"ปัจจัยเสี่ยงหลัก 3 ด้านที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่เราจะเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่ 1) ผลที่ตามมาจากการยุติการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2) ผลทั้งทางตรงและทางอ้อมอันเนื่องมาจากโอกาสเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และ 3) ความอ่อนไหวของเศรษฐกิจหลักของโลกที่มีต่อความผันผวนของราคาน้ำมัน" ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดระบุในบทวิเคราะห์เศรษฐกิจล่าสุด
ในส่วนของเศรษฐกิจประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ยังคงประมาณการการเติบโตในปี 2561 ไว้ที่ 4.3% และยังคงมุมมองดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าว
ประเทศไทยค่อนข้างปลอดภัยจากแรงปะทะทางการค้าโลกและการเมืองระหว่างประเทศ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่เข้มแข็ง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนโดยภาคบริการและการท่องเที่ยวเป็นหลัก มีแนวโน้มการฟื้นตัวในการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการเติบโตของประเทศคาดว่าจะเกิน 4% (ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการเติบโตตามศักยภาพของประเทศ) หลังจากที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศลดลงต่ำกว่า 1% จากเหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศช่วงปี 2558
"ปัจจัยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกจะส่งผลต่อทั่วโลกในระดับที่ต่างกัน สำหรับประเทศไทย ปัจจัยภายในประเทศขณะนี้มีน้ำหนักต่อการเติบโตของประเทศมากกว่า เรามีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นตัวกระตุ้นการเติบโตระยะยาว นอกจากนี้ ความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ทำให้เชื่อว่านักลงทุนมองตลาดไทยในเชิงบวก"
"อย่างไรก็ตาม ตลาดในปัจจุบันได้สะท้อนปัจจัยบวกส่วนใหญ่ไปแล้ว หากไม่มีปัจจัยกระตุ้นใหม่ เศรษฐกิจของไทยน่าจะเติบโตในระดับกลางๆ นี้" ทิมกล่าวเสริม
ดอกเบี้ยนโยบาย – แนวโน้มนโยบายการเงินปรับขึ้นสู่ภาวะปกติ
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคงประมาณการเดิมที่คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% ในเดือนกันยายน และอีก 0.25% ในไตรมาส 4 ของปี 2561 ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากตลาดที่มองว่าธปท. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ถึงสิ้นปี
"เรามองการปรับขึ้นดอกเบี้ยจากการเติบโตภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศอื่น (ทั้งในภูมิภาคเดียวกันและทั่วโลก) และสัญญาณจากธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อและข้อมูลเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่จะมีการเผยแพร่ก่อนการประชุมกนง. (19 กันยายน) จะเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจของกนง." ทิม กล่าว
"เรายังคงตั้งคำถามถึงประโยชน์ของการนำเงินเฟ้อทั่วไปมาเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินของธปท. และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ความสามารถของนโยบายการเงินในการดูแลเงินเฟ้อทั่วไปที่มีราคาสินค้าบริโภคยากต่อการควบคุมและราคาเชื้อเพลิงในสัดส่วนถึง 30% ของตะกร้าการคิดคำนวนเงินเฟ้อรวม เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะปรับเป้าหมายเงินเฟ้อในต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของตลาด"
การเมือง – เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง
การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นในต้นปีหน้า เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ เช่นกำหนดระยะเวลาและการบังคับใช้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
"จากที่เราได้พูดคุยกับนักลงทุน พวกเขาคาดว่านโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ จะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิดว่าจะมีปัจจัยกระตุ้นใหม่ใดที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะยาว" ทิมกล่าว
ภาพรวมอัตราแลกเปลี่ยน
"เราคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังคงแข็งแกร่งและธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น ด้วยเหตุนี้เราคาดว่าในระยะกลาง เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น" ทิมกล่าว
"โดยสรุป การฟื้นตัวแบบกระจายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมากำลังผนวกรวมเป็นแรงส่งที่ส่งผลดีต่อประเทศ มองไปข้างหน้า เรามีมุมมองเชิงบวกต่อศักยภาพในการเติบโตและพื้นฐานที่ยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทย ซึ่งพร้อมจะทะยานขึ้นหากมีปัจจัยเกื้อหนุนใหม่ๆ"
เกี่ยวกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
เราเป็นธนาคารสากลชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 150 ปีในประเทศที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการค้า การลงทุนและการสร้างความมั่งคั่ง หลักการที่สืบทอดมาและค่านิยมองค์กรของเราสะท้อนอยู่ในพันธกิจของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดที่ว่า Here for good
เราดำเนินธุรกิจในกว่า 60 ตลาด ด้วยจำนวนสาขากว่า 1,000 แห่งและตู้เอทีเอ็มประมาณ 3,000 เครื่องบริษัทสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดจำกัด มหาชน ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในลอนดอนและฮ่องกง นอกจากนี้ยังได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บอมเบย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งชาติในประเทศอินเดียอีกด้วย
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม หรือต้องการอ่านบทความจากทีมนักเศรษฐศาสตร์ โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.sc.com และติดตามสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้ทาง Twitter, LinkedIn และ Facebook