สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “57.88% ชี้พรรคการเมืองใหม่ๆ ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี”

จันทร์ ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๑๘ ๑๑:๐๖
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (วสท. หรือ STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆกับการเป็นทางเลือกให้ประชาชน" สำรวจระหว่างวันที่ 15 ถึง 20 กรกฎาคม พ.ศ.2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,187 คน

หลังจากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาประกาศว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นไปตามโรดแมพที่กำหนดไว้ บรรดานักการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ แม้จะยังไม่มีการอนุญาตให้เคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้เป็นปกติก็ตาม ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มบุคคลร่วมกันเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่จะถึงนี้ ซึ่งบางพรรคการเมืองได้มีกลุ่มการเมืองและอดีตนักการเมืองเข้าไปร่วมเปิดตัวและให้การสนับสนุนอย่างชัดเจนจนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมเป็นวงกว้าง

ทั้งนี้ ผู้คนในสังคมได้วิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ว่าถือเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน รวมถึงทำให้ประเทศมีโอกาสได้นักการเมืองใหม่ๆ เข้ามาทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้คนอีกส่วนหนึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการที่มีกลุ่มการเมืองหรืออดีตนักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ว่าอาจทำให้ประเทศกลับไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองได้อีกหลังการเลือกตั้ง จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ กับการเป็นทางเลือกให้ประชาชน

จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.29 ขณะที่ร้อยละ 49.71 เป็นเพศชาย สรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความสนใจติดตามข่าวการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 49.12 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวการประกาศเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ของกลุ่มนักวิชาการ/นักการเมือง/นักเคลื่อนไหว/อดีตข้าราชการเพื่อเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้เป็นบางพรรคการเมือง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างไม่ถึงหนึ่งในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 18.53 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวการเปิดตัวทุกพรรคการเมืองเลย โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 32.35 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้ให้ความสนใจติดตามข่าวการเปิดตัวพรรคการเมืองใดเลย

ในด้านความคิดเห็นต่อการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.45 เห็นด้วยกับการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนในการเลือกตั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 19.8 ไม่เห็นด้วย ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7.75 ไม่แน่ใจ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.88 มีความคิดเห็นว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เปิดตัวมาเพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ยังไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถเป็นทางเลือกให้กับประชาชนได้เลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 29.15 มีความคิดเห็นว่าสามารถเป็นทางเลือกได้บางพรรค โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 12.97 ระบุว่าสามารถเป็นทางเลือกได้ทุกพรรค

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเกือบสี่ในห้าหรือคิดเป็นร้อยละ 78.26 ไม่เชื่อว่าพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่เปิดตัวมาเพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้จะมีส่วนช่วยยกระดับภาพลักษณ์การเมืองไทยให้สูงขึ้นกว่าในอดีตได้จริง แต่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.91 มีความคิดเห็นว่าการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ จะมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสให้ประเทศไทยได้นักการเมืองรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้

ในด้านความคิดเห็นต่อนักการเมืองกับการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ นั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 70.68 มีความคิดเห็นว่าการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องมีนักการเมือง/อดีตนักการเมืองเข้าไปเป็นสมาชิกพรรค อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 76.58 ไม่รู้สึกแปลกใจที่มีอดีตนักการเมืองเข้าไปร่วมเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.23 ระบุว่าตนเองไม่รู้สึกแปลกใจที่อดีตนักการเมืองซึ่งเคยประกาศเลิกเล่นการเมืองไปแล้วหวนกลับมาร่วมเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อเตรียมลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ และกลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.9 กังวลว่าการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่มีกลุ่มการเมือง/นักการเมืองให้การสนับสนุนจะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศอีกครั้งหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งที่จะถึงนี้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.34 ระบุว่าไม่กังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 8.76 ไม่แน่ใจ (อ่านข่าวต่อ : https://bit.ly/2zWEyY9)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๑ ม.ค. รู้จักโรคอ้วนดีแล้ว.จริงหรือ?
๓๑ ม.ค. บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี ร่วมกับ MBK ส่งมอบปฏิทินในกิจกรรม ปฏิทินเก่ามีค่า เราขอ
๓๑ ม.ค. BSRC ออกหุ้นกู้รอบใหม่ 8,000 ล้านบาท ยอดจองเกินเป้า ตอกย้ำความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน
๓๑ ม.ค. คปภ. ร่วมสัมมนาประกันภัย ครั้งที่ 29 เตรียมรับมือความเสี่ยงอุบัติใหม่ พลิกโฉมธุรกิจประกันภัยสู่ความท้าทายในอนาคต
๓๑ ม.ค. มอบของขวัญให้กับครอบครัวของคุณช่วงวันหยุดพิเศษที่ สเตย์บริดจ์ สวีท แบงค็อก สุขุมวิท
๓๑ ม.ค. OR เปิดตัว CEO คนใหม่ หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ มุ่งผลักดันไทยสู่ Oil Hub แห่งภูมิภาค พร้อมขับเคลื่อนองค์กรด้วยดิจิทัล-นวัตกรรม
๓๑ ม.ค. เดลต้า ประเทศไทย คว้ารางวัล ASEAN's Top Corporate Brand ประจำปี 2567
๓๑ ม.ค. โรงแรมอลอฟท์ กรุงเทพ สุขุมวิท 11 พลิกโฉมใหม่ สุดโมเดิร์น! พร้อมเปิดตัว w xyz bar ตอกย้ำความสนุกในแบบฉบับ
๓๑ ม.ค. PAUL JOE เปิดตัว GLOSSY ROUGE ต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ 2025
๓๑ ม.ค. บริษัท โกซอฟท์ (ประเทศไทย) ได้รับเกียรติบัตรศูนย์ รับเรื่องและแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคระดับดีเด่น จาก สคบ. และการรับรองมาตรฐาน ISO