาทักษะที่มีความต้องการสูงในยุคดิจิทัล และยังเปิดโอกาสให้เยาวชนกลุ่มด้อยโอกาสได้เข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาในสาขาวิศวกรรมศาสตร์/วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้อีกช่องทางหนึ่ง โดย สวทช. ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักวิชาการในการดำเนินงาน และในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ต้องอาศัยความร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่จะช่วยเป็นที่ปรึกษาให้กับโรงเรียนในภูมิภาคต่างๆ ช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยครั้งนี้ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงาน พัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติต่อไป

รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันโครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อเน้นพัฒนาเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ทั้งกลุ่มโรงเรียนในชนบท กลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรม และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามให้มีโอกาสได้พัฒนาและเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนโยบายที่จะส่งเสริมให้มีการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์แห่งความดีและความสำเร็จให้กับคนรุ่นใหม่ พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีโลกทัศน์กว้างไกล และสร้างบัณฑิตให้มีความเป็นผู้นำยุคใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งในการดำเนินงานด้านการพัฒนาคนรุ่นใหม่ดังกล่าว ส่วนหนึ่งมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยบทบาทการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยฯ ภายใต้โครงการ ประกอบด้วย การร่วมออกแบบกิจกรรมและเป็นวิทยากรให้คำปรึกษาและแนะนำด้านวิชาการ ให้แก่นักเรียนในการพัฒนาโครงงาน/สิ่งประดิษฐ์ด้านสมองกลฝังตัว รวมถึงจะพิจารณาสนับสนุนโควตา และ/หรือทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ให้แก่นักเรียนที่มีผลงานจากการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย ทั้งหมดนี้ เพื่อจะช่วยพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นบุคลากรคุณภาพที่สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีต่างๆ สร้างสรรค์นวัตกรรมตอบโจทย์สังคมในมิติต่างๆ ต่อไป"

รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้มีทักษะความชำนาญด้านวิชาชีพ เสริมสร้างทุนมนุษย์ที่มีมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ โดยเน้นผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติมืออาชีพ และสามารถสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยในการพัฒนาประเทศ โดยในปี 2560 มหาวิทยาลัยได้ร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ สวทช. เพื่อร่วมดำเนินงาน "โครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์" โดยมหาวิทยาลัยรับผิดชอบโรงเรียนพระปริยัติธรรมในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งในการดำเนินงานโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นพัฒนาสามเณร ซึ่งเป็นเยาวชนอีกกลุ่มหนึ่งของประเทศ ให้มีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้รับการพัฒนาทักษะมีความต้องการในยุคดิจิทัล ได้เรียนรู้การสร้างสิ่งประดิษฐ์ /หรือโครงงานคอมพิวเตอร์ ฝึกทักษะให้ได้คิดอย่างเป็นระบบ คิดเป็น แก้ปัญหาได้ ทำงานกับผู้อื่นได้ อันเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยบทบาทการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยฯ ภายใต้โครงการ ประกอบด้วย การร่วมออกแบบกิจกรรม และเป็นวิทยากรในอบรม การให้คำปรึกษาทางวิชาการ ลงพื้นที่ติดตามให้ความช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรมในโครงการ ในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงมหาวิทยาลัยจะพิจารณาให้โควต้า และสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่มีผลงานจากการเข้าร่วมโครงการด้วย"

สำหรับผลงานตัวอย่างของสามเณรภายใต้การให้คำปรึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่นำมาเสนอใน "งาน Show & Share 2018: สิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว" ซึ่งเป็นงานนำเสนอโครงงานของนักเรียนและสามเณรจากโรงเรียนในชนบท ในโครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ประจำปี 2561" ระหว่างวันที่ 21 - 23 มิถุนายน 2561 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี มีด้วยกันหลายโครงงาน อาทิ เครื่องวัดส่วนสูงดิจิทัล ออกแบบด้วยระบบสมองกลฝังตัว โดยมีบอร์ด Arduino เป็นส่วนประมวลผล โดยสามเณรโรงเรียนโพธิ์ศรีวิทยา จ.ศรีสะเกษ / เครื่องเตือนภัยน้ำท่วมผ่าน SMS ออกแบบโดยใช้ระบบสมองกลฝังตัวเชื่อมต่อเซนเซอร์ โดยสามเณรโรงเรียนพระปริยัติธรรมเกียรติแก้ววิทยา จ.ศรีสะเกษ / กังหันน้ำอัตโนมัติ ที่ใช้ระบบ IoT สั่งผ่านสมาร์โฟน กำหนดและควบคุมการเปิดปิด ตามเวลา / เครื่องตรวจจับแก๊สรั่วขนาดเล็ก ส่งการแจ้งเตือนผ่านไปยังแอพพลิเคชันไลน์ และเครื่องรดน้ำผักอัตโนมัติ โดย Sensor ตรวจวัดความชื้นในดินตรงจุดที่ติดตั้งไว้ โดยสามเณรโรงเรียนวัดไผ่ดำ จ.สิงห์บุรี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีผลงานของนักเรียนและสามเณรที่มีการใช้ระบบสมองกลฝังตัว การสร้างชิ้นงาน 3 มิติ และ Internet of Things รวมมากกว่า 120 โครงงาน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๒๑ 60 ปีแห่งความมุ่งมั่น! คาโอ คว้ารางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 2 ประเภทในปี 2567 ชูความสำเร็จด้านสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม
๑๗:๒๓ AVATR ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่! ระดมทุนในรอบ Series C ได้มากกว่า 11,000 ล้านหยวน พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าหรูหราแห่งอนาคต
๑๗:๐๖ Zoom เปิด 10 เทรนด์ ใช้ AI ในการทำงานปี 2568
๑๗:๑๐ เปิดมุมมองอาชีพที่หลากหลายในอุตสาหกรรมกาแฟไทย เจาะลึกบทบาทและแนวทางยกระดับสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
๑๗:๑๔ อนาคตแห่งการเดินทาง: 5 คนขับ AI จากแอปเรียกรถ Maxim
๑๗:๕๕ Well-Being House บ้านชั้นเดียวเอาใจคนวัยเกษียณ
๑๗:๑๖ กทม. แจงเปิดกว้างการแข่งขันโครงการเช่าคอมพิวเตอร์พกพาสำหรับนักเรียน
๑๖:๓๗ รายงาน Ericsson Mobility Report ฉบับล่าสุด เผยผู้เริ่มให้บริการ 5G กลุ่มแรกกำลังมุ่งสู่โมเดลธุรกิจที่เน้นประสิทธิภาพ
๑๗:๒๕ เมดีซ กรุ๊ป ร่วมสมทบทุนสนับสนุนมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ช่วยผู้ป่วยในชนบท ถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล
๑๖:๔๔ CNN จับตา นวัตกรรมล่าสุดจากนักวิจัยไทย พลิกโฉมการตรวจคัดกรองความเครียดด้วย เหงื่อ